เจาะเบื้องลึก! โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 'น้ำปี้' พะเยา ก่อน ดีเอสไอรับคดีพิเศษปมปัญหาทิ้งงานเบิกเงิน 505 ล. พบมีสัญญาณปัญหามาตั้งแต่ปี 62 บมจ.สยามพันธุ์วัฒนา ทำงานล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 59 กรมชลฯ ออกหนังสือเร่งรัดไปแล้ว ล่าสุด ผู้ตรวจการสำนักนายกฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้รับรายงานยกเลิกสัญญาจ้าง 1 ก.ค. 63 เตรียมหาตัวผู้รับเหมาใหม่ ขยายเวลาดำเนินโครงการเพิ่มเป็น 10 ปี ตั้งวงเงิน 3,981 ล้าน
กรณีปรากฎข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องการทิ้งงานของเอกชนรายหนึ่ง ทำสัญญากับกรมชลประทานในรับจ้างก่อสร้างงานชลประทานหลายโครงการทั่วประเทศ เป็นคดีพิเศษ โดยมีพฤติการณ์ในการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางค่อนข้างมาก และไม่สามารถดำเนินงานได้ตามสัญญา โดยโครงการดังกล่าวได้กำหนดราคากลางที่ 2,589 ล้านบาท และเอกชนรายนี้เสนอราคาที่ 1,650 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 939 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 ของราคากลาง หลังจากทำสัญญากับหน่วยงานและได้รับการเบิกจ่ายเงินตามสัญญาประมาณ 505 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดสัญญากลับดำเนินงานก่อสร้างได้เพียงร้อยละ 20 และมีการทิ้งงานในที่สุด อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในกรมชลประทานว่า เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ในช่วงปี 2562 กรมชลประทาน เคยออกข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีกลุ่มชาวบ้านอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา นำผู้สื่อข่าวเข้าดูสภาพพื้นที่การก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าทำการแก้ไขปัญหา
หลังจากงานก่อสร้างหยุดชะงัก จนทำให้ชาวบ้านเกิดความสงสัยหลายประการในขั้นตอนการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน รวมไปถึงความกังวลที่ว่าจะไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ตามเป้าหมายโครงการฯ ที่เคยประกาศให้ชาวบ้านรับรู้รับทราบ
โดยมีการระบุข้อมูลว่า โครงการฯ นี้ กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น และว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการควบคุมงานก่อสร้างทั้งหมด ( FULL SUPERVISION )
เริ่มนับอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 และสิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อายุสัญญา 1,080 วัน วงเงินค่าก่อสร้าง 1,650,000,000 บาท
แต่ช่วงเวลานั้นได้ผลงานความก้าวหน้าสะสมร้อยละ 20.297 จากแผนงานที่วางไว้ร้อยละ 79.737 ล่าช้ากว่าแผนงานร้อยละ 59.440
ผู้บริหารกรมชลประทาน จึงได้สั่งการได้ออกหนังสือเร่งรัดให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงานตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุสัญญา
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งมาปรากฏเป็นข่าวว่า ดีเอสไอ รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษดังกล่าว
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์กรมชลประทานพบว่า กรมชลประทาน เคยมีการออกข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข่าวเรื่องนี้จริง
โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ในขณะนั้น ระบุว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2520 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสำรวจและออกแบบตามขั้นตอนมาเป็นลำดับ และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเปิดโครงการ ให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง โดยมีแผนงานดำเนินการก่อสร้าง 6 ปี (พ.ศ. 2559 – 2564) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือให้พื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา กว่า 28,000 ไร่
รวมทั้งเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประมง การท่องเที่ยว และยังสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ได้อีกด้วย
เนื้อข่าวยังระบุด้วยว่า "สำหรับกรณีที่ชาวบ้านมีข้อสงสัยว่า ผู้รับจ้างละทิ้งงานไม่สามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่อง เกรงว่าจะทำให้ชาวบ้านเสียประโยชน์จากโครงการ ที่คาดว่าจะได้รับการใช้น้ำในปี พ.ศ. 2564 นั้น กรมชลประทานขอชี้แจงว่า กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น และว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการควบคุมงานก่อสร้างทั้งหมด ( FULL SUPERVISION ) โดยเริ่มนับอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 และสิ้นสุดอายุสัญญาวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อายุสัญญา 1,080 วัน วงเงินค่าก่อสร้าง 1,650,000,000 บาท ปัจจุบันได้ผลงานความก้าวหน้าสะสมร้อยละ 20.297 จากแผนงานที่วางไว้ร้อยละ 79.737 ล่าช้ากว่าแผนงานร้อยละ 59.440 ซึ่งกรมชลประทานได้ออกหนังสือเร่งรัดให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงานตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดอายุสัญญา ส่วนกรณีที่มีการกล่าวว่า ชาวบ้านที่เข้ามาใช้แรงงาน ไม่ได้รับค่าจ้างแรงงานเป็นจำนวนมาก กรมชลประทานขอยืนยันว่า ได้ดำเนินการเบิกจ่ายค่างานก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง ตามปริมาณงานที่ทำได้จริงแล้วทั้งหมด ไม่มีค่างานค้างจ่าย แต่อย่างใด"
"อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน กำลังพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยความรอบคอบ ตามระเบียบ เงื่อนไข และกฎเกณฑ์ในสัญญาให้ถึงที่สุด เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ให้เร็วที่สุด" (ดูเอกสารข่าวประกอบ)
จากการสืบค้นข้อมูลยังพบด้วยว่า ในช่วงเดือน พ.ค.2565 นางสุมิตรา อติศัพท์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดพะเยา และคณะ ได้ลงพื้นที่ติดตามสอดส่องโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ น้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในตำบลเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ดังกล่าว
เบื้องต้นทางกรมชลประทาน มีการรายงานข้อมูลความคืบหน้าล่าสุด ว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ในการจ้างงานก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี แต่เนื่องด้วยจากประสบปัญหา กับทางบริษัทผู้รับเหมาประมูลงาน ทำให้กรมชลประทาน ได้มีการยกเลิกสัญญาไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประกวดราคาหา บริษัทผู้ดำเนินการใหม่ จึงทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปที่ตามกำหนด และขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายเวลาดำเนินโครงการเป็น 10 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2559 - 2568 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 3,981 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการเบิกจ่ายเงินให้กับเอกชนไปจำนวน 505 ล้านบาท การดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายหลักการยกเลิกสัญญากับเอกชนรายเดิมเป็นอย่างไรบ้าง
ยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการในขณะนี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ติดตามอธิบดีฯ แจ้งว่า อธิบดีติดภารกิจนอกสถานที่ ขอให้ไปติดต่อรองอธิบดีฯ ที่ดูแลรับผิดชอบโครงการฯ นี้ โดยตรง พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อมาจำนวน 2 เบอร์
แต่สำนักข่าวอิศรา ไม่สามารถติดต่อได้ทั้ง 2 เบอร์ฯ
สำหรับ บริษัท สยามพันธุ์วัฒนา จำกัด (มหาชน) คู่สัญญา นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้าน ได้รับชี้แจงว่าให้ติดต่อกลับในภายหลัง ทั้งนี้หากได้รับคำชี้แจงแล้วจะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ ดีเอสไอ ยังไม่ได้มีการสรุปผลการสอบสวนเป็นทางการว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่
เจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อยู่