สธ.เดินหน้าบังคับใช้ กม.สนุนไพรควบคุม ลงพื้นที่ตรวจสอบใช้ 'ช่อดอกกัญชา' ทุกวัน ย้ำห้ามผู้ประกอบการเปิดให้บริการสูบในร้านโดยเด็ดขาด ส่วนแพทย์ต้องขออนุญาตก่อนเปิดคลินิก ฝ่าฝืนมีโทษคุก 5 ปี-ปรับ 1 แสนบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2565 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชี้แจงประเด็นมูลเหตุการคุมช่อดอกกัญชาและแนวทางปฏิบัติในการใช้กฎหมาย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ว่า ภายหลังมีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ฉบับลงวันที่ 11 พ.ย. 2565 กำหนดให้มีผลบังคับใช้นับถัดจากวันที่ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยปรับปรุงประกาศให้เหมาะสมกับการใช้กัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่อดอกต้องไม่นำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร
สำหรับเหตุผลที่ควบคุมช่อดอกกัญชา เนื่องจากข้อกังวลเรื่องการใช้กัญชา คือ ตัวสาร THC ที่มีปัญหาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่สาร CBD จะมีประโยชน์ ทั้งเรื่องการลดการอักเสบ ผสมในครีมลดการอักเสบในผิวหนัง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงต้องควบคุมช่อดอกเป็นหลัก เพราะมี THC มาก ซึ่งในไทยจะพบ 5-20% ในช่อดอก หลายพันธุ์อาจขึ้นไปถึง 30% แต่ส่วนอื่นๆ อย่างใบ ข้อมูลวิชาการพบว่า มี THC 0.2% ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสารสกัดที่เกิน 0.2% เป็นยาเสพติด แต่ข้อเท็จจริงมีสาร CBD อยู่ 2% ซึ่งเมื่อมีCBD เข้ามาด้วยจะทำให้ตัว THC ออกฤทธิ์ลดลง แต่ช่อดอกจะสูงกว่า จึงต้องควบคุม อันนี้เป็นข้อมูลในตำรา แต่เมื่อกรมฯ นำไปตรวจสอบเองก็ได้ผลคล้ายกัน
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ในส่วนที่เป็นข้อห้ามของประกาศดังกล่าวที่มีความชัดเจน คือ ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร ห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา ห้ามให้บริการสูบกัญชาในสถานประกอบการทั่วไป ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณากัญชาในทุกช่องทางเพื่อการค้า และห้ามสูบกัญชาในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก เป็นต้น
จากกรณีที่มีการเปิดให้สูบกัญชาในสถานประกอบการทั่วไป ถือว่าเป็นการผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อกฎหมายตามประกาศดังกล่าว คือ ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยบุคคลดังต่อไปนี้ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และ ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ซึ่งใช้ในการรักษาสัตว์ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวสามารถใช้ได้ตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ
โดยแต่ละสภาวิชาชีพก็มีการควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่แล้ว และหากจะใช้ช่อดอกมาปรุงหรือใช้เป็นยาเพื่อรักษาผู้ป่วยก็ต้องขอใบอนุญาตให้ถูกต้องเช่นกัน
ในกรณี ผู้ที่กระทำความผิดและไม่ดำเนินการตามประกาศจะพิจารณาพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี และหากผู้ที่ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตยังดำเนินการศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรเพื่อการค้าอยู่ จะถือว่าดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษตามมาตรา 78 แห่ง พรบ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ขอย้ำอีกข้อสำคัญ คือ การใช้กัญชาจะมีทั้งแบบสูบและหยดใต้ลิ้น แต่การสูบหรือหยดใต้ลิ้น การออกฤทธิ์จะเร็ว เพราะเข้ากระแสเลือดไม่ผ่านตับ ดังนั้น ความอันตรายจากการสูบคือสาร THC ออกฤทธิ์ทันที หากใช้มากเกินก็จะมีอาการหน้ามืด ใจสั่น ไม่สามารถรับกัญชาเข้าไปได้อีก ดังนั้นจริงๆ การสูบแม้จะออกฤทธิ์เร็ว แต่ถูกจำกัดปริมาณด้วยอาการที่เกิดขึ้น ก็จะสูบต่อไม่ได้ กลับกัน หากนำช่อดอกไปประกอบอาหาร และกินเข้าไป อันนี้อันตราย
“ที่ผ่านมามีการผสมในคุกกี้ ไอศกรีม อันตราย เพราะอย่างใส่ในปริมาณเข้มข้น กินถ้วยแรก สารยังไม่ออกฤทธิ์ แต่เมื่อกินไป 2-3 ถ้วย สารเข้าไปในร่างกายแล้วจะออกฤทธิ์ไปอีก 1 ชั่วโมง ที่พบอันตรายคือการกิน จึงเป็นที่มาในการห้ามใส่ช่อดอกในอาหาร นี่เป็นกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. หากทำแบบนี้มีโทษอาญาจำคุก 2 ปี โทษแรงกว่าประกาศกรมการแพทย์แผนไทย” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ที่ห้ามสูบในสถานประกอบการ หลายคนบอกว่า กำหนดห้ามสูบเลยได้หรือไม่ จริง ๆ เราห้ามได้ไม่ทั้งหมด เพราะห้ามได้เฉพาะ ถ้าเขียนว่าห้ามสูบก็จะแปลว่าห้ามสูบเท่านั้น ไม่ได้ห้ามเอาไปทำอย่างอื่น ส่วนที่ห้ามสูบในร้าน ก็เพราะจะเป็นความเสี่ยง เช่น ออกไปขับรถ ขณะที่วันนี้เรายังไม่มีกฎหมายควบคุมปริมาณกัญชาในเลือดเหมือนแอลกอฮอล์ เรารอกฎหมายที่จะมาช่วยกำกับ ส่วนการประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์แผนไทยที่ใช้การสูบกัญชาเพื่อรักษา เรายกเว้นให้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเอาหมอมานั่งในร้านเพื่อสูบกัญชา ตรงนี้คนละนัยยะ
“แพทย์ไม่สามารถประกอบวิชาชีพเวชกรรมนอกสถานพยาบาลได้ ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษอาญา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท เป็นโทษของแพทย์เท่านั้นไม่ใช่โทษของร้านที่มีโทษเพียงพักใช้ใบอนุญาต หากร้านที่อยากทำตรงนี้ให้ได้ ต้องไปขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลตามมาตรฐาน มีการรักษาจริง ไม่ใช่เปิดมาเพื่อขายช่อดอก” นพ.ธงชัย ระบุ
นพ.ธงชัย กล่าวถึงกรณีการจัดปาร์ตี้กัญชาที่ว่าไม่ได้จำหน่าย ถือว่าผิดหรือไม่ ว่า คำว่าจำหน่ายในพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีนิยามว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ดังนั้น จำหน่ายไม่ได้แปลว่าขายอย่างเดียว ซึ่งกฎหมายกำหนดนิยามไว้แล้ว การจัดปาร์ตี้จึงไม่สามารถนำกัญชามาแจก มาแลกเปลี่ยนด้วยวิธีการใดก็ตาม ถือว่าผิด จริงๆ การลงพื้นที่ตรวจสอบอาจไม่ใช่สัปดาห์ครั้ง แต่ช่วงแรกอาจออกไปสุ่มตรวจทุกวัน
ทางด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะมีการหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน อย่าไรก็ตาม ในเรื่องกฎหมายกรณีใครฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ในการจำหน่ายไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามขายออนไลน์ ห้ามโฆษณาออนไลน์เกี่ยวกับช่อดอก ซึ่งจะสอดคล้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย มีโทษหนักกว่า และบางกรณีเป็นการนำเข้าข้อมูลอาจเป็นเท็จหรือแอบอ้าง โดยใช้รูปเจ้าหน้าที่ไปแอบใช้ ตรงนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเป็นแสนบาท โทษหนักกว่าเยอะ ดังนั้น เสี่ยงผิดกฎหมายทั้งสองฉบับ ปัจจุบันมีผู้ชี้เบาะแสช่องทางมาพอสมควร ก็จะมีการรวบรวมข้อมูลดำเนินคดีต่อไป
รองอธิบดีกรมฯ กล่าวว่า มีคำถามว่าการไปจัดปาร์ตี้ ทั้งอาหาร กัญชา ดนตรีทำได้หรือไม่ อันนี้เข้าข่ายสถานบริการเถื่อน ผิดกฎหมายกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การดำเนินการแบบนี้จะมีกฎหมายหลายฉบับมาอุดช่องโหว่ได้พอสมควร หากจะควบคุมการที่ผู้ประกอบการจัดโซนนิ่งให้สูบกัญชา ต้องรอกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภา เพราะสามารถให้กระทรวง ออกประกาศกำหนดโซนนิ่งได้
“ทางกรมฯ จะมีเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ สถานบริการที่เกี่ยวข้องว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสัปดาห์ เพื่อให้มีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เราจะตรวจแบบนี้จนกว่าจะมีพ.ร.บ.กัญชากัญชงจะผ่านการพิจารณา จนมีผลบังคับใช้” นพ.เทวัญ กล่าว