ตามหลักควรต้องยึดเอาตามอายุความว่าเหตุเกิดเมื่อไร 15-20 ปี ไม่ใช่ว่าพ้นผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งไปแล้วสองปี ก็หมดอำนาจการไต่สวนไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาในประเด็นเรื่องสองปีนั้นมีการกำหนดกรอบเอาไว้เพราะว่าถ้าทำไม่แล้วเสร็จให้ไปดำเนินการตรวจสอบเพื่อดำเนินการทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่ามีการละเลยการทำหน้าที่หรือไม่อย่างไร แต่จะบอกว่าให้อายุความมันขาดเลยแบบนี้ไม่น่าจะใช่
การสอบสวนคดีความผู้กระทำความผิดในกลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่ที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในเรื่องของ “อำนาจ” ว่าสามารถทำได้หรือไม่ และในบรรดาคดีความต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดของ ป.ป.ท.จำนวนมาก ผู้ถูกกล่าวหานับร้อยคน หาก ไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไม้ไปทำต่อ จะทำให้กระบวนการสอบสวนคดีของป.ป.ช. เกิดปัญหาครั้งใหญ่หรือไม่ เพราะปัจจุบัน ป.ป.ช.ก็มีภารกิจงานรับผิดชอบล้นมืออยู่แล้ว
กำลังเป็นประเด็นร้อนในเชิงข้อกฏหมาย ที่กำลังถูกจับตามองของ 2 หน่วยงานงาน ทั้งในส่วนของ ป.ป.ท. และป.ป.ช.
เมื่อปรากฏข้อมูลไม่นานมานี้ ว่า สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบพบการทำงานที่ไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง แต่ติดปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเจ้าหน้าที่รายนี้ ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 5 ปีก่อนที่จะถูกกล่าวหา ขณะที่เจ้าหน้าที่รายนี้ โต้แย้งว่า ป.ป.ท. ไม่มีอำนาจในการสอบสวน จึงทำให้ ป.ป.ท. ต้องมีการส่งเรื่องไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ตีความกันว่า ป.ป.ท. จะสามารถดำเนินการพิจารณาคดีเพื่อจะส่งฟ้องต่อไปได้หรือไม่
@ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ชี้ ป.ป.ท. ไม่มีอำนาจ
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้ข้ออ้างทางกฎหมายระบุว่า มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการของฝ่ายบริหาร ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ นั้นมิใช่บทบัญญัติที่ให้อํานาจคณะกรรมการ ป.ป.ท. ดําเนินการ ไต่สวนข้อเท็จจริง เมื่อมาตรา 50 วรรคหนึ่งของ พ.ร.บ.ฯ กําหนดกรอบระยะเวลาในการดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่ากระทําการทุจริตในภาครัฐเมื่อพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปแล้ว โดยมิได้ให้อํานาจคณะกรรมการ ป.ป.ท. ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมในกรณีที่ไม่สามารถดําเนินการ ให้แล้วเสร็จหรือกําหนดให้ดําเนินการอื่นใดตามกฎหมายต่อไปได้ ประกอบกับมาตราดังกล่าวยกเว้นให้ คณะกรรมการ ป.ป.ท. ยังคงไต่สวนข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปแล้วได้ จึงกระทบสิทธิของผู้นั้น
ซึ่งหากไม่มีกําหนดระยะเวลาสิ้นสุดก็จะเกิดความเสียหาย และไม่เป็นธรรม ดังนั้น กรอบระยะเวลาดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติเร่งรัดเพื่อมิให้เกิดความล่าช้า แต่เป็นบทบัญญัติบังคับให้ต้องดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่ เป็นการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งไปแล้ว จึงมีผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่อาจดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและดําเนินการใด ๆ ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหาร ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
@ข้อโต้แย้งของ ป.ป.ท.
ขณะที่ฝ่าย ป.ป.ท. มีความเห็นในสี่ประเด็นว่าสามารถจะดำเนินการพิจารณาความผิดของอดีตข้าราชการคนดังกล่าวต่อไปได้ โดย ป.ป.ท.ได้นำเอาทั้งสี่ประเด็นที่ว่านี้มาหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา มีดังต่อไปนี้
(1) การที่มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ใช้ถ้อยคําว่า “แม้ภายหลัง” เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว เป็นการใช้ถ้อยคําที่มีสภาพบังคับว่า มาตราดังกล่าว ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายหลังถูกกล่าวหาว่า กระทําการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติรับไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกกรณี ไม่ว่าจะก่อนหรือภายหลัง ถูกกล่าวหาก็ตาม
(2) การที่มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ใช้ถ้อยคําว่า “แต่ต้อง” ดําเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือวันที่มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ในกรณีที่มีการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง แล้วแต่กรณี นั้น เป็นการใช้ถ้อยคําที่มีสภาพบังคับให้ต้องดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กําหนดไว้ หากไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็ไม่อาจดําเนินการไต่สวน ข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดต่อไปได้ หรือไม่ หรือบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการเร่งรัด ให้ทําการสอบสวนให้แล้วเสร็จเพื่อมิให้เกิดความล่าช้าในการดําเนินการ แม้การไต่สวนข้อเท็จจริง และชี้มูลความผิดไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็ยังคงมีอํานาจ ดําเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ต่อไปได้ หรือไม่
(3) การดําเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง จะมีผล ต่อการดําเนินการของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 50 วรรคสอง หรือการดําเนินการในกรณีความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ตามมาตรา 45 หรือไม่
(4) “ผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่ง” ตามมาตรา 50 วรรคสอง หมายความถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายหลังถูกกล่าวหาว่ากระทําการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติรับไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น หรือไม่
@ คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ ป.ป.ท.ดำเนินการได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่ง
ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้ ว่า การดำเนินการตรวจสอบอดีตข้าราชการคนดังกล่าวของ ป.ป.ท.นั้นสามารถทำได้แม้ว่าจะเป็นการตรวจสอบหลังจากพ้นตำแหน่งไปแล้ว ดังนี้
1.ในกรณีของการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่ามาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกําหนดให้เจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้ใดถูกกล่าวหาว่ากระทําการทุจริตในภาครัฐ และคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติรับไว้พิจารณา ตามพระราชบัญญัตินี้ แม้ภายหลังผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วด้วยเหตุอื่น ไม่เกินห้าปี นอกจากตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอํานาจดําเนินการต่อไปได้ ย่อมเป็นการกําหนด ให้อํานาจพิเศษแก่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ในการดําเนินการสําหรับกรณีนี้
โดยมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดเงื่อนไขบังคับในการใช้อํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ด้วยว่า ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือวันที่มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นในกรณีที่มีการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง แล้วแต่กรณี และเมื่อดําเนินการแล้วเสร็จภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวแล้ว มาตรา 50 วรรคสอง จึงกําหนดให้ดําเนินการ ทางวินัยและทางอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหานั้นต่อไป ดังนั้น มาตรา 50 ทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวก่อนที่จะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกรณี ที่มีการกล่าวหาเมื่อผู้นั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วภายในระยะเวลาไม่เกินห้าปี
@คดีไหน ป.ป.ท.ทำไม่ทัน ให้ส่งไป ป.ป.ช.
