คดีโกง 6 พันล้านบานปลาย -'เอสซีลลอร์' ฟ้องธนาคารเจพีมอร์แกน ปมไม่แจ้งเตือนข้อพิรุธทางบัญชี หลังโดนพนักงานไทยโอนเงิน 272 ล้านดอลลาร์ฯ เข้าบัญชีมิจฉาชีพ ชี้เงินไปบริษัทเปลือกนอกหลายแห่งทั่วเอเชียตามคืนได้แค่ 100 ล้านดอลลาร์ฯ
สืบบเนื่องจากที่สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมที่ ย. 31/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่อง ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว ราย นางสาวชมานันทน์ เพ็ชรโปรี กับพวก คดีร่วมกันลักทรัพย์เอาเงินของบริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จากบัญชีเงินฝากของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เอ็น เอ สาขากรุงเทพมหานคร และธนาคารเจพีมอร์แกน เซส เอ็น เอ สาขานิวยอร์ค จำนวนหลายครั้งไปยังบุคคลภายนอกทำให้บริษัท เอสซีลอร์ แมนูแฟ็คเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 6,223,872,674.31 บาท
โดยทรัพย์สินที่ยึดและอายัด 10 รายการ ประกอบด้วย สร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง มูลค่า 10,000 บาท ชื่อ น.ส.ชนนิกานต์ เจริญราช และ อายัดเงินฝากบุคคลต่างอีก 9 บัญชีในชื่อบุคคลต่างๆ จำนวน 233,316.30 บาท รวมทรัพย์สิน 10 รายการ ทั้งสิ้น 243,316.30 บาท เป็นคดีที่ ปปง.ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563
- ขยี้คดีโกง 6 พันล. (1) : ใช้รูปคนมาเลฯ อ้าง 'นพ.' หลอก CFO หญิงให้รักลวงโอนเงินมหาศาล
- เบื้องลึกคดีโกง 6 พันล้าน ผบช.ก.แฉ พนง.หญิง ’เอสซีลอร์’ถูก’แก๊งไนจีเรีย’หลอกให้รัก
- ไขข้อมูล บ.เอสซีลอร์ฯ ทำธุรกิจอะไร – ใครเจ้าของ ? ถูกยักยอกเงินฝาก 6.2 พันล.
- ปปง.ยึดทรัพย์ 243,316 บาท คดีลักเงินฝาก บ.เอสซีลอร์ฯ 6,223.8 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวอ้างอิงจากสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลของสหรัฐอเมริกาว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ เรย์แบนด์ แว่นกันแดดชื่อดัง และเจ้าของห้างแว่นชื่อดัง LensCrafters ได้ตัดสินใจฟ้องบริษัท JPMorgan Chase & Co เจ้าของธนาคารเจพีมอร์แกน เนื่องจากว่าบริษัทนั้นล้มเหลวในการแจ้งเตือนต่อกรณีที่มิจฉาชีพได้โอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของตัวเองคิดเป็นมูลค่ารวม 272 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ (9,337,760,000 บาท) ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา
โดยบริษัทเอสซีลอร์ลักซ์ซอททิกา SA (EssilorLuxottica SA) ที่ถือว่าเป็นบริษัทผลิตแว่นตาที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของแบรนด์เรย์แบนด์ได้กล่าวหาธนาคารว่าล้มเหลวต่อการสังเกตุ “รูปแบบของการทำธุรกรรมอันน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น” เนื่องจากว่าธนาคารได้อนุญาตให้กลุ่มมิจฉาชีพนั้นสามารถถอนเงินได้สูงสุดมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (343,100,000 บาท)ต่อวัน เป็นจำนวนอย่างน้อยเก้าครั้งในช่วงระยะเวลาหลายเดือน
หน้าเว็บไซต์บริษัทเอสซีลอร์ลักซ์ซอททิกาที่ระบุว่าเป็นเจ้าของแบรนด์เรย์แบนด์และแบรนด์อื่นๆ
ส่วนทางด้านของเจพีมอร์แกนยังคงปฏิเสธที่จะออกมาแสดงความเห็นใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากที่ทางบริษัทเอสซีลอร์ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงแมนฮัตตันเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา
อนึ่งบริษัทเอสซีลอร์ได้เปิดโปงกรณีการจารกรรมที่เกิดในช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา โดยบริษัทระบุในคำฟ้องว่าพนักงานคนไทยของบริษัทในโรงงานที่ประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการปลอมการอนุมัติการโอนเงินไปยังบริษัทเชลคอมปานี หรือว่าบริษัทเปลือกนอกคิดเป็นจำนวนรวมกว่า 243 ครั้ง ซึ่งบริษัทเปลือกที่ว่ามานี้โดยมากก็กระจายอยู่ทั่วทวีปเอเชีย ขณะที่บริษัทนั้นสามารถตามเงินที่ถูกขโมยกลับไปได้จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,433,300,000 บาท)
ทั้งนี้บริษัทเอสซีลอร์ได้กล่าวหาเจพีมอร์แกนว่าล้มเหลวในการจะจับตาดูบัญชีอย่างเหมาะสม และกล่าวด้วยว่าเจพีมอร์แกนนั้นควรจะเตือนทางบริษัทให้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงจากพฤติการณ์ปกติของบัญชี อาทิ ปริมาณการทำธุรกรรมและจำนวนเงินดอลลาร์ที่ถูกถอนออกจากบัญชีที่นิวยอร์กนั้นพบว่าพุ่งสูงขึ้นไปถึง 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4,806,830,000 บาท) จากเดิมที่จำนวนเงินนั้นจะถูกถอนออกไปอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (515,017,500 บาท) ต่อเดือน
ในคำฟ้องได้ระบุต่อไปด้วยว่าการทำธุรกรรมในแต่ละครั้งนั้นพบว่าทำกันเป็นจำนวนรอบ ไม่มีการถอนเงินในหลักเซ็นต์ และขั้นตอนการตรวจสอบการทำธุรกรรมนั้นพบว่าใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งนาที แทนที่จะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการตรวจสอบ
โดยเงินนั้นได้ถูกส่งไปยังบริษัทเปลือกนอก ซึ่งบริษัทเปลือกนอกที่ว่านี้ก็มีชื่ออาทิ Guangzhou Wendy Hair Products หรือชื่อ Citgo Oil Trading LLC เป็นต้น อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้นั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการดูแลสายตาแต่อย่างใด
และขณะนี้ทางเอสซีลอร์กำลังหาวิธีที่จะดำเนินคดีกับความเสียหายที่ยังไม่สามารถจะระบุจำนวนได้ชัดเจนจากทางธนาคาร
เรียบเรียงจาก:https://www.wsj.com/articles/ray-ban-maker-sues-jpmorgan-accusing-it-of-failing-to-catch-272-million-theft-11651011067