เผยความคืบหน้าปมปัญหากรณีกฤษฎีกาตีความสอบ ขรก.เกษียณไม่ทัน 2 ปี ล่าสุด ป.ป.ช.ทำหนังสือแจ้ง ป.ป.ท. ตีกลับ 186 เรื่องกล่าวหา ให้ไปดำเนินการต่อ หลังพิจารณาตีความตามข้อกม.เห็นว่า มีอำนาจดำเนินการต่อได้จนกว่าจะแล้วเสร็จ ไม่สามารถอ้างเงื่อนไขระยเวลาตามมาตรา 50 พ.ร.บ.มาตรการฝ่ายบริหารป้องกันปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ได้
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอรายงานพิเศษปัญหาการสอบสวนคดีความผู้กระทำความผิดในกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่ที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในเรื่องของ “อำนาจ” ว่าสามารถทำได้หรือไม่ และในบรรดาคดีความต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดของ ป.ป.ท.จำนวนมาก ผู้ถูกกล่าวหานับร้อยคน หากไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไม้ไปทำต่อ จะทำให้กระบวนการสอบสวนคดีของป.ป.ช. เกิดปัญหาครั้งใหญ่หรือไม่ เพราะปัจจุบัน ป.ป.ช.ก็มีภารกิจงานรับผิดชอบล้นมืออยู่แล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวใน ป.ป.ท.ว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือแจ้ง เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ตีกลับเรื่องกล่าวหาจำนวน 186 เรื่อง ที่สำนักงาน ป.ป.ท.ส่งมาให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการ เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาตีความตามข้อกฎหมายเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ท.มีอำนาจดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ไม่สามารถอ้างเงื่อนไขระยเวลาตามมาตรา 50 ได้
เนื้อหาเรื่องระบุว่า "ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ส่งเรื่องกล่าวหาที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือวันที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ในกรณีที่มีการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งแล้วแต่กรณี ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาดำเนินการตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาตีความข้อกฎหมายตามประเด็นปัญหาข้างต้น ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วมีความเห็นว่าเรื่องกล่าวหาดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จตาม พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยไม่อาจอ้างเงื่อนไขระยะเวลาตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเรื่องกล่าวหาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการได้ และมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาที่สำนักงาน ป.ป.ท. ส่งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ตามกรณีดังกล่าวกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ท.เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
สิ่งที่ส่งมาด้วยระบุ เป็นเรื่องกล่าวหาจำนวน 186 เรื่อง (ดูหนังสือประกอบ)
สำหรับจุดเริ่มต้นของปัญหานี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เป็นผลมาจากเกิดกรณี สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบพบการทำงานที่ไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเจ้าหน้าที่รายนี้ ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 5 ปีก่อนที่จะถูกกล่าวหา ขณะที่เจ้าหน้าที่รายนี้ โต้แย้งว่า ป.ป.ท. ไม่มีอำนาจในการสอบสวน จึงทำให้ ป.ป.ท. ต้องมีการส่งเรื่องไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความกันว่า ป.ป.ท. จะสามารถดำเนินการพิจารณาคดีเพื่อจะส่งฟ้องต่อไปได้หรือไม่
ขณะที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ว่า การดำเนินการตรวจสอบอดีตข้าราชการคนดังกล่าวของ ป.ป.ท.นั้นสามารถทำได้แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบหลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว ดังนี้
1.ในกรณีของการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ามาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้เจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทําการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติรับไว้พิจารณา ตามพระราชบัญญัตินี้ แม้ภายหลังผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วด้วยเหตุอื่น ไม่เกินห้าปี นอกจากตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอํานาจดําเนินการต่อไปได้ ย่อมเป็นการกําหนด ให้อํานาจพิเศษแก่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ในการดําเนินการสําหรับกรณีนี้
โดยมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดเงื่อนไขบังคับในการใช้อํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ด้วยว่า ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือวันที่มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นในกรณีที่มีการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง แล้วแต่กรณี และเมื่อดําเนินการแล้วเสร็จภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวแล้ว มาตรา 50 วรรคสอง จึงกําหนดให้ดําเนินการ ทางวินัยและทางอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหานั้นต่อไป ดังนั้น มาตรา 50 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวก่อนที่จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกรณี ที่มีการกล่าวหาเมื่อผู้นั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วภายในระยะเวลาไม่เกินห้าปี
2.ส่วนในประเด็นที่ว่า ป.ป.ท. ไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่สามารถจะดำเนินการต่อได้นั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่งกระทําการทุจริตในภาครัฐ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้น ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในกรณีที่การกระทําความผิดดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาด้วย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดําเนินการตามมาตรา 45
“มาตรา 45 ในกรณีที่การกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 40 เป็นความผิดทางอาญาด้วย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งเรื่องพร้อมทั้งสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริง รายงาน เอกสาร และความเห็น ของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้พนักงานอัยการดําเนินคดีต่อไป โดยให้ถือว่าการดําเนินการและสํานวนการไต่สวน ข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการสอบสวนและสํานวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอํานาจเป็นพิเศษแก่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ในการดําเนินการแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว โดยกําหนดเงื่อนไขบังคับให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือวันที่มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นในกรณีที่มีการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง แล้วแต่กรณี”
“การที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่ได้ดําเนินการตามเงื่อนไขสําคัญดังกล่าว ย่อมส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่มีอํานาจดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งพ้นจากการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วได้ ดังนั้น การดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งพ้นกําหนดเวลา ตามเงื่อนไขในมาตรา 50 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีผลผูกพันผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 50 วรรคสอง ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ย่อมไม่มีอํานาจดําเนินการตามมาตรา 45 อย่างไรก็ตาม โดยที่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเวลาได้ล่วงพ้นจนคณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่อาจดําเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปราม การทุจริตฯ ได้แล้ว สมควรที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ดําเนินการโดยด่วนต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561”
ส่วนแหล่งข่าวจาก ป.ป.ท. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า คำวินิจฉัยของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ดังกล่าว อาจส่งผลทำให้คดีที่ ป.ป.ท.รับผิดชอบในปัจจุบันเป็นหลักร้อยคดีมีปัญหาได้ ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ท.จะต้องส่งคดีที่จะเกินระยะเวลาสองปีไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป
ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวนี้ รวมไปถึงการที่ ป.ป.ท.ที่ตัดสินใจส่งคดีกลับมาให้กับ ป.ป.ช. จะกลายเป็นภาระให้กับ ป.ป.ช.ค่อนข้างมาก ในประเด็นที่ถ้าหากพ้นไปเกินสองปีแล้ว ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจไต่สวนต่อไป ขณะที่ ป.ป.ช.ได้ทำเรื่องไปทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ตีความข้อกฏหมายเรื่องนี้เช่นกัน
ก่อนที่จะปรากฎข้อมูลล่าสุดว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตีกลับเรื่องกล่าวหา จำนวน 186 เรื่อง ที่สำนักงาน ป.ป.ท.ส่งมาให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการ เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาตีความตามข้อกฎหมายเห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ท.มีอำนาจดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ ไม่สามารถอ้างเงื่อนไขระยเวลาตามมาตรา 50 ได้ ดังกล่าว