ศาลแขวงนิวยอร์กเดินหน้าพิจารณาคดีธนาคารเจพีมอร์แกนไม่แจ้ง บ.เอสซีลอร์ไทย ถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากบัญชีเจพีมอร์แกนที่นิวยอร์กเสียหายกว่ากว่า 9 พัน ล. หลังก่อนหน้านี้ธนาคารพยายามยื่นคำร้องตีตกคำฟ้อง อ้างไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งโอนเงิน จึงไม่ใช่ผู้รับผิดชอบต่อการคืนเงิน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าผู้พิพากษาศาลแขวงนิวยอร์กได้มีการบอกกล่าวกับวาณิชธนกิจเจพีมอร์แกน เชสในสัปดาห์นี้ว่าศาลจะไม่ละทิ้งและจะเดินหน้าพิจารณาคดีฟ้องร้องที่ระบุคำฟ้องว่าธนาคารได้ละเลยต่อสัญญาณอันตรายต่อกรณีที่กลุ่มมิจฉาชีพได้ฉ้อโกงเงินไปกว่า 272 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,258,880,000 บาท) จากบัญชีของบริษัทผู้บริษัทแว่นเรย์แบนด์ในรัฐนิวยอร์กในปี 2562
โดยในเอกสารความเห็นและคำสั่งของที่ยืนเมื่อวันที่ 4 ม.ค. ระบุว่าผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ นายลูอิส ลิมานได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าเจพีมอร์แกนได้มีการละเมิดสัญญาและมีพฤติกรรมประมาทเลินเล่อ แต่ระบุว่าบริษัทชื่อว่าเอสซีลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (EMTC) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยของบริษัทผลิตเลนส์แว่นตาสัญชาติฝรั่งเศสชื่อว่าบริษัทเอสซีลอร์ลักซ์ซอตติกา (EssilorLuxottica)สามารถเดินหน้าฟ้องร้องในคดีนี้ต่อไปได้ ด้วยคำฟ้องที่อ้างถึงกฎหมายสัญญาของรัฐนิวยอร์กที่ระบุว่าธนาคารจะต้องมีการคืนเงินถ้าหากมีคำสั่งชำระเงินที่ไม่ได้รับการอนุมัติจากลูกค้าของธนาคาร
อนึ่งก่อนหน้านี้ผู้พิพากษาลิมานได้มีการยกเลิกคำฟ้องของบริษัทในเครือเอสซีลอร์ในฉบับเดิมทางอ้างถึงเรื่องของการทำผิดสัญญา โดยเขาระบุว่าทางบริษัทสามารถแก้ไขคำฟ้องแล้วยื่นต่อศาลได้อีกครั้งหนึ่งด้วยการระบุรายละเอียดเพิ่มเติมในเกี่ยวกับการกระทำผิดสัญญาของธนาคาร
โดยในคำฟ้องฉบับเดิมมีการระบุรายละเอียดบริษัทผู้ผลิตแว่นตาระบุว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้ดำเนินการให้มีการชำระเงินโดยฉ้อโกงคิดเป็นจำนวนการทำธุรกรรมกว่า 243 ครั้ง เป็นการถอนเงินจำนวน 272.151 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9,261,026,379 บาท) จากบัญชีธนาคารเจพีมอร์แกนของบริษัท EMTC ที่รัฐนิวยอร์ก โดยเงินดังกล่าวได้ถูกโอนต่อไปยังบัญชีคนกลางแบะบริษัทเปลือกที่อยู่ทั่วโลก
คำฟ้องระบุต่อไปถึงกรณีที่มีความเกี่ยวข้องของบัญชีที่ธนาคารเจพีมอร์แกนไม่คุ้นเคย แต่ว่าธนาคารก็ไม่ได้มีการเตือนอะไรแต่อย่างใด โดยบริษัทเอสซีลอร์อ้างในคำฟ้องว่านับตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. 2562-กลาง ธ.ค.2562 บริษัท EMTC ได้มีการโอนเงินเกินวงเงินที่ลิมิตเอาไว้เป็นจำนวนซ้ำๆกันแต่เจพีมอร์แกนก็ไม่แม้แต่จะติดต่อมายังบริษัท EMTC หรือว่าเอสซีลอร์แต่อย่างใด
“ลิมิตของการโอนเงินต่อวันจากบัญชีในนิวยอร์กนั้นควรจะอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(340,390,000 บาท) แต่ว่าในบางวันยอดการโอนเงินก็เกินจำนวนนี้ และก็มีเกินไปถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (681,060,000 บาท)” คำฟ้องระบุ
