ป.ป.ช. เผยความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'วงศกร บัวไสว' อดีตนายก อบต.ต้นมะพร้าว เพชรบุรี ทุจริตจัดจ้างขุดลอกคูคลองวัชพืชดินตะกอน-ปรับภูมิทัศน์ เป็นทางการ ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุก 54 เดือน พวก 1 ราย โดน 36 เดือน ไม่มีเหตุรอการลงโทษ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายวงศกร บัวไสว เมื่อครั้งดำรงนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้นมะพร้าว อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี กับพวก คือ นายอำนาจ ชมเสือ ทุจริตในการจัดจ้างและเข้าเป็นคู่สัญญาตามโครงการขุดลอกคูคลองขุดฝังท่อระบายน้ำขุดลอกวัชพืชและดินตะกอน และโครงการปรับภูมิทัศน์
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 152 และ 157 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาว่า นายวงศกร บัวไสว จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 152 , 157
นายอำนาจ ชมเสือ จำเลยที่ 2 มีความผิดตามมาตรา 152 , 157 ประกอบมาตรา 86
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 91
จำเลยทั้งสองกระทำผิดรวม 6 กระทง
จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 8 เดือน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามมาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสี่
คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 9 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 6 เดือน
เมื่อรวมทุกกระทงความผิดแล้ว
ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 54 เดือน
จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 36 เดือน
กรณีไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ลงมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ดังกล่าว
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 152 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2565 นายหิรัญเศรษฐ์ เหยี่ยวประยูร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 7 เปิดเผยว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกนายวงศกร บัวไสว อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรีเป็นระยะเวลา 54 เดือน
ทั้งนี้คำพิพากษาจำคุกดังกล่าวนั้นมาจากการที่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดนายวงศกร บัวไสว ในขณะดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ต้นมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และความผิดทางอาญา และได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดนำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7
โดยรายละเอียดในสำนวนคดี ระบุว่า นายไสว จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายก อบต. และนายอำนาจ ชมเสือ จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิด เป็นผู้สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน กรณีทุจริตโครงการของ อบต.ต้นมะพร้าว จ.เพชรบุรี ทั้งหมด 6 โครงการ ดังนี้
1. โครงการขุดลอกคูคลองน้ำทิ้งสายนางช้วน หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 2 ต.ต้นมะพร้าว เป็นเงิน 28,890 บาท
2. โครงการขุดพร้อมฝังท่อระบายน้ำ บริเวณทางเข้าบ้านหนองแก หมู่ที่ 1 ต.ต้นมะพร้าว เป็นเงิน 32,130 บาท
3. โครงการขุดลอกคูคลอง หมู่ที่ 1 สายบ้านนาโพธิ์นอก สายบ้านนาหนองแก และสายนานายเทือง เป็นเงิน 93,448 บาท
4. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในตำบลต้นมะพร้าว เป็นเงิน 92,700 บาท
5. โครงการขุดลอกคูคลองภายในตำบลต้นมะพร้าว 5 สาย เป็นเงิน 66,500 บาท
6. โครงการขุดลอกขยะวัชพืชและดินตะกอนคลองน้ำทิ้งหนองไก่ดำ เป็นเงิน 95,000 บาท
โดยพฤติกรรมในการกระทำความผิด คือ จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ที่มีศักดิ์เป็นหลานและเป็นตัวแทนเชิด (นอมินี) ของจำเลยที่ 1 ได้ลงนามในเอกสารใบเสนอราคาที่เจ้าหน้าที่พัสดุได้เตรียมไว้ให้ตามที่จำเลยที่ 1 ได้สั่งการ โดยจำเลยที่ 2 ได้ยื่นเสนอราคา เมื่อเจ้าหน้าที่พัสดุได้ทำการต่อรองราคา และเสนอรายงานขออนุมัติตกลงราคาจ้างเหมาให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ จำเลยที่ 2 ได้นำรถแทรกเตอร์ แบ็กโฮสีเหลือง ยี่ห้อ KOMATSU รุ่น PC 128 US-2 ที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกับนางสาวจิราภรณ์ เกตุบรรจง ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไปใช้ในการขุดคลองงานตามสัญญาจ้าง
เมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานจ้างแล้ว จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 2 เป็นเช็คและนำไปฝากเข้าบัญชี ชื่อบัญชีนายอำนาจ ชมเสือ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ถอนเงินจากบัญชีธนาคารดังกล่าวโดยใช้บัตร ATM เพื่อให้จำเลยที่ 1 ซี่งเป็นผู้รับจ้างที่แท้จริงได้รับค่าจ้างเป็นประโยชน์สำหรับตนเองโดยทุจริต
ข่าวในหมวดเดียวกัน