ป.ป.ช.เผยแพร่ผลความคืบหน้าคดีประวัติศาสตร์ คุก 5 ปี 'สมศักดิ์ จันทกุล' อดีต พ.ศาลอุทธรณ์ คดีชