บ.ซัยโจฯ เผยเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศกรมสรรพากรเป็นงานยาก พร้อมแจงรายละเอียดติดตั้ง ส่วนสาเหตุเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง เพราะคิดเทคโนโลยีใหม่เอง ไม่ต้องซื้อจากที่อื่น ย้ำทำหนังสือแจ้งการบำรุงรักษาที่ผิดปกติให้สรรพากรหลายครั้ง และร้องให้แก้ไขงวิธีการบำรุงรักษาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี การปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศทั้งอาคารกรมสรรพากร วงเงินเกือบ 200 ล้านบาท แต่ระบบความเย็นขัดข้อง จนเจ้าหน้าที่กรมฯ กว่าร้อยละ 80 ต้องทำงานในสภาพอากาศร้อน บางส่วนจึงต้องนำพัดลมมาใช้เอง โดยที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายงานพิเศษขมวดปมข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหลายประเด็น อาทิ ทำไมบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คู่สัญญารับจ้างงานถึงเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่างานยาก , ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสียหลายครั้งแล้ว น่าจะพบสาเหตุของปัญหาตั้งแต่ซ่อมครั้งแรก ๆ ทำไมถึงไม่แจ้งสรรพากร หรือ บริษัทที่รับจ้างบริหารอาคารสรรพากร , ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสียเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่กลุ่มงานที่ดูแลบริหารอาคารดังกล่าว ไม่เคยตรวจสอบ หรือแจ้งผลเลยหรือ เป็นต้น
ล่าสุด บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ชี้แจงเพิ่มเติมกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในกรณีดังกล่าว ว่า สภาพของอาคารกรมสรรพากร นับว่าเป็นงานที่มีความท้าทายสูงและยากสำหรับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ สาเหตุมาจากการกำหนดพื้นที่วางเครื่องระบายความร้อน (Outdoor Unit) หรือที่แอร์บ้านทั่วไปมักจะรู้จักในคำว่า 'แอร์ตัวร้อน' ซึ่งปกติแล้วจะต้องวางอยู่ริมระเบียงบ้านหรือที่ใดก็ตามภายนอกบ้าน เพื่อที่สามารถระบายความร้อนจากในห้องแอร์ไปสู่ภายนอกบ้านได้
แต่ในอาคารกรมสรรพากร มีความจำเป็นต้องวางเครื่องระบายความร้อนดังกล่าวไว้ในอาคาร หากดูตามแผนผัง จะพบว่า พื้นที่วางเครื่องระบายความร้อนเป็นเหมือนกับห้องทำงานอีกห้องหนึ่ง ซึ่งกั้นไว้สำหรับวางเครื่องดังกล่าว โดยจะพบว่าห้องที่วางเครื่องระบายความร้อนนี้ อยู่ติดกับห้องประชุม ห้องทำงานเจ้าหน้าที่บางส่วน รวมถึงห้องน้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ในอาคารจะรู้สึกตลอดว่า ห้องน้ำที่อาคารนี้มีความร้อนที่สูงผิดปกติจากห้องน้ำอาคารทั่วไป
บริษัท ซัยโจฯ ระบุอีกว่า เนื่องจากอาคารกรมสรรพากรเป็นอาคารใหญ่ ใช้ความเย็นมาก เครื่องระบายความร้อนในแต่ละชั้นจึงมีขนาดถึงเกือบ 1 ล้านบีทียู หรือคิดเป็น 80 เท่า ของห้องในบ้านธรรมดาทั่วไปที่มีขนาดเพียง 12,000 บีทียู ในห้องเครื่องระบายความร้อนดังกล่าวจึงกลายเป็นห้องที่ร้อนมาก และห้องเครื่องระบายความร้อนนี้ยังมีช่องตะแกรงให้ลมเข้าออกเพียงจุดเดียว และอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะมีลมธรรมชาติพัดสวนทางเข้ามาในอาคาร ดังนั้นแอร์ตัวร้อนในอาคารนี้ จึงเรียงกันอย่างแออัดอยู่ในห้องเดียวในอาคารและห้องนั้นสามารถระบายความร้อนออกได้ยาก ทั้งจากทิศที่ตั้งและช่องลมที่เล็ก
ดังนั้น ทาง บริษัท ซัยโจฯ เลือกที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยเทคนิควิศวกรรมขั้นสูง พร้อมกับการแนะนำอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยใช้เทคนิคพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (Computational Fluid Dynamics, CFD) ซึ่งใช้จำลองการแปรปรวนของอากาศรอบเครื่องบิน สร้างแบบจำลองพฤติกรรมการไหลของอากาศทั้งหมดในอาคารกรมสรรพากร เพื่อให้มั่นใจว่าลมร้อนภายในห้องระบายความร้อนที่อยู่ในสภาพร้อนจัด แออัด และระบายความร้อนออกได้ยากมากดังกล่าว สามารถเอาชนะลมธรรมชาติที่ตีสวนกลับมาและระบายสู่ภายนอกอาคารได้ จึงเป็นระบบที่ใช้เทคนิควิศวกรรมขั้นสูงเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของสภาพอาคารได้สำเร็จ
ตัวอย่างภาพแบบจำลองพฤติกรรมของอากาศภายในกรมสรรพากร
นอกจากนี้ ยังได้นำใช้ระบบ Internet of Things (IoT) มาใช้ในอาคารนี้ โดยร่วมมือกับ Dell Technologies บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาความร้อนในอาคารนี้ได้สำเร็จ และสามารถดูค่าฝุ่น PM2.5 ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และความชื้นสัมพัทธ์ภายในอาคาร ผ่านระบบ IoT นี้
บริษัท ซัยโจ ย้ำว่า ด้วยระบบปรับอากาศของอาคารกรมสรรพากรดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้วิศวกรที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบดังกล่าวเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษา และไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงอุปกรณ์ที่ประกอบอยู่ในระบบได้ ดังที่มีออกข่าวไปเบื้องต้นแล้ว เนื่องจากระบบนี้ใช้เทคนิควิศวกรรมขั้นสูงในการออกแบบและทดสอบ กรมสรรพากรจึงควรใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมาช่วยดูแลงานบำรุงรักษาระบบดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสำเร็จได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม บริษัทซัยโจฯ ถึงเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเป็นงานยากนั้น บริษัท ชัยโจฯ ชี้แจงว่าบริษัทซัยโจฯ มีแผนกวิจัยและพัฒนา หรือ R&D เป็นของตนเอง (in-house R&D) และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี จึงสามารถคิดและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใหม่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้อื่น หรือจ่ายค่าเทคโนโลยีให้แก่ใคร เช่น ระบบ IoT หรือระบบคอนโทรลต่างๆที่ต้องใช้เป็นพิเศษในตึกนี้ จึงเป็นตัวอย่างของบริษัทวิศวกรคนไทยที่หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเองจะประหยัดเงิน ประหยัดงบประมาณให้ประเทศชาติได้มากกว่าการไปพึ่งพาหรือต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ
นอกจากนี้ สำหรับโครงการอาคารกรมสรรพากร ตอนเปิดประมูลก็มีบริษัทซื้อซองไปมากกว่า 20 บริษัท แม้ว่าสุดท้ายจะมีผู้ประมูลจริงๆแค่ 2 ราย ซัยโจ เด็นกิ จึงคิดว่าโครงการนี้มีการแข่งขันสูง และบริษัทต้องการให้เป็นโชว์เคสต่อไป
ส่วน ข้อสงสัยที่ว่า ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสียหลายครั้ง น่าจะพบสาเหตุของปัญหาตั้งแต่ซ่อมครั้งแรกๆ ทำไมถึงไม่แจ้งกรมสรรพากร หรือบริษัทที่รับจ้างบริหารอาคารกรมสรรพากรนั้น บริษัท ซัยโจฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำหนังสือแจ้งเรื่องการบำรุงรักษาที่ผิดปกติไปให้กรมสรรพากรหลายครั้ง และร้องขอให้กรมสรรพากรแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการบำรุงรักษาแล้ว แต่เรื่องการบริหารอาคารภายในกรมฯ บริษัทฯ ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ใช่คู่สัญญาโดยตรงในส่วนดังกล่าว
สำหรับ บริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ที่เป็นคู่สัญญาดูแลระบบอาคารกรมสรรพากร ทั้งหมด ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง กำจัดน้ำเสีย ระบบบันไดเลื่อน ระบบระบายอากาศ ระบบทำความสะอาด และระบบปรับอากาศ ฯลฯ โดยค่าจ้างแต่ละปีวงเงินเกือบละ 44-49 ล้านบาท นั้น
ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อสอบถามรายละเอียดดังกล่าวกับ บริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด แล้วแต่ทางบริษัทฯ แจ้งว่า จะติดต่อกลับในภายหลัง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้มีการติดต่อกลับมาชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม
- อยู่ในสัญญาประกัน! สรรพากรแจงเปลี่ยนแอร์ 200 ล.สุดท้ายเปิดพัดลมทั้งสนง.-เร่งซ่อม เม.ย.นี
- ไส้ในสรรพากรเปลี่ยนแอร์ 191 ล้าน บ.ซัยโจเด็นกิ เสนอราคาต่ำกว่าคู่เทียบ 47 ล
- เจาะลึกคำชี้แจง ‘ชัยโจ เด็นกิ’ แอร์สรรพากรไม่เย็น เหตุดัดแปลงอุปกรณ์-บำรุงรักษาผิดวิธี
- ซัยโจฯ ชี้ปัญหา 'แอร์ไม่เย็น' สรรพากร เกิดจากดัดแปลงอุปกรณ์-บำรุงรักษาผิดวิธี
- ต้องมีผู้รับผิดชอบ! สรรพากร เรียก บ.ไมซ์ฯ พิสูจน์ข้อเท็จจริง ปมซัยโจฯ แจงเหตุแอร์ไม่เย็น