‘รสนา’ ยื่นหนังสือถึง สภา กทม. ไม่รับส่วนต่อขยายที่ 2 สายสีเขียวทั้งหมด ชี้หากรับอาจจะเป็นก้าวแรกนำไปสู่การต่อสัปทาน เห็นด้วยคืนทั้งโครงการไปให้ ‘คมนาคม’ ด้าน ‘ชัชชาติ’ ถอนวาระสายสีเขียวแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ก.ย. 2565 นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม. เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายวิรัตน์ มีนชัยนันทน์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ให้สภา กทม.มีมติไม่เห็นชอบรับโอนทรัพย์สินหนี้สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต มาเป็นหนี้ของกทม. เพราะจะเป็นภาระเกินตัว และจะนำไปสู่การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนหลักที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี 2572 ไปอีก 30 ปี เพื่อแลกหนี้ที่ไม่ใช่ของ กทม. ซึ่งสภา กทม.ควรระวังจะผิด มาตรา 157 ถ้ารับโอนหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2
นางสาวรสนาระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะนำเรื่องแผนจัดการรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย และหนี้สินในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และช่วงอ่อนนุช - สำโรงและส่วนต่อขยายที่ 2 เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา กทม. เพื่อขอให้มีมติแก้ไขปัญหาที่ค้างคาสะสมมาตั้งแต่สมัยอดีตผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนนั้น จึงขอเสนอให้สภา กทม. โปรดพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 เพราะจะทำให้ กทม. ต้องแบกรับภาระเกินตัวจนถึงขั้นล้มละลายได้ และยังถูกบีบต้องแก้ไขหนี้สินด้วยการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักให้เอกชนออกไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับประชาชนคน กทม. ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพงต่อไปอีก 30 ปี
ทั้งที่เมื่อถึงปี 2572 ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดสัมปทานและกลับคืนเป็นของ กทม. ซึ่งจะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้างระบบรางอีก เหลือเพียงค่าจ้างเดินรถและค่าบำรุงรักษาเท่านั้น ดังนั้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงควรถูกลงสำหรับประชาชนชาว กทม. ที่ได้ร่วมกันจ่ายค่าโครงสร้างระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักผ่านค่าโดยสารมาตลอดระยะสัมปทาน 30 ปี (ตั้งแต่ปี 2542 - 2572) นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังจะมีรายได้เชิงพาณิชย์อีกปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท และนี่คือประโยชน์ของชาวกรุงเทพมหานครที่จะได้ค่าโดยสารที่ถูกลง
นางรสนากล่าวตอว่า หากที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบการรับหนี้ส่วนต่อขยายนี้ ซึ่งยังไม่ใช่หนี้ของ กทม. และยังเป็นเส้นทางคาบเกี่ยวนอกเขตที่ไปถึงจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ ภาระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ควรเป็นของ กทม. ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพื้นที่ขอบเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งการไปรับโอนหนี้ส่วนต่อขยายนี้จาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.มาเป็นหนี้ของกรุงเทพมหานครเองนั้น
นอกจากจะไม่ได้ก่อเกิดผลประโยชน์อันใดต่อประชาชนกรุงเทพมหานครแล้ว ยังเป็นกลอุบายเพื่อต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่ไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นสภากรุงเทพมหานครควรมีมติส่งคืนรัฐบาล โดยไม่รับโอนส่วนต่อขยายดังกล่าว ตามคำสั่งของรัฐบาล คสช.
ทั้งนี้ นางรสนาเห็นด้วยกับดำริของนายชัชชาติ ที่เสนอจะยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นรวมทั้งเส้นทางหลัก (ที่ติดสัมปทานถึงปี 2572) คืนให้รัฐบาลบริหารจัดการแบบเจ้าของเดียว เพื่อเป็นการทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกบริหารเป็นระบบเดียวกับรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายในระยะทางรวม 499 กิโลเมตร ด้วยระบบตั๋วใบเดียว ราคาเดียว ในราคาถูกที่สุด ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้ต้องไม่ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี
หากสภา กทม. ให้ความเห็นชอบการรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 จนต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักจะทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครต้องเสียประโยชน์ ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงต่อไปอีก 30 ปี จากมูลเหตุอันไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญหากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครท่านใดที่ลงมติเห็นชอบอาจต้องระวังว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่มีความรับผิดตามมาตรา 157 ด้วยหรือไม่
“จึงขอเสนอให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรับรองการรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (2) เพื่อรักษาผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวกรุงเทพมหานครต่อไป” นางรสนากล่าว
‘ชัชชาติ’ ถอนเรื่องสายสีเขียวออก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัชชาติ ได้ถอนวาระการขอรับฟังความเห็นสมาชิกสภา กทม. ว่าด้วยเรื่อง การกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ออกจากวาระการประชุมสภา กทม. ในวันที่ 14 ก.ย. 2565 เพื่อนำกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ได้เคยเสนอบรรจุเข้าวาระการประชุมสภา กทม. วันที่ 7 ก.ย. มาแล้ว
อ่านประกอบ
เจาะคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เกาะติดท่าที 'กทม.-เคที'อุทธรณ์คดีค่าเดินรถ'สายสีเขียว'
‘ชัชชาติ’ ลุยไฟ ‘สายสีเขียว’ 5.4 หมื่นล้าน ถกสภากทม. บีบรัฐหนุนค่าก่อสร้าง
เคาะอุทธรณ์จ่ายเดินรถ ‘สายสีเขียว’ ‘ธงทอง’ จ่อถก ‘ชัชชาติ’ เพื่อความชัดเจน
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว