‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งเพิกถอนประกาศ ‘กฟภ.’ ยกเลิกประมูล ‘เคเบิลใต้น้ำ’ เชื่อมเกาะสมุย 1.7 พันล้าน ระบุการยกเลิกการประมูลเป็นการใช้ ‘ดุลพินิจมิชอบ’ ขัด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ
..............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1910/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2564 ลงวันที่ 14 ก.ย.2564 ซึ่งเป็นคดีที่ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ยื่นฟ้องการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้ว่าฯกฟภ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณียกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท
ทั้งนี้ ศาลฯพิพากษาให้เพิกถอนประกาศ กฟภ. กรุงเทพฯ เรื่อง ยกเลิกประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV ตามโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 30 เม.ย.2563 โดยให้มีผลนับแต่วันที่มีประกาศดังกล่าว เนื่องจากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
และทำให้การยกเลิกการประกวดราคาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตร 67 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และข้อ 53 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
ศาลฯให้เหตุผลในการวินิจฉัยสรุปได้ว่า กฟภ.ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV ตามโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 18 ก.ค.2562 ซึ่งในขั้นตอนการจัดทำ TOR นั้น ไม่ปรากฏว่า มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ดังนั้น การจัดทำ TOR โครงการนี้ จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าต่อมาจะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้อกำหนดในการประกวดราคาจะมีการระบุเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องการเป็นตัวแทนจำหน่าย หนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย หรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องบางข้อ ไม่เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค (กวจ) 0405.2/ว521 ลงวันที่ 30 ต.ค.2562 แจ้งแนวปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและการกำหนดผลงานก็ตาม
แต่เมื่อหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังกล่าว ออกมาภายหลังจากที่ กฟภ. ได้ดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไปจนถึงขั้นตอนที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาและขอความเห็นชอบต่อผู้ว่าฯ กฟภ.แล้ว อีกทั้งหนังสือดังกล่าว ไม่ได้กำหนดชัดแจ้งว่า แนวทางปฏิบัติในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอและการกำหนดผลงานนั้น มีผลบังคับใช้เมื่อใด จึงย่อมไม่อาจนำมาใช้บังคับให้มีผลย้อนหลังให้เป็นโทษกับบุคคลใดได้
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ มีความเห็นเพิ่มเติม ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/23862 ลงวันที่ 29 พ.ค.2563 ว่า หาก กฟภ. เห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอไม่เป็นไปตามแนวทางของหนังสือแจ้งเวียนส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ย่อมเป็นดุลพินิจของ กฟภ. ในการดำเนินการประกวดราคาต่อไปหรือสามารถยกเลิกการประกวดราคาก็ได้ นั้น
ศาลฯเห็นว่า การใช้ดุลพินิจในการยกเลิกการประกวดราคานั้น ไม่ได้หมายความว่า กฟภ.และผู้ว่าฯ กฟภ. จะกระทำด้วยเหตุใดๆก็ได้ โดยต้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า การประกวดราคาครั้งนี้ ไม่ได้ปิดกั้นมิให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดยื่นเสนอราคา หรือว่าเป็นการไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างใด รวมทั้งขั้นตอนจัดทำ TOR ไม่มีการโต้แย้งหรือร้องเรียนว่า กำหนดเงื่อนไขไม่โปร่งใส เข้าข่ายเป็นการกีดกันราคา
นอกจากนี้ ข้อเสนอราคาของผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ 2 ราย คือ Gunkul Consortium ที่เสนอราคา 1,668.28 ล้านบาท กับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ที่เสนอราคา 1,677.76 ล้านบาท ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และราคาที่ผู้ชนะประมูล คือ Gunkul Consortium เสนอ นั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 1,766.73 ล้านบาท
ดังนั้น การที่ กฟภ. และผู้ว่า กฟภ. อ้างว่า การกำหนดเงื่อนไข TOR ที่เป็นเหตุให้ผู้ยื่นข้อเสนอบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นที่เสนอราคาสูงกว่าในลำดับถัดไป พบว่าราคาแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ หากทำการจัดซื้อตามเอกสารประกวดราคาซึ่งมีเงื่อนไขที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม หรือการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน อาจทำให้ กฟภ.เสียหายหรือกระทบประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจรับฟังได้
“เมื่อการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างครั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องตามที่ผู้ถูกฟ้องทั้งสอง (กฟภ.และผู้ว่าฯ กฟภ.) กล่าวอ้างมาเป็นเหตุในการยกเลิกการประกวดราคาตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และข้อ 53 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บัญญัติกำหนดไว้แต่อย่างใด
อีกทั้งไม่ปรากฏมีเหตุในกรณีอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ที่จะให้ผู้มีอำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กฟภ.) ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วได้โดยชอบ ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้ว่าฯกฟภ.) ได้ออกประกาศยกเลิกประกวดราคา ฉบับลงวันที่ 30 เม.ย.2563 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
และทำให้การยกเลิกให้การยกเลิกการประกวดราคาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตร 67 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และข้อ 53 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560” คำพิพากษาศาลปกครองกลางในในคดีหมายเลขดำที่ 1910/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1289/2564 ลงวันที่ 14 ก.ย.2564 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการเปิดประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV ตามโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ราคากลาง 1,766.73 ล้านบาท ของ กฟภ. ดังกล่าว มีผู้ยื่นเสนอราคา 4 ราย ได้แก่
1.บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เสนอราคา 1,229.97 ล้านบาท 2.กลุ่ม Consortium ZTT เสนอราคา 1,234.94 ล้านบาท 3.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) เสนอราคา 1,677.76 ล้านบาท และ4.กลุ่ม Gunkul Consortium เสนอ นั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ 1,668.28 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และกลุ่ม Consortium ZTT ไม่ผ่านคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดใน TOR ทำให้ กลุ่ม Gunkul Consortium ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่า บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) เป็นเงิน 9.48 ล้านบาท เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ กฟภ.ได้ประกาศยกเลิกการประมูลเป็นครั้งที่ 3
ก่อนหน้านี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ผิดปกติของผู้มีอำนาจใน กฟภ. ที่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกขั้นตอนการประกวดราคา โดยการสั่งยกเลิกการประมูลก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 KV เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มาหลายครั้ง จนทำให้การประกวดราคาโครงการเกิดความล่าช้า ทั้งที่ได้ตัวเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งเรื่องคุณสมบัติและราคางานไปแล้ว
อ่านประกอบ :
ยกเลิกแล้วเพิกถอน!โชว์หนังสือ กฟภ. 4 ฉบับ ประมูลเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.
ใครเป็นใคร? เปิดตัว 4 บ. ชิงดำเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย 2 พันล.-ก่อน‘บิ๊ก กฟภ.’ สั่งยกเลิก
พฤติการณ์ผิดปกติ-ยกเลิกประมูล3ครั้ง! ACT ท้วงเคเบิลใต้น้ำเกาะสมุย2พันล.-กฟภ.ยันโปร่งใส
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/