2.ส่วนในประเด็นที่ว่า ป.ป.ท. ไม่สามารถดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่สามารถจะดำเนินการต่อได้นั้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า
ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาตามวรรคหนึ่งกระทําการทุจริตในภาครัฐ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้น ยังเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในกรณีที่การกระทําความผิดดังกล่าวเป็นความผิดทางอาญาด้วย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ดําเนินการตามมาตรา 45
“มาตรา 45 ในกรณีที่การกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 40 เป็นความผิดทางอาญาด้วย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งเรื่องพร้อมทั้งสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริง รายงาน เอกสาร และความเห็น ของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้พนักงานอัยการดําเนินคดีต่อไป โดยให้ถือว่าการดําเนินการและสํานวนการไต่สวน ข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการสอบสวนและสํานวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอํานาจเป็นพิเศษแก่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ในการดําเนินการแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งพ้นจากการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว โดยกําหนดเงื่อนไขบังคับให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในสองปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือวันที่มีการกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นในกรณีที่มีการกล่าวหาเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นพ้นจากตําแหน่ง แล้วแต่กรณี”
“การที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่ได้ดําเนินการตามเงื่อนไขสําคัญดังกล่าว ย่อมส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่มีอํานาจดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดแก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งพ้นจากการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วได้ ดังนั้น การดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งพ้นกําหนดเวลา ตามเงื่อนไขในมาตรา 50 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีผลผูกพันผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 50 วรรคสอง ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ย่อมไม่มีอํานาจดําเนินการตามมาตรา 45 อย่างไรก็ตาม โดยที่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเวลาได้ล่วงพ้นจนคณะกรรมการ ป.ป.ท. ไม่อาจดําเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปราม การทุจริตฯ ได้แล้ว สมควรที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ดําเนินการโดยด่วนต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ. 2561”
สรุปสั้นๆก็คือว่าจากคำวินิจฉัยดังกล่าวนั้นจะเห็นว่ามีผลผูกพันและอาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สองหน่วยงานตรวจสอบได้แก่ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. โดย ป.ป.ท.นั้นจะมีอำนาจในการวินิจฉัยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อผู้นั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วภายในระยะเวลาไม่เกินห้าปี
และถ้าหาก ป.ป.ท.ดำเนินการไม่เสร็จภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่มีการกล่าวหา ป.ป.ท.ก็ต้องส่งเรื่องไปให้กับ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการพิจารณาต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็หมายความว่าจะเป็นการโยนภาระกลับไปให้ ป.ป.ช.ได้ด้วยเช่นกัน
@ ป.ป.ท.ตั้งท่าส่งคดีเกินระยะเวลา 2 ปีให้ ป.ป.ช. แล้ว
เกี่ยวกับคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง ผู้บริหารทั้ง ป.ป.ท.และ ป.ป.ช. เพื่อสอบถามความชัดเจนในเรื่องนี้ เพิ่มเติม
ในส่วนของ ป.ป.ท.นั้น สำนักข่าวอิศรา ยังไม่สามารถติดต่อ นายพีรพล พิชัยวัฒน์ ประธานกรรมการ ป.ป.ท. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงได้
ขณะที่ พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล อดีตเลขาธิการ ป.ป.ท. ระบุว่า เรื่องนี้ต้องให้นายพีรพล พิชัยวัฒน์ ประธานกรรมการ ป.ป.ท.เป็นคนชี้แจง เพราะเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวก็จะนำเรียนเรื่องดังกล่าวไปถึงนายพีรพลด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวใน ป.ป.ท. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า คำวินิจฉัยของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ดังกล่าว อาจส่งผลทำให้คดีที่ ป.ป.ท.รับผิดชอบในปัจจุบันเป็นหลักร้อยคดีมีปัญหาได้ ซึ่งตรงนี้ ป.ป.ท.จะต้องส่งคดีที่จะเกินระยะเวลาสองปีไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ ป.ป.ท. เคยทำบันทึกแจ้งเวียนมติคณะกรรมการ ป.ป.ท. สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า การดําเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งพ้นกําหนดเวลาตามเงื่อนไขในมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลผูกพันผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 50 วรรคสอง ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ย่อมไม่มีอํานาจดําเนินการตามมาตรา 45 โดยที่การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นหน้าที่และอํานาจ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สมควรที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา ดําเนินการโดยด่วนต่อไป นอกจากนี้ ในระหว่างรอผลการทบทวนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ให้ชะลอการดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงไว้ก่อน ยกเว้นสํานวนคดีที่มีอายุความเหลือไม่เกิน 1 ปี ให้ผู้รับผิดชอบสํานวนคดีจัดทํารายละเอียดคดีดังกล่าว ตามแบบที่สํานักงาน ป.ป.ท. กําหนดเป็นการเฉพาะ เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อมีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการต่อไปโดยเร็ว ทั้งนี้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อเสนอ คณะกรรมการ ป.ป.ท. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. (ดูหนังสือประกอบ)
@ ป.ป.ช.ยื่นกฤษฎีกาตีความใหม่ กรอบ 2 ปี มีผลแค่ทางวินัย ไม่ควรยุติคดี
ขณะที่นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ยอมรับว่าประเด็นดังกล่าวนี้ รวมไปถึงการที่ ป.ป.ท.ที่ตัดสินใจส่งคดีกลับมาให้กับ ป.ป.ช. จะกลายเป็นภาระให้กับ ป.ป.ช.ค่อนข้างมาก ในประเด็นที่ถ้าหากพ้นไปเกินสองปีแล้ว ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจไต่สวนต่อไป
“ขณะที่ทาง ป.ป.ช.ก็กำลังทำเรื่องไปทางคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ ก็ต้องรอดูว่าคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นเขาจะว่าอย่างไร”
เมื่อถามว่าจะต้องมีการแก้ไขในรายละเอียดหรือไม่ในอนาคตว่าถ้า ป.ป.ท.ดำเนินการไม่เสร็จแล้วจะทำอย่างไรต่อไป นายนิวัติไชยกล่าวว่า “ตอนนี้เราตีว่ากรอบเวลาของ ป.ป.ท.ต้องใช้กรอบเวลาของ ป.ป.ช. ก็คือตามมาตรา 48 เพราะกฎหมายมันกำหนดอย่างนั้น ก็คือว่าระยะเวลาของ ป.ป.ช.นั้นเอาไปใช้กับทาง ป.ป.ท.ด้วย “
เมื่อถามว่าเคยมีการหารือกับ ป.ป.ท.มาก่อนหน้านี้หรือยัง นายนิวัติไชยกล่าวว่า “ในเรื่องของเวลานั้นยังไม่เคยมีการพูดคุย เพราะว่ากฤษฎีกาเพิ่งจะตีความ”
“ตอนแรกเราคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร เพราะเขาสามารถไต่สวนตามอายุความได้ เช่น 15-20 ปี แต่ว่าในภายหลังมันมีการไปขอความเห็นจากกฤษฎีกา ก็มีการตีความว่าถ้าผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเกินสองปี ป.ป.ท.ไม่มีอำนาจดังนั้นเรื่องนี้ก็เลยได้มีการส่งความเห็นของ ป.ป.ช.ไปแล้วเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆนี้”
เมื่อถามถึงกรณีการเอาผิดผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว ตามหลักการน่าจะดำเนินการอย่างไร นายนิวัติไชยกล่าวว่า “ตามหลักการแล้วควรจะต้องถ้าเป็นคดีอาญา ตามหลักควรต้องยึดเอาตามอายุความว่าเหตุเกิดเมื่อไร 15-20 ปี ไม่ใช่ว่าพ้นผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งไปแล้วสองปี ก็หมดอำนาจการไต่สวนไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาในประเด็นเรื่องสองปีนั้นมีการกำหนดกรอบเอาไว้เพราะว่าถ้าทำไม่แล้วเสร็จให้ไปดำเนินการตรวจสอบเพื่อดำเนินการทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติว่ามีการละเลยการทำหน้าที่หรือไม่อย่างไร แต่จะบอกว่าให้อายุความมันขาดเลยแบบนี้ไม่น่าจะใช่ “
“กรณีของ ป.ป.ท.นั้นควรต้องอาศัยอายุความเช่นเดียวกับในกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งกรณีของ ป.ป.ช.นั้นถ้าทำไม่เสร็จภายใน สองปีก็ต้องไปหาว่าใครเป็นคนรับผิดชอบ ทำไมถึงทำไม่เสร็จ ซึ่งนี่ก็คือกลไกการบังคับและเร่งรัดสำนวน แต่ไม่ใช่ว่าสองปีที่ว่าจะเป็นการไปจำกัดอายุความในการดำเนินคดีด้วย ผมคิดว่ามันน่าจะคนละประเด็นกัน”เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุ
เลขาธิการ ป.ป.ช.ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “เรื่องนี้นั้นต้องไปดูที่กฎหมายของ ป.ป.ท.ด้วย เนื่องจากอาจจะกำหนดรายละเอียดไม่ชัดเจนทำให้ไปเข้าใจว่ากรอบวินัยสองปีในการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการนั้นไปครอบคลุมถึงการดำเนินการทางอาญาด้วย หรือก็คือกฎหมายอาจจะยังเขียนไม่ชัดเจนนั่นเอง”
@ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช./ภาพจาก https://www.dailynews.co.th/
สุดท้ายแล้ว ปัญหาเรื่องนี้ จะจบลงอย่างไร ยังไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนในขณะนี้