“...ผลจากการกำหนดเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ยื่นข้อเสนอบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ยื่นข้อเสนอราคารายอื่นที่เสนอราคาสูงกว่าในลำดับถัดไป พบว่า มีราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ หากทำการจัดจ้างตามเอกสารประกวดราคาซึ่งมีเงื่อนไขไม่เปิดโอกาสแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือมีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กฟภ. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ยังคงติดตามเงื่อนปมปัญหาประกวดราคาโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี (วงจรที่ 4) เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงิน 2,133,055,700 บาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากโครงการนี้ ถูกผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยสั่งยกเลิกการประกวดราคาหลายครั้ง จนทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งที่ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการประกวดราคาแล้ว
ขณะที่ นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การประกวดราคาโครงการดังกล่าวโปร่งใส ส่วนการสั่งยกเลิกประกวดราคา เป็นเพราะที่ผ่านมากรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้มีความพยายามที่จะจ้างเอกชนที่เสนอราคามาในลำดับที่ 3 แต่ส่วนตัวแล้วเมื่อได้ดูในรายละเอียดก็พบว่าเอกชนลำดับที่ 3 นั้น มีการเสนอราคาแพงกว่าเจ้าที่ 2 ถึงกว่า 400 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้ว่าฯ กฟภ. เราก็ได้เรียกร้องให้เขาชี้แจงในหลายมิติ แต่ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงกลับมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับองค์กรจึงได้มีการหารือกับทางด้านคณะกรรมการ กฟภ. และยกเลิกการประกวดราคาไป (อ่านประกอบ : ชัดๆ 'ข้อสังเกต ACT-คำชี้แจงกฟภ.' ทำไมต้องสั่งยกเลิกประมูลเคเบิลใต้น้ำ 2 พันล.?)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า มีเอกชน 4 แห่ง ที่เข้าร่วมประกวดราคาโครงการดังกล่าว ได้แก่
เอกชนรายที่ 1 : บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,229,971,077 บาท
เอกชนรายที่ 2 : Consortium ZTT (ประกอบด้วย บริษัท เจียงซู จงเทียน เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท อาร์ เอส เอส ๒๐๑๖ จำกัด) เสนอราคา 1,234,947,600 บาท
เอกชนรายที่ 3 : Gunkul Consortium (ประกอบด้วย บริษัท พริสเมียน เพาเวอร์ลิ้งก์ จำกัด และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)) เสนอราคา 1,668,282,582 บาท
เอกชนรายที่ 4 : บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 1,677,760,000 บาท (อ่านประกอบ : ใครเป็นใคร? เปิดตัว 4 บ. ชิงดำเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.-ก่อน‘บิ๊ก กฟภ.’ สั่งยกเลิก)
คราวนี้ มาเจาะลึกข้อมูลคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาโครงการฯ ของ กฟภ. แบบชัดๆ กันบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า การยกเลิกประกวดราคาของ กฟภ. ในโครงการฯ นี้ มีการเผยแพร่ประกาศเพื่อชี้แจงเหตุผลอย่างน้อย 4 ฉบับ (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่
ฉบับที่หนึ่ง ลงวันที่ 26 ก.พ. 2563 ลงนามโดยนายจักรวาล ณุวงศ์ศรี ผอ.กองจัดการงานระบบไฟฟ้า กฟภ.
ระบุสาระสำคัญว่า ตามประกาศ กฟภ. เรื่อง ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีประกวดราคา (e-Bidding) ลงวันที่ 18 ก.ค. 2562
เนื่องจากยกเลิกประกวดราคาตามความเห็นชอบของผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงวันที่ 19 ก.พ. 2563 กฟภ.กรุงเทพฯ จึงขอยกเลิกประกาศดังกล่าว
ฉบับที่สอง ลงวันที่ 13 มี.ค. 2563 ลงนามโดยนายจักรวาล ณุวงศ์ศรี ผอ.กองจัดการงานระบบไฟฟ้า กฟภ.
ระบุสาระสำคัญว่า กฟภ. ขอแจ้งเหตุยกเลิกประกาศประกวดราคาดังกล่าวข้างต้น โดย กฟภ. ยกเลิกประกวดราคางานดังกล่าวข้างต้นตามมาตรา 67 (3) ของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่หน่วยงานของรัฐ และการยกเลิกประกวดราคาดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 ที่กำหนดว่า หากการกำหนดขอบเขตงานไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน ให้หน่วยงานของรัฐยกเลิกการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้นแล้วดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง
ทั้งนี้หากท่านประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งยกเลิกการประกวดราคา ให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อผู้ว่า กฟภ. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง
ฉบับที่สาม ลงวันที่ 29 เม.ย. 2563 ลงนามโดยนายจักรวาล ณุวงศ์ศรี ผอ.กองจัดการงานระบบไฟฟ้า กฟภ.
ระบุสาระสำคัญว่า เนื่องจากประกาศยกเลิกประกวดราคาดังกล่าว มีผลเป็นการออกคำสั่งทางปกครอง แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งหรือเอกสารแนบท้ายคำสั่ง จึงเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคสอง ที่ระบุว่า “นายกรัฐมนตรี หรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้คำสั่งทางปกครองกรณีหนึ่งกรณีใดต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้นเอง หรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งนั้นก็ได้”
ประกอบกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งทางปกครองที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งหรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งที่ระบุว่า “ให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งหรือเอกสารแนบท้ายคำสั่งตามมาตรา 37 วรรคสอง … (5) คำสั่งยกเลิกการสอบราคา การประกวดราคา หรือการประมูลราคา ที่มีผู้ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการดำเนินการดังกล่าวแล้ว…” ด้วยเหตุนี้ประกาศยกเลิกประกวดราคาฉบับดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กฟภ. จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 49 ประกอบมาตรา 50 ให้เพิกถอนคำสั่งยกเลิกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี ตามโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ประกาศ ณ วันที่ 26 ก.พ. 2563 ให้มีผลในวันที่ออกประกาศ
ทั้งนี้หากมีผู้ประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งประกาศฉบับนี้ ให้ยื่นอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อผู้ว่า กฟภ. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก กฟภ.
ฉบับที่สี่ ลงวันที่ 30 เม.ย. 2563 ลงนามโดยนายจักรวาล ณุวงศ์ศรี ผอ.กองจัดการงานระบบไฟฟ้า กฟภ.
ระบุสาระสำคัญว่า เนื่องจากเอกสารประกวดราคา (TOR) มีการระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องการเป็นตัวแทนจำหน่าย หนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 ข้อย่อย โดยมีสาระสำคัญคือ อุปกรณ์ทุ่นเครื่องหมายทางเรือ พร้อมอุปกรณ์ประกอบ ยื่นข้อเสนอต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายโดตรง หรือเป็นผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากตัวแทนจำหน่าย โดยแนบหนังสือแต่งตั้งมาพร้อมกับการยื่นข้อเสนอ
ทั้งนี้การระบุเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาข้างต้น ไม่เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือเมื่อ 30 ต.ค. 2562 แจ้งแนวทางการปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและการกำหนดผลงาน ที่ระบุว่า ในงานจ้างก่อสร้าง ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐกำหนเงื่อนไขของผู้ยื่นข้อเสนอในเรื่อง ต้องเป็นตัวแทนจำหน่าย และจะต้องมีหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในครุภัณฑ์นั้นประกอบ ไม่ว่าจะกำหนดไว้ในแบบรูปและรายการ รายละเอียด หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในขณะเสนอราคา และการระบุเงื่อนไขดังกล่าวไม่สอดคล้องตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2)
ผลจากการกำหนดเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคาดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ยื่นข้อเสนอบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ยื่นข้อเสนอราคารายอื่นที่เสนอราคาสูงกว่าในลำดับถัดไป พบว่า มีราคาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ หากทำการจัดจ้างตามเอกสารประกวดราคาซึ่งมีเงื่อนไขไม่เปิดโอกาสแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือมีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ กฟภ. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการจ้างเหมาดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและกว้างขวาง จึงอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 53 และ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 67 (3) ให้ยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าว
อนึ่ง การยกเลิกการประกวดราคาจ้างครั้งนี้ ผู้มีสิทธิอุทธรณ์จะยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 115 ทั้งนี้ หากผู้มีสิทธิอุทธรณ์ประสงค์จะโต้แย้ง สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก กฟภ.
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหาร กฟภ. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาการประกวดราคางานโครงการฯ นี้ ไปแล้ว
แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมติที่ประชุมเป็นทางการต่อสาธารณะ
อ่านประกอบ :
ใครเป็นใคร? เปิดตัว 4 บ. ชิงดำเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.-ก่อน‘บิ๊ก กฟภ.’ สั่งยกเลิก
ชัดๆ 'ข้อสังเกต ACT-คำชี้แจงกฟภ.' ทำไมต้องสั่งยกเลิกประมูลเคเบิลใต้น้ำ 2 พันล.?
พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/