ทางด่วนภูเก็ต ช่วงกะทู้ - ป่าตอง หมื่นล้านบ. ไร้เงาเอกชนยื่นซอง หลังมี 13 บริษัทไทย-เทศซื้อซองเมื่อ 25 ม.ค. 66 จ่อทบทวนโครงการใหม่ ยังไม่ฟันธงผนวกเอาช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้วรวมหรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 7 เมษายน 2566 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ออกประกาศเชิญชวน (TOR) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กม. วงเงิน 17,811 ล้านบาท จนได้เอกชนจำนวน 13 รายเข้ามาซื้อซองประมูล โดยวันสุดท้ายขอิงการซื้อซองกำหนดไว้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 โดยเอกชนที่ซื้อซองประกอบด้วย
1. บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC)
2. บจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง
3. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)
4. บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)
5. บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
6. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
7. บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ
8. บมจ. ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง (RTCO)
9. บมจ. ช การช่าง
10. บมจ ทางยกระดับดอนเมือง (ดอนเมืองโทลล์เวย์)
11. Egis Group (ฝรั่งเศส)
12. SRBG Bridge Engineering (จีน)
13. บจ. ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น (ประเทศไทย)
โดยกำหนดวันยื่นซองประมูลในวันที่ 7 เม.ย. 2566 นี้ เวลา 09.00 - 15.00 น. นี้นั้น
- 13 เอกชน ซื้อซอง ‘ด่วนกะทู้ - ป่าตอง จ.ภูเก็ต’ หมื่นล้าน ขีดเส้นยื่นซองประมูล 7 เม.ย. 66 นี้
- ‘กทพ.’ ขายซองประมูลทางด่วน ‘กะทู้ - ป่าตอง’ 1.7 หมื่นล. ยื่นแข่งขัน 7 เม.ย. 66
ล่าสุด แหล่งข่าวระบุว่า ในวันนี้ (7 เม.ย. 66) ไม่มีเอกชนรายใดมายื่นซองประมูลแม้แต่รายเดียว หลังจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 จะนำหลักเกณฑ์การประมูลต่างๆมาพิจารณาอีกครั้งว่าควรปรับจุดไหน หรือแก้ไขตรงไหนใหม่หรือไม่
ส่วนจะทบทวนโครงการโดยรวมเอาทางพิเศษช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้รวมไว้ด้วยหรือไม่นั้น เบื้องต้น ยังไม่พิจารณาไปถึงจุดนั้น ต้องให้คณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 หารือกันก่อนว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่ง ณ ตอนนี้ คณะกรรมการฯ ยังไม่ได้นัดหมายอะไรกัน