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ทางเจพีมอร์แกนได้พยายามที่จะทำให้คำฟ้องนี้ตกไปโดยอ้างว่าคำฟ้องนั้นไม่เข้าข่ายภายใต้กฎหมายของรัฐนิวยอร์ก “เพราะว่าธนาคารใช่ผู้ส่งคำสั่งให้มีการชำระเงินดังนั้นจึงไม่สามารถจะคืนเงินในกรณีนี้ได้” ทว่าในสัปดาห์นี้ศาลแขวงนิวยอร์กได้ปฏิเสธที่จะยกคำร้องรวมถึงตีตกข้อกล่าวอ้างของธนาคารที่อ้างในเรื่องของเงื่อนเวลา
โดยเจพีมอร์แกนได้เคยอ้างก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน ก.ค. 2565 ระบุว่าบริษัทผู้ผลิตแว่นนั้นเพิ่งจะมีการฟ้องร้องต่อศาลในเดือน เม.ย.2565 ซึ่งคิดเป็นเวลานานมากกว่าสองปีนับตั้งแต่มีการโอนเงินให้กับกลุ่มมิจฉาชีพเป็นครั้งสุดท้ายในเดือน ธ.ค.2562 ธนาคารยังได้อ้างต่อไปอีกว่าภายใต้เงื่อนไขบัญชีที่ EMTC ได้เซ็นนั้น ระยะเวลาในการยื่นฟ้องร้องดังกล่าวถือว่าช้าเกินไปแล้ว
“EMTC ล้มเหลวในการที่จะตรวจจับการฉ้อโกงเป็นระยะเวลานานกว่าสี่เดือนนับตั้งแต่เกิดการฉ้อโกงขึ้น ซึ่งการล้มเหลวทางบัญชีระหว่างนั้นคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ” คำกล่าวอ้างของธนาคารระบุ
ในเอกสารคำร้องระบุต่อไปว่าเอสซีลอร์นั้นสามารถกู้คืนเงินที่สูญไปผ่านการถูกฉ้อโกงคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการฉ้อโกงที่ว่านี้ถูกอธิบายว่าเป็นหนึ่งในการฉ้อโกงที่ซับซ้อนที่สุดที่กระทำโดยอาชญากรไซเบอร์ระหว่างประเทศ
ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่าในช่วงไม่กี่เดือนหลังการโอนเงินเกิดขึ้นในปี 2562 ทางบริษัทเอสซีลอร์ได้มีการอ้างว่าบริษัทตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์อีกครั้งหนึ่ง โดยกลุ่มที่โจมตีได้ใช้เซิร์ฟเวอร์และคอมพิวเตอร์จำนวนหลายเครื่อง ซึ่งแต่ละเซิร์ฟเวอร์ได้มีการแพร่มัลแวร์
“ด้วยการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในเรื่องการต่อต้านไวรัสคอมพิวเตอร์ บริษัทเอสซีลอร์จึงสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายของมัลแวร์ที่ว่านี้ซึ่งถือว่าเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ล่าสุด”โฆษกหญิงของบริษัทเอสซีลอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ตามยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าการฉ้อโกงให้มีการโอนเงินกับการโจมตีทางไซเบอร์นั้นมีความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับความคืบหน้าของคดีนี้ที่ประเทศไทย สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท เป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
เรียบเรียงจาก:https://www.theregister.com/2023/01/06/jp_morgan_lawsuit_essilor/,https://finance.yahoo.com/news/jpmorgan-must-face-lawsuit-ray-153730848.html
อ่านประกอบ:
- คดีโกง 6 พันล้านบาน ‘เอสซีลอร์’ ฟ้อง ธ.เจพีมอร์แกน ไม่แจ้งพิรุธลูกจ้างไทยถอนเงินถี่ยิบ
- ขยี้คดีโกง 6 พันล. (1) : ใช้รูปคนมาเลฯ อ้าง 'นพ.' หลอก CFO หญิงให้รักลวงโอนเงินมหาศาล
- เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน