ดีเอสไอ ลุยตรวจขุดดินป่าเทือกเขากมลาเกาะภูเก็ตพิสูจน์ทุนหรือคนจนครอบครองต่อเนื่อง พบแปลงสภาพปลูกต้นยางรอกรีดกว่า 20,000 ต้น บ้านพักคนงานไทยพม่านับสิบห้อง กรมป่าไม้สอบจุดพิกัดอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนส่อบุกรุกทั้งหมด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณีนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีคำสั่งสืบสวนที่ 109/2565 ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนกรณีการบุกรุกที่ดินรัฐที่เป็นที่ดินภูเขาสูงชันในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
- ปริศนาภาพ 'รถแบ็คโฮ' ขุดเขา อ.เมืองภูเก็ต ไม่รู้อยู่ในที่ดินของใคร?
- ปมปริศนาภาพ 'รถแบ็คโฮ'! ป่าไม้เจอร่องรอยขุดตักดินในเขตป่าสงวน-ผู้ดูแลแจงมี น.ส.3
- ขีดเส้น7วันหาพิกัดให้ชัด! นอภ.กะทู้ลุยตรวจซ้ำพื้นที่'อิศรา' แฉขุดเขาภูเก็ตไม่ขออนุญาต
ล่าสุด นายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ 8 นายพันธมิตร ช่วยบำรุง เจ้าหน้าที่คดิเศษ ประจำศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ 8 และนายสุรสีห์ จุลละศร เจ้าหน้าที่คดีพิเศษกองปฎิบัติการพิเศษ เข้าตรวจสอบพื้นที่ต่อเนื่องกรณีการขุดดินซึ่งเป็นที่ดินสูงชันมีการปลูกยางพาราโดยสภาพต้นยางมีการกรีดยางต่อเนื่องมีถ้วยรับน้ำยางและลวดผูกถ้วยยางอย่างดี มีการตัดถนนเป็นวงรอบไล่ระดับความสูงชันจากความสูงชันประมาณ 40 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขึ้นสูงไปถึง ระดับความสูง กว่า 200 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนถนนที่มีการตัดไล่ระดับความสูงมีการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กช่วงที่ผ่านทางน้ำหรือคลองน้ำ และมีการวางท่อคอนกรีตอัดแรงในชั้นความสูงบนถนนที่ความสูง 160 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพื่อให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่คลองที่ต่ำได้สะดวกโดยไม่ตัดผ่านถนน ประมาณการว่าการก่อสร้างถนนสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กท่อคอนกรีตอัดแรงต้องใช้เงินมากกว่า 1 ล้านบาท ตรวจนับต้นยางมีมากกว่า 20,000 ต้น หรือ มีพื้นที่มากกว่า 300 ไร่ พบบ้านพัก (กงซี้) คนงานกรีดยางจำนวนหลายหลังมีคนงานกรีดยางทั้งชาวไทยและพม่ามากกว่า 10 ห้อง
แหล่งข่าวจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 กระบี่กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า "เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ประสานขอทราบรายละเอียดแนวเขตป่าไม้ในพื้นที่ร่อยต่อระหว่างอำเภอเมือง และ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พื้นที่จุดที่มีการขุดตักดินที่เป็นประเด็นทางสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ DSI ได้พบกับนายยงยุทธ หล่อสุพรรณพร ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและรักษาป่าและควบคุมไฟป่าที่ 12 สาขากระบี่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่คดีพิเศษโดยจัดทำรูปแปลงแผ่นที่ป่าเทือกเขากมลาให้กับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเมื่อนำจุดพิกัดการขุดดินมาลงในแผ่นที่ปรากฏว่า บริเวณแปลงขุดดินบนที่ภูเขาสูงชันนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลาทั้งแปลงและพื้นที่ต่อเนื่องติดกันเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราซึ่งเป็นการบุกรุกป่าเทือกเขากมลาทั้งหมด
“ในพื้นที่ป่าของเมืองไทยมีการบุกรุกสร้างแผ้วถางจำนวนมาก แต่ผู้ที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีมีมติให้อยู่ในป่าได้ จะต้องเป็นผู้ยากไร้ยากจน แต่สำหรับจังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่พิเศษผู้ที่อยู่ในป่าในจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้มีอันจะกิน หรือเป็นกลุ่มทุนทั้งสิน ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ป่าที่มีความสูงชันจำนวนมากมีการครอบครองต่อเนื่องจากการทำเหมืองแร่ดีบุกในอดีตซึ่งบางแห่งบางแปลงรัฐอนุญาตให้มีประทานบัตรเหมืองแร่ และเมื่อหมดอายุลงผู้ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาติประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงมีการครอบครองต่อเนื่องไม่ส่งคืนหรือปฎิบัติตามเงื่อนไขของกรมป่าไม้และมีพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต ที่เจ้าของประทานบัตรเดิมขยายพื้นที่เข้าครอบครองพื้นที่ป่าและป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเท่ากับป่าที่สูงชันบนเกาะภูเก็ตผู้บุกรุกยึดถือครอบครองจึงเป็นกลุ่มทุนเกือบทั้งหมดและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนที่เป็นนายเหมืองเก่าหรือญาตินายเหมืองเขาเกือบทั้งหมด” แหล่งข่าวกล่าว