ครม.อนุมัติจัดสรรงบกลางฯ 231 ล้าน ให้ ‘สำนักงานอัยการสูงสุด’ เป็น ‘ค่าเข้าเวร-ค่าเดินทาง' พนักงานฝ่ายอัยการ ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ’ พร้อมซื้อ ครุภัณฑ์’ ในศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 231.06 ล้านบาท ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565
สำหรับการจัดสรรงบดังกล่าว ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 219.96 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าตอบแทนกรณีอยู่เวรป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จำนวน 216.32 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการฝ่ายอัยการ 3.64 ล้านบาท และ 2.ค่าครุภัณฑ์สำหรับศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุดด จำนวน 11.10 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ชี้แจงเหตุผลของการขอรับจัดสรรงบฯดังกล่าว ว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 22 วรรคสอง มาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 31 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการป้องกันการการกระทำให้บุคคลสูญหาย
สำนักงานอัยการสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องออกระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานของศูนย์ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พัก พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566
จากระเบียบและแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ส่งผลให้สำนักงานอัยการสูงสุด จำเป็นต้องแก้ไขระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ.2554 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2566 และออกระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยค่าตอบแทน ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
โดยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2566และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยค่าตอบแทน ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2566 คณะกรรมการอัยการได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2566 ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 เป็นต้นไป โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวได้กำหนดให้มาตรา 22 ,23 ,24 และ 25 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป
แต่อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตราอื่น ยังคงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2566 เป็นต้นไป โดยมาตรา 26 ได้กำหนดให้พนักงานอัยการและผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำเช่นนั้นทันที ในกรณีเมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือถูกกระทำให้สูญหาย
มาตรา 29 กำหนดให้ ผู้พบเห็นหรือทราบการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้แจ้งหนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ หนักงานสอบสวน คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ชักช้า และมาตรา 31 กำหนดให้พนักงานอัยการเป็นพนักงานสอบสวน หรือเข้าตรวจสอบหรือกำกับการสอบของหน่วยงานอื่นโดยทันที
ประกอบกับข้อ 11 ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคล สำนักงานอัยการสูงสุดจึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในกรุงเทพมหานครที่สำนักงานการสอบสวน และในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่ง
ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดต้องมีคำสั่งให้ข้าราชการฝ่ายอัยการอยู่เวร ประจำศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อปฏิบัติงานตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเงินงบประมาณที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินจัดสรรหรือปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาดำเนินการได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์ และเพื่อให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีเงินงบประมาณรองรับต่อการดำเนินงานตามอำนาจและหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรงบกลางฯดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 231.06 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
เลื่อนใช้ มาตรา 22-25 พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมานฯ ตร. 'ไม่พร้อม' หรือ 'กลัวถูกจับผิด'
ครม.ไฟเขียวงบ 445 ล. ซื้อกล้องบันทึกภาพ-เสียงติดตช. ตามพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ
'อัยการสูงสุด'พร้อม! บังคับใช้กฎหมายป้องกัน'ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย' คุ้มครองสิทธิประชาชน
ครม.อนุมัติ พ.ร.ก.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ยืดเวลาบังคับใช้ไป 1 ต.ค. 66