"…การเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 - 25 ออกไปมันมีผลทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนชะลอออกไป รวมทั้งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต ก็ต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกัน…"
หลังจากผ่านการต่อสู้ในที่ประชุมสภามานาน ในที่สุดวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ ต่อมาราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลบังคับเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ระบุให้เลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22-25 ของ พ.ร.บ.ข้างต้น เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566
ทั้งนี้มาตรา 22-25 ของ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัว มีรายละเอียดแต่ละมาตรา ดังนี้
- มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
- มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
ส่วนสาเหตุที่ชะลอเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมว่ามีปัญหาขัดข้องในการเตรียมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. และได้ระบุอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว
เหตุผลที่หนึ่ง คือ งบประมาณ ทาง ผบ.ตร.อ้างในหนังสือว่า แม้ที่ผ่านมาตำรวจได้จัดซื้อกล้องบันทึกความเคลื่อนไหวให้กำลังพลในภารกิจอื่น แต่การรองรับการปฏิบัติงาน (Body Camera) ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่าปริมาณยังไม่เพียงพอ โดยจะต้องจัดซื้ออีก 171,808 ตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 3,473 ล้านบาท
เหตุผลที่สอง คือ บุคลากรเจ้าหน้าที่ตำรวจขาดความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี และมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และแนวปฏิบัติ
นอกจากนี้ภาคประชาสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภาได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรมและนายกรัฐมนตรี คัดค้านการชะลอบังคับใช้พร้อมย้ำถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายตามกำหนด
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการเลื่อนใช้ พ.ร.บ. นี้โดยละเอียด จะพบว่ามีข้อสังเกตที่สำคัญ โดยเฉพาะ 'ผลกระทบของการเลื่อน พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ต่อประชาชน และมีข้อคำถามว่า ตำรวจไม่พร้อม หรือกลัวถูกจับผิดกันแน่ในการชะลอมาตราดังกล่าวออกไป'
รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ไว้อย่างน่าสนใจว่า
รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝ่ายบริหาร มีอำนาจในการเสนอ พ.ร.ก. กฎหมาย แต่สังเกตได้ว่าตามรัฐธรรมนูญจะให้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่ง เร่งด่วน ฉุกเฉิน สำคัญ อาทิ เรื่องสถานการณ์โควิด 19 หรือ เรื่องที่เกี่ยวกับความสำคัญของประเทศ ซึ่งกรณีนี้การที่ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ อย่างตำรวจที่ออกมาระบุว่า ทางตำรวจไม่สามารถที่จะจัดหาอุปกรณ์ได้ทัน ไม่ใช่กรณีเร่งด่วน ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน แต่เป็นสิ่งที่เตรียมการได้ และเป็นสิ่งที่น่าจะทำได้อยู่แล้ว ไม่เข้าเงื่อนไขในการที่จะออก พ.ร.ก. เพราะฉะนั้นแล้วโดยหลักการไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ฝ่ายบริหารมาชะลอการบังคับใช้มาตรา 22 - 25 นี้ อย่างไรก็ตาม ตัวกฎหมายทั้งหมดของเรื่องการต่อต้านการทรมานอุ้มหายมีผลบังคับใช้แล้ว ยกเว้นเรื่องการจัดกล้อง
"ทั้งนี้ สาระสำคัญของผลกระทบของการชะลอมาตรา 22 - 25 ที่มีต่อประชาชนนั้น มาตราเรื่องการจัดกล้องต้องมีการบันทึกภาพและเสียง ได้รับการพิสูจน์ในระดับคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแล้วว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลมากที่สุด และมีผลในการป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน ฉะนั้น การเลื่อนการบังคับใช้มาตรา 22 - 25 ออกไปมันมีผลทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนชะลอออกไป รวมทั้งคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต ก็ต้องเลื่อนออกไปเช่นเดียวกัน"
ส่วนในเรื่องการจัดทำบันทึกข้อมูลผู้ถูกคุมขังทั้งหมด ตรงนี้เป็นไปตามอนุสัญญาเรื่องการคุ้มครองบุคคลจากการสูญหายด้วยการถูกบังคับอยู่แล้ว ไม่น่ามีความจำเป็นที่จะต้องชะลอออกไป เป็นสิ่งที่ทางฝ่ายบริหารน่าจะทำได้ในเรื่องของการบันทึกข้อมูล ดร.ปกป้อง ระบุ
เมื่อถามถึง ความคิดเห็นว่าตำรวจมีความไม่พร้อมหรือไม่อยากทำกันแน่ ดร.ปกป้อง ระบุว่า ไม่ทราบว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าไม่พร้อม หรือไม่อยากทำ แต่ในความเห็นส่วนตัวถ้าไม่พร้อม อุปกรณ์ไม่พอ สิ่งที่รัฐบาลน่าจะทำคือไปจัดหา หรือหาวิธีการแก้ไขกฎระเบียบเพื่อให้จัดหาอุปกรณ์มาให้ทันเวลามากกว่าใช้วิธีการชะลอผลบังคับดังกล่าวนี้
ด้าน นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา จากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
"พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้แล้ว แต่มาตรา 22 - 25 ยังไม่ได้ประกาศใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักอัยการสูงสุด ได้เตรียมความพร้อมในการรับเรี่องร้องเรียน ทีนี้การรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการที่จะใช้บริการของสำนักอัยการสูงสุด เนื่องจากในตัวมาตรา 22 วรรค 2 พูดถึงกรณีที่เมื่อมีการควบคุมตัวแล้ว ต้องแจ้งให้อัยการและฝ่ายปกครองทราบ แต่เมื่อมีการชะลอการใช้มาตราดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ที่ส่วนใหญ่เป็นตำรวจหรือทหาร ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้อัยการหรือฝ่ายปกครองทราบ" นายอาดิลัน กล่าว
นายอาดิลัน กล่าวว่า ความเสียโอกาสของประชาชน โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมีการปิดล้อม ตรวจค้น หรือจับกุม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาคุมตัวคนในบ้านมาจากหน่วยงานไหน ไม่รู้จะพาไปไหน แต่ในมาตรา 22 วรรค 2 ทำให้เมื่อประชาชนไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่คุมตัวพาไปไหน สอบถามแล้วไม่บอก ประชาชนสามารถไปที่อำเภอ หรือสำนักอัยการจังหวัด แล้วแจ้งให้ทราบว่ามีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเสร็จแล้วต้องแจ้งอัยการและอำเภอ เพื่อที่จะให้ประชาชนได้ทราบว่า ญาติของตัวเองถูกนำตัวไปที่หน่วยไหน
"ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง หัวหน้าชุดในการเตรียมความพร้อมในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด ถกกันว่า การแจ้งกับอัยการหรือฝ่ายปกครองนั้น จะแจ้งเมื่อไร คำตอบคือ ให้แจ้งคนที่นำตัวมาชื่ออะไร ใครเป็นคนนำตัวมา แล้วนำตัวไปไว้ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องรอตรวจร่างกาย หรือรอให้กรองเอกสารให้ครบถ้วน เพียงยกหูต่อสายบอกกับหน่วยงานสายด่วนของอัยการ หรือฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องเท่านั้น สำหรับประเด็นผู้มีส่วนได้เสียจากการร้องขอต่อศาล เพื่อที่ต้องการทราบข้อมูลของบุคคล ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากมาตรา 24 ยังไม่ถูกกำหนดใช้" นายอาดิลัน ระบุ
เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับสาเหตุที่ทำให้ มาตรา 22 - 25 ใน พ.ร.บ. นี้ ถูกชะลอออกไปเนื่องจากงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ของตำรวจไม่เพียงพอ
นายอาดิลัน กล่าวว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณแสนกว่าคน จึงจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์จำนวนมาก แต่ตามระเบียบตำรวจ ปี 2564 ผบ.ตร. กล่าวไว้ว่า มีคำสั่งว่า ในการสืบสวน สอบสวน และการจับกุม จะต้องมีการถ่ายภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียง ขณะที่ทำการสอบสวนและจับกุมนั้น หมายความว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ทุกสถานีตำรวจจะต้องมีกล้องไว้แล้ว และต้องยอมรับว่า ตัวกล้องที่จะต้องติดตั้งที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้เข้าไปตรวจสอบหรือจับกุมนั้น อาจจะยังไม่มีหรือมีไม่ครบถ้วน แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เคยให้ข้อมูลกับทางคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนว่า ตำรวจพร้อมในการที่จะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลหลังจากที่มีการประชุมครั้งแรก และมีความไม่พร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น 1 เดือน จึงมีการประชุมกันใหม่ ในครั้งนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า 'พร้อม'
เมื่อย้อนกลับไปในประเด็นเรื่อง กล้อง 3 พันกว่าล้าน จริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องซื้อแจกให้กับตำรวจทุกนาย ไม่ได้มีความจำเป็นเลย ให้มีกล้องติดประจำสถานีตำรวจอย่างน้อย 1 ชุด เมื่อไรที่จะมีการตรวจค้นจับกุม ถึงเบิกเอาของที่เป็นส่วนกลางของสถานีตำรวจออกไปปฏิบัติหน้าที่ เพราะในข้อยกเว้นมาตรา 22 วรรค 1 ตอนท้าย ที่บอกไว้ว่า เว้นแต่กรณี ที่มีความจำเป็นไม่สามารถจะบันทึกภาพเสียง เคลื่อนไหวได้ ก็ให้บันทึกความจำเป็นดังกล่าว กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง เช่น กรณีมีความผิดซึ่งหน้า ไม่จำเป็นต้องบันทึกก็ได้ เพราะเป็นเหตุจำเป็นว่าไม่สามารถบันทึกได้ เพราะกล้องไม่มีในขณะออกเวร หรือไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม หรือวางแผนเข้าไปจับกุม เป็นต้น
ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ มีไว้สำหรับกรณีที่มีการวางแผนที่จะเข้าไปจับกุม หรือควบคุมตัวบุคคล
"ผมไม่สามารถตอบได้ว่าสาเหตุที่ทางตำรวจเลื่อนนั้นเพราะเหตุใด ผมเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่กลัวกฎหมาย ไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมาย จริง ๆ แล้วกฎหมายฉบับนี้ ปกป้องประชาชน และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริต แต่ทางเจ้าหน้าที่อาจจะกำลังกลัวที่จะทำผิดกฎหมายแล้วมีบันทึกหลักฐานไว้ เนื่องจากอาจจะคุ้นชินกับการปฏิบัติที่สบาย ๆ เมื่อในอดีตที่มีการพูดจา หรือมีการลงไม้ลงมือ" นายอาดิลัน ระบุ
นายอาดิลัน กล่าวต่อว่า หากเมื่อใดที่การร้องเรียนเรื่องการซ้อม มีการทรมาน มีการขมขู่ ขู่เข็ญ หรือบีบบังคับให้สารภาพ ก็สามารถเปิดกล้องดูตรวจสอบได้ ว่าขณะควบคุมตัวมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดไม่มีแสดงว่าผู้ร้องเรียนพูดเท็จ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีกลับได้
ทั้งนี้การประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ใน 28 ก.พ. 2566 หลังจากที่ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาลและคณะ ยื่นเรื่องให้ตีความ พ.ร.ก. ดังกล่าวกับศาลรัฐธรรมนูญ สภาจึงมีมติ คือ ให้ชะลอการพิจารณา พ.ร.ก. ข้างต้นไปก่อน จนกว่าจะได้รับคำแจ้งวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