เผยสำนวนสอบคดีอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวันช่วยเหลือประกันตัว เจรจาครั้งแรกจัดหนักขอเลย 60 ล้าน ก่อนต่อรองเหลือ 20 แต่ทำไม่สำเร็จถูกถ่ายคลิปทำสัญญาจ้างส่งเรื่องปธ.ศาลอุทธรณ์ภาค 8 สอบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวันที่หลบหนีคดีความฉ้อโกงเงินธนาคารในไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราว โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 10 ต.ค.2565 นี้
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวสำนักงานศาลยุติธรรมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีนี้เพิ่มเติมว่า ในสำนวนการสอบสวนคดีการเรียกรับเงินแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ของ นายฐานันดรดังกล่าว ระบุว่าเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลกลุ่มคนหนึ่ง ติดต่อมายังนายฐานันดร ว่า ให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ผู้ต้องหาในคดีการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ หลังจากถูกจับกุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนตามอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนายฐานันดร ได้ยอมรับที่จะให้ความช่วยเหลือ พร้อมแจ้งตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดเป็นตัวเลขถึง 60 ล้านบาท
"สำนวนการสอบสวนระบุว่าในการติดต่อขอความช่วยเหลือดังกล่าว นายฐานันดร ได้แจ้งตัวเลขวงเงินเพื่อแลกเปลี่ยนในการช่วยเหลือสูงถึง 60 ล้านบาท แต่ในช่วงแรกคนที่มาติดต่อยังไม่ได้ตกลง เนื่องจากเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ก่อนที่จะมีการเจรจายอมตกลงด้วยในภายหลัง" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขั้นตอนการเจรจาของทั้งสองฝ่าย มีการนัดพบกันก่อนที่จะตกลงตัวเลขกันใหม่อยู่ที่ 20 ล้านบาท และมีการยินยอมให้จ่ายเงินล่วงหน้า 1 ล้านบาท และเรียกเงินเพิ่มเติมอีก 3 ล้านบาท แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ศาลฯ กลับไม่อนุญาตเนื่องจากเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง เสี่ยงต่อการหลบหนี จากนั้นนายฐานันดร ได้ไปเรียกเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 7 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นผู้ต้องหาก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองจ่ายเงินส่วนที่เหลือเพิ่ม พร้อมมีการนำเงินมาจ่ายก่อนอีก 9 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่มีการนัดรับมอบเงิน ทางตัวแทนผู้ต้องหามีการแอบบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ รวมไปถึงการทำสัญญาว่าจ้างเรื่องนี้ด้วยว่า ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการให้มีการปล่อยตัวชาวไต้หวันได้จะมีการเงินที่รับไปคืนทั้งหมด แต่ในท้ายที่สุดผู้ต้องหาชาวไต้หวันก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว
"เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัว ตัวแทนผู้ต้องหา จึงมีการทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแต่ไม่สามารถทำได้ ทางศาลฯจึงมีการสอบสวนคดี และส่งผลการสอบสวนให้ ป.ป.ช.จนนำมาสู่การยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีอาญาในชั้นศาลดังกล่าว" แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล และปัจจุบันศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายฐานันดร จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นพฤติการณ์ของ นายฐานันดรเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด