เผยมติ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด 'สมพงษ์ ปรีเปรม' อดีตผู้ว่าฯ กฟภ.-พวก 1 ราย กรณียกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 1,766.73 ล้าน หลังศาลปค.กลาง พิพากษาให้เอกชนชนะคดีใช้ดุลพินิจยกเลิกประกวดราคาไม่ชอบด้วยกม. - ล่าสุดปี 66 องค์กรเพิ่งได้รางวัลโปร่งใส
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายสมพงษ์ ปรีเปรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กับพวก 1 ราย เกี่ยวกับคดียกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรส่งรายงานสำนวนไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
สำหรับกรณีการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท นั้น ก่อนหน้านี้เคยปรากฏเป็นข่าวในช่วงเดือนกันยายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1910/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2564 ลงวันที่ 14 ก.ย.2564 ซึ่งเป็นคดีที่ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้ว่าฯกฟภ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณียกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท
โดย ศาลฯพิพากษาให้เพิกถอนประกาศ กฟภ. กรุงเทพฯ เรื่อง ยกเลิกประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV ตามโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 30 เม.ย.2563 โดยให้มีผลนับแต่วันที่มีประกาศดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและทำให้การยกเลิกการประกวดราคาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตร 67 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และข้อ 53 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ศาลฯให้เหตุผลในการวินิจฉัยสรุปได้ว่า กฟภ.ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV ตามโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 18 ก.ค.2562 ซึ่งในขั้นตอนการจัดทำ TOR นั้น ไม่ปรากฏว่า มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ดังนั้น การจัดทำ TOR โครงการนี้ จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ขณะที่การใช้ดุลพินิจในการยกเลิกการประกวดราคานั้น ไม่ได้หมายความว่า กฟภ.และผู้ว่าฯ กฟภ. จะกระทำด้วยเหตุใดๆก็ได้ โดยต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า การประกวดราคาครั้งนี้ ไม่ได้ปิดกั้นมิให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดยื่นเสนอราคา หรือว่าเป็นการไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างใด รวมทั้งขั้นตอนจัดทำ TOR ไม่มีการโต้แย้งหรือร้องเรียนว่า กำหนดเงื่อนไขไม่โปร่งใส เข้าข่ายเป็นการกีดกันราคา
นอกจากนี้ ข้อเสนอราคาของผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ 2 ราย คือ Gunkul Consortium ที่เสนอราคา 1,668.28 ล้านบาท กับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ที่เสนอราคา 1,677.76 ล้านบาท ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และราคาที่ผู้ชนะประมูล คือ Gunkul Consortium เสนอ นั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 1,766.73 ล้านบาท
ดังนั้น การที่ กฟภ. และผู้ว่า กฟภ. อ้างว่า การกำหนดเงื่อนไข TOR ที่เป็นเหตุให้ผู้ยื่นข้อเสนอบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เสนอราคาสูงกว่าในลำดับถัดไป พบว่าราคาแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หากทำการจัดซื้อตามเอกสารประกวดราคาซึ่งมีเงื่อนไขที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม หรือการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน อาจทำให้ กฟภ.เสียหายหรือกระทบประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจรับฟังได้
@ สมพงษ์ ปรีเปรม
ขณะที่ก่อนหน้านั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยการสั่งยกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาหลายครั้ง จนทำให้การประกวดราคาโครงการเกิดความล่าช้า ทั้งที่ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งเรื่องคุณสมบัติและราคางานไปแล้วด้วย
สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เคยปรากฏชื่อได้รับรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 (NACC Integrity Awards) ของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีการประกาศผลเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นสิ้นสุด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาด ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
- ล้วงเหตุผลผู้ว่า กฟภ.ไฉนยกเลิกประกวดราคาสร้างเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.หลายครั้ง?
- ยกเลิกแล้วเพิกถอน!โชว์หนังสือ กฟภ. 4 ฉบับ ประมูลเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.
- ใครเป็นใคร? เปิดตัว 4 บ. ชิงดำเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.-ก่อน‘บิ๊ก กฟภ.’ สั่งยกเลิก
- พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส
- ใช้ดุลพินิจมิชอบ! ศาลปค.สั่งเพิกถอนประกาศ‘กฟภ.’ล้มประมูลเคเบิลใต้น้ำ 1.7 พันล.ขัดกม.