‘ชัชชาติ’ เล็งหารือสภากทม. 14 ก.ย.นี้ เพิ่มโจทย์ ‘สายสีเขียว’ ชงขอให้รัฐรับภาระหนี้สินค่าก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 จาก รฟม. 5.4 หมื่นล้าน ขีดหากไม่รับพร้อมโอนคืน ‘คมนาคม-รฟม.’ บริหารเอง ย้อนท่าที ‘ศักดิ์สยาม-ภคพงศ์’ เกรงรับเผือกร้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 กันยายน 2565 จากที่นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ ‘สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)’ กรณีวันที่ 14 ก.ย.นี้ จะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 ประเด็น ได้แก่ การเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอิชต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ, การให้ความเห็นกลับไปกระทรวงมหาดไทย กรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และกรณีศาลปกครองกลางพิพากษาให้ชดใช้หนี้เดินรถและซ่อมบำรุงให้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวน 1.17 หมื่นล้านบาท เข้าหารือกับที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) นั้น
แหล่งข่าวจากทม. เปิดเผยกับ ‘สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)’ ว่า นอกจากทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นแล้ว นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. จะนำประเด็นการดำเนินการตาม บันทึกข้อตกลง (MOU) การรับโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงิน 51,785.37 ล้านบาท ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกทม.เข้าหารือในที่ประชุมสภากทม. วันที่ 14 ก.ย.นี้ด้วย
โดยนายชัชชาติ จะขอความเห็นจากที่ประชุมว่า ในการรับภาระหนี้ วงเงิน 51,785.37 ล้านบาทนี้ จะสามารถขอให้รัฐบาลเข้ามารับภาระหนี้ก้อนดังกล่าวแทน กทม. ได้หรือไม่ โดย กทม.จะยังคงสิทธิในการบริหารการเดินรถ เก็บค่าโดยสารและซ่อมบำรุงในส่วนต่อขยายที่ 2 ตามเดิม
“สาเหตุที่นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันปัญหาหนี้จากรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีมาก ล่าสุด ศาลปกครองกลางก็เพิ่งตัดสินให้แพ้คดี เป็นหนี้มากถึงหมื่นล้านบาท อีกทั้ง กทม. ก็มีภารกิจด้านอื่นที่ต้องใช้เงินเช่นกัน และในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รัฐบาลมักจะเข้ามาสนับสนุนด้านการก่อสร้างทุกโครงการ อย่างกรณีรถไฟฟ้าสายต่างๆ รัฐบาลก็เข้าไปอุดหนุนงานก่อสร้าง แต่ของ กทม. รัฐบาลกลับไม่เคยอุดหนุนเลย ดังนั้น ท่านผู้ว่าจึงต้องการให้รัฐบาลเข้ามาอุดหนุนเมื่อเช่นโครงการอื่นๆ” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ ทิศทางที่วางเอาไว้ หากรัฐบาลเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ กทม.จะยังคงบริหารการเดินรถ จัดเก็บค่าโดยสารและซ่อมบำรุงโครงการในส่วนนี้ต่อไปตามเดิม แต่หากรัฐบาลมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการอุดหนุนค่างานดังกล่าว กทม.ก็อาจจะตัดสินใจยกเลิกภาระการรับโอนหนี้สินทรัพย์สินดังกล่าวจาก รฟม. ไป และโอนส่วนต่อขยายนี้กลับไปให้ รฟม. และกระทรวงคมนาคมบริหารต่อไป
ย้อนท่าที ‘คมนาคม-รฟม.’ คิดหนักหากรับคืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยระบุถึงกรณีนี้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ว่า เรื่องนี้ต้องดูในรายละเอียด เพราะวันนี้สิ่งที่รับโอนไปจาก รฟม.นั้นถูกนำไปดำเนินการในบ้างเรื่องที่ไม่แน่ใจว่ามีระเบียบกฎหมายรองรับหรือไม่ ถ้ามีระเบียบกฎหมายรองรับ แล้วโอนกลับมาที่ รฟม.ก็คงจะไม่มีปัญหา หากไม่มีกฎหมายรองรับแล้วโอนกลับมา เนื่องจาก รฟม.ไม่ใช่คู่สัญญาและมีส่วนเกี่ยวในเรื่องนี้จะให้ รฟม.ทำอย่างไร ดังนั้น แน่นอนว่าหากจะโอนกลับมาต้องไม่มีภาระที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย
โดยนายศักดิ์สยาม ตั้งข้องสังเกตว่า หากโอนกลับมาแล้วปรากฏว่า ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องของการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมายในส่วนที่เป็นภาระที่ทางกระทรวงคมนาคมเคยถามไปทั้ง 4 ประเด็น ก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เช่น กระทรวงคมนาคมสร้าง เมื่อรับไปแล้วนำไปต่อเติม ถามว่า การต่อเติมถูกหรือไม่ เรื่องนี้ก็ยังตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้แล้วเอากลับมา พอกระทรวงคมนาคมนำไปใช้ ก็ต้องรับภาระไปด้วย แล้วถ้าเป็นภาระที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าไม่ถูกต้องขึ้นมา กระทรวงก็ต้องถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) หรือศาลอาญาทุจริตฯ
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
สอดคล้องกับนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม.ที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ว่า แนวคิดที่จะรับโอนกลับมาให้ รฟม. ดูแลนั้น ส่วนตัวมองว่า การดำเนินการโอนหนี้สิน-ทรัพย์ทำมาไกลเกินแล้ว และไม่อยากตอบแบบคาดการณ์อะไรไปล่วงหน้า มันเป็นเรื่องของการแยกก้อนหนี้ส่วนหนึ่งของ รฟม. มารอจำหน่ายให้ กทม. แต่เมื่อขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์ หนี้ก้อนนี้จึงยังอยู่กับ รฟม. ต่อไป อีกทั้ง บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ก็ไปดำเนินติดตั้งงานระบบส่วนต่อขยายหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต อีก การจะไปรับคืน จึงต้องพิจารณาโดยหลักการให้ละเอียดรอบคอบ เหมือนการทำ Due diligence
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
อนึ่ง มูลหนี้ดังกล่าว หากนับรวมถึงสิ้นปีงบประมาณ 2565 ในเดือน ก.ย. 2565 จะมีมูลหนี้รวม 54,284.07 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม
14 ก.ย. ชงสภากทม.ชี้ขาด ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’
ศาลสั่ง ‘กทม.-เคที’ จ่าย 1.1 หมื่นล้าน ปมค้างค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
กทม.ขอ 2 เดือน เคลียร์โอนหนี้สายสีเขียว เผยยอดหนี้ ‘หมอชิต-คูคต’พุ่ง 5.4 หมื่นล้าน