บมจ.สยามพันธุ์ฯ ตั้งป้อมสู้! ร้อง ป.ป.ช.สอบปมผู้บริหารกรมชลประทาน อ้างมีเรียกรับเงิน -ปัญหาส่วนต่าง-ไม่ยอมอนุมัติแบบแปลนอ่างเก็บน้ำ 'น้ำปี้' ฉบับแก้ไขต้นเหตุงานล่าช้าจนต้องถูกยกเลิกสัญญา 1.6 พันล. ชนวนดีเอสไอรับคดีพิเศษ ล่าสุดมีออกหนังสือเรียกผู้บริหารให้ถ้อยคำเพิ่มเติมแล้ว
กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีโครงการก่อสร้างเขื่อนหัวนาและอาคารประกอบอื่นในโครงการอ่างเก็บน้ำ น้ำปี้ จ.พะเยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีปัญหาเอกชนคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินการงานได้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่มีการเบิกจ่ายเงินงวดตามสัญญาไปแล้ว 505 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญากลับดำเนินงานก่อสร้างได้เพียงร้อยละ 20 และทิ้งงานในที่สุด อันเป็นเหตุให้รัฐเกิดความเสียหาย
กำลังถูกจับตามองมากขึ้น!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ ในช่วงปี 2564 บริษัทสยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ที่มีพฤติการณ์เรียกรับเงินในการดำเนินงานโครงการฯ นี้ และการไม่อนุมัติให้เอกชนแก้ไขแบบแปลนก่อสร้างใหม่ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
"ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2565 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้บริหารบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ เพื่อขอเรียกตัวไปให้ถ้อยประกอบการตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว" แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยังบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจาก ฝ่ายกฎหมาย บมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ ว่า ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา บมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ ได้ไปยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อข้อให้ดำเนินการกับผู้บริหารกรมชลประทานรายหนึ่งจริง และล่าสุดในช่วงปลายปี 2565 ป.ป.ช. ได้มีการทำหนังสือกลับมายังบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ เพื่อขอให้ผู้บริหารไปให้ถ้อยคำกับ ป.ป.ช.แล้ว ซึ่งในขณะนี้บมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ กำลังรวบรวมเอกสารเพื่อเตรียมไปให้ถ่อยคำกับ ป.ป.ช.อยู่
สำหรับหนังสือ ป.ป.ช. ที่แจ้งผู้บริหารบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ ไปให้ถ้อยคำ มีการระบุข้อทราบรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
1. การเสนอแบบเพื่อการก่อสร้าง (Construction Drawings) แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ จากกรมชลประทาน มีรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นประการใด
2. เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดสั่งการให้ท่านทํางานก่อสร้างไม่เป็นไปตามปริมาณงานตามสัญญา รายการใดบ้าง และมีการจ่ายเงินส่วนต่างตามที่ทํางานจริงให้แก่ผู้ใด มีพฤติการณ์การกระทําความผิดอย่างไร มีพยานหลักฐานใดบ้าง
3. เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดเรียกรับเงินจากท่าน มีพฤติการณ์ในการเรียกรับเงินและจ่ายเงินอย่างไร มีพยานหลักฐานใดบ้าง
4. เจ้าหน้าที่กรมชลประทานระดับสูง (ขอสงวนนาม) มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทําความผิด อย่างไร มีพยานหลักฐานใดบ้าง
5. ท่านได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังหน่วยงานอื่นหรือไม่ หรือมีการฟ้องร้องดําเนินคดี ต่อศาลหรือไม่ ผลการดําเนินการเป็นประการใด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์กรมชลประทาน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านแล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อไป
อนึ่ง สำหรับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม2565 คณะกรรมการกลั่นกรองการรับคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา21 วรรคหนึ่ง (1) ได้เห็นชอบตามที่กองคณะพนักงานสืบสวนที่เสนอขอรับเรื่อง การทิ้งงานของเอกชนรายหนึ่ง ทำสัญญากับกรมชลประทานในรับจ้างก่อสร้างงานชลประทานหลายโครงการทั่วประเทศ โดยมีพฤติการณ์ในการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางค่อนข้างมาก และไม่สามารถดำเนินงานได้ตามสัญญา โดยโครงการดังกล่าวได้กำหนดราคากลางที่ 2,589 ล้านบาท และเอกชนรายนี้เสนอราคาที่ 1,650 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 939 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 ของราคากลาง
แต่หลังจากทำสัญญากับหน่วยงานและได้รับการเบิกจ่ายเงินตามสัญญาประมาณ 505 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญากลับดำเนินงานก่อสร้างได้เพียงร้อยละ 20 และมีการทิ้งงานในที่สุด อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ขณะที่นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรายืนยันว่า การเบิกจ่ายเงินจำนวน 505 ล้านบาท เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมายระเบียบของทางราชการว่าด้วยการเบิกจ่ายล่วงหน้า อนุญาตให้เบิกจ่ายได้ 15 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินสัญญาทั้งหมดที่มีมูลค่า 1,650 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 247 ล้านบาท โดยราชการอนุมัติให้จ่ายเงินล่วงหน้าแก่เอกชนได้ เพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ไปทำงานในงวดถัดๆไป ส่วนเงินอีก 300 กว่าล้านบาทที่เหลือ เป็นส่วนที่จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้างในส่วนที่เขาสามารถทำงานได้ตั้งแต่งวดที่ 1-7 โดยทำงานไปได้ 20 เปอร์เซ็นต์ จากสองก้อนรวมกัน
ปัจจุบันนั้น กรมชลประทานได้ ยกเลิกสัญญากับเอกชนผู้รับจ้างแห่งนี้ไปนานแล้ว ซึ่งกระบวนการกำลังอยู่ในขั้นตอนของกรมบัญชีกลาง
ด้านตัวแทนบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ ชี้แจงข้อมูลอีกด้านว่า ทางบริษัทไม่ได้ทิ้งงานแต่อย่างใด แต่เนื่องจากว่าบริษัทได้ดำเนินการทำแบบแปลนก่อสร้างใหม่เสนอไปยังที่ปรึกษากรมชลประทานแล้วนับตั้งแต่ช่วงปี 2561 แต่ไม่ได้มีการตอบกลับมาจากทางฝ่ายกรมชลประทานในเรื่องของการแก้ไขแบบก่อสร้างที่เหมาะสม จนเป็นเหตุทำให้เวลาล่วงเลยไป
"ในส่วนของรายละเอียดของเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) มีส่วนที่อนุญาตให้บริษัทผู้รับจ้างสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของงานก่อสร้างต่างๆให้มีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ได้ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้ดำเนินการทำแบบแปลนก่อสร้างใหม่เสนอไปยังที่ปรึกษากรมชลประทานแล้วนับตั้งแต่ช่วงปี 2561 โดยผู้มีอำนาจในกรมชลประทานยังไม่ได้ลงนามอนุมัติแบบตามที่บริษัทได้เสนอเลย แต่กลับมีหนังสือทวงถามความคืบหน้า บอกว่ามีการดำเนินการล่าช้ามายังบริษัท และต่อมาก็มีการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้นตามที่ปรากฎเป็นข่าว"
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ กำลังดำเนินการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมชลประทานที่ไม่ยอมอนุมัติแบบจนเป็นเหตุทำให้มีการยกเลิกสัญญาเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการยกเลิกสัญญาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 'น้ำปี้' ที่ จ.พะเยานั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของทั้ง ป.ป.ช. และทาง DSI ซึ่งกระบวนการยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด กรมชลประทาน และ บมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่ฝ่ายกฎหมายบมจ.สยามพันธุ์วัฒนาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสำนักข่าวอิศราว่า ไม่นานมานี้บริษัทก็มีการไปให้ปากคำกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษแล้วเช่นกัน
อ่านประกอบ:
- ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ! บ.รับเหมาใหญ่ทิ้งงานโครงการสร้างเขื่อน กรมชลฯ เบิก 505 ล. (1)
- เจาะลึก! ปัญหาสร้างอ่างเก็บน้ำ 'น้ำปี้' ก่อนDSIรับคดีพิเศษสอบปมทิ้งงาน-เบิกเงิน 505 ล. (2)
- กรมชลฯ แจงไล่ทวงเงิน บ.ทิ้งงานอ่างเก็บน้ำ 'น้ำปี้' 200 ล. ตามหักได้แล้ว 40 ล้าน (3)
- กรมชลฯไม่อนุมัติแบบก่อสร้าง! บ.สยามพันธุ์วัฒนา แจงต้นเหตุถูกเลิกสัญญาเขื่อน 1.65 พัน ล. (4)