บทสรุป กสทช. เรียกผู้รับใบอนุญาต 8 สถานีชี้แจงนำเสนอข่าวโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภูเตือนทางปกครอง แต่ต้องทำตามเงื่อนไขอีก 4 ข้อ ชี้ทำดีกว่ากราดยิงโคราช
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่มี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. เป็นประธาน ได้เรียกตัวแทนผู้รับอนุญาตสถานี โทรทัศน์ดิจิทัล 8 แห่ง ได้แก่ 1.สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 HD , 2.ไทยรัฐทีวี 3.อมรินทร์ ทีวี HD, 4.สถานีโทรทัศน์ช่อง 8, 5.เนชั่นทีวี 6.เวิร์คพอยท์ 7. สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(NBT), 8.ช่องวัน (ONE) เข้าชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวการสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน อบต.อุทัยสวรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและกระทบต่อความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
แหล่งข่าวในคณะอนุกรรมการฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า คณะอนุกรรมการฯ มีมติเตือน ผู้รับใบอนุญาตทั้ง 8 สถานี นอกจากนั้นให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.กำหนดเงื่อนไขให้แต่ละสถานีทำแผนเผชิญเหตุในการทำข่าวและให้ถือปฎิบัติ
2.หากฝ่าฝืนแผนที่จัดทำขึ้นถือผิดเงื่อนไขการรับใบอนุญาต
3.ส่งเรื่ององค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินการสอบสวนทั้ง 8 สถานีว่า มีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่
4.ติดตามตรวจสอบให้นำเนื้อหา ที่ไม่เหมาะสมรุนแรงออกจากช่องทางต่างๆ
@ นักสุขภาพจิตชี้กระทบ 2 กุลุ่ม
สำหรับบรรยากาศในการประชุมนั้น ทางคณะอนุกรรมการฯ เชิญ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตแสดงความเห็นโดย นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การนำเสนอข่าวเหตุการณ์ โศกนาฏกรรม ที่หนองบัวลำภูส่งผลกระทบกับคน 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก ผู้รับข่าวสาร โดยเฉพาะต่อกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มที่มีปัญหาทางจิตใจ คนที่มีความคิดอยากก่อเหตุอันตรายอยู่แล้ว ถ้าติดตามข่าวมาก ๆ ทำให้เกิดการเลียนแบบ ขณะที่กลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้ รู้สึกชินชา เกิดการลดความยับยั้งชั่งใจในการแยกแยะสิ่งไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ
“ดังนั้น การนำเสนอขอให้คำนึงถึงกลุ่มคนเปราะบางที่จะมีผลกระทำต่อสังคม เช่น ภาพความรุนแรง ภาพผู้กระทำ การบรรยายเหตุการณ์อย่างละเอียด การใช้อินโฟกราฟฟิก และการให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวคนกระทำมากเกินไป ไม่ควรทำ ที่แย่ที่สุด คือการไปส่งเสริม ด้วยการหาเหตุผลการก่อเหตุความรุนแรงมานำเสนอ มีการสืบค้นที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะการหาเหตุผลให้ผู้กระทำผิด ถือว่าเป็นการสนับสนุนให้ก่อเหตุ ในมุมจิตวิทยา ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนำเสนอเรื่องนี้ อย่า ทำให้เป็นเรื่องดราม่า สร้างการเร้าอารมณ์"
@ สัมภาษณ์ญาติ คนรอดชีวิตซ้ำบ่อย ๆ สะเทือนใจ
นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่สอง กลุ่มญาติ คนรอดชีวิต จากการไปสัมภาษณ์ซ้ำบ่อย ๆ ทำให้เกิดจินตนาการภาพเหตุการณ์ปรากฏซ้ำ ๆ ที่ส่งผลให้เกิดบาดแผลทางใจ ตอกย้ำการสูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ การถ่ายภาพญาติผู้เสียชีวิตที่มีอาการชัก โศกเศร้าเสียใจอย่างมาก ที่ทำให้เกิดการสะเทือนใจ ทำให้มีการติดตามประเด็นดราม่า ส่วนการติดตามเข้าไปในงานศพ ขอร้อง ให้ระมัดระวังในการเคารพศพและครอบครัว ต้องไม่รบกวนจนเกินไป
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การนำเสนอข่าวและภาพข่าวความรุนแรง หากยึดตามหลักจิตวิทยา จะเกิดการเรียนรู้ - คนจะเลียนแบบวิธีการทางสังคม ขณะเดียวกัน ส่วนตัวรู้สึกสังคมเฉยชากับเหตุการณ์มากขึ้น ทำให้เกิดความหดหู่สิ้นหวัง และการนำเสนอ ยังไปกระตุ้นคนที่มีอาการทางจิตที่ที่มี 10 ล้านคนทั่วประเทศ
“แต่สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ ยอมรับว่าสื่อมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าการนำเสนอเหตุการณ์ที่นครราชสีมา ส่วนการวิเคราะห์ผู้กระทำผิดนั้น ที่ควรเลิกวิเคราะห์แรงจูงใจ เพราะคนที่มาฟังท่อนเดียว หรือฟังด้วยความรู้สึกของตนเอง เพราะกลุ่มคนที่เผชิญปัญหาคล้ายกัน จะยึดเหตุผลนี้ในการเลียนแบบหรือก่อเหตุเพื่อให้ตนเองเป็นตำนาน"
@ ขอให้พักการแข่งขันในการนำเสนอข่าว
สำหรับข้อแนะนำ นพ.วรตม์กล่าวว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ใหญ่ระดับชาติ ขอให้พักการแข่งขันในการนำเสนอข่าว ถ้าไม่มีเรื่องนำเสนอจริงๆ คิดว่าให้นำเสนอเท่าที่มี ไม่ต้องสร้างภาพจำลอง เพราะกระตุ้นอารมณ์ไม่แตกต่างกับภาพเหตุการณ์จริง
นพ.วรตม์กล่าวว่า สำหรับภาพคนตายที่ส่งต่อมาจากคนในที่เกิดเหตุผ่านมาไลน์กู้ภัยมูลนิธิต่างๆ ทางกรมสุขภาพจิตพยายามคุยกับมูลนิธิ แต่ต้องใช้เวลา ขอให้สื่อมวลชนอย่าเอามาขยายในจอใหญ่
@พิรงรอง รามสูต
ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต ยกตัวอย่าง การรายงานข่าว กรณีกราดยิง ไครสต์เชิรช์ ประเทศนิวซีแลนด์ มีการนำเสนอที่เกิดเหตุด้วยคำบอกเล่า มีภาพสถานที่แบ็คกราวน์ (พื้นหลัง) กับตำรวจทำหน้าที่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม
ยอมรับว่าการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ครั้งนี้ดีกว่าที่นครราชสีมาถือว่าไม่ร้ายแรง แต่ที่เรียกมาพบ คือตอบสนอวเพราะมีคนร้องเรียนมา ซึ่งบ่ายนี้จะหารือกับองค์กรวิชาชีพ 3 องค์กรหาแนวทางปฏิบัติต่อไป
@ ไทยรัฐ-ช่อง 3 ยันยึดหลักปฏิบัติ-ไม่ได้ขยี้เอาเรตติ้ง
ด้านตัวแทนไทยรัฐ ทีวีชี้แจงว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนเที่ยงวันที่ 6 ตุลาคม นักข่าวเข้าพื้นที่บ่ายสาม เข้าไปสัมภาษณ์ ต้องคุยกับคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ คือครู และสามีครูที่เสียชีวิต ต้องรายงานตามข้อเท็จจริง เพราะตอนนั้นคนร้ายหลบหนี นำภาพคนร้ายขึ้นเพื่อช่วยทางการติดตามคนร้าย ต่อมา โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งข้อความ ให้หยุดรายงานข่าวภาพความรุนแรง ทุกสถานีก็หยุด ยึดหลักปฏิบัติ เพียงแต่เหตุที่เกิดขึ้ยอยู่ในช่วงเวลาที่ชุลมุน หลังองค์กรหลายแห่งชี้แนวปฏิบัติ ทุกสถานีก็ดำเนินการ
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ชี้แจงว่า ช่วงที่เกิดเหตุ หลายช่องตั้งตัวไม่ทัน แต่หลัง 18.00 น. ทางสถานีตั้งตัวได้ทัน ยืนยันเราปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง ส่วนที่รายการวันนั้นเรตติ้งข่าวขึ้น เป็นเพราะว่า คนอยากรู้เหตุการณ์ สื่อไม่ได้ขยี้เอาเรตติ้งเลย ทุกช่องนำเสนอตามข้อเท็จจริง
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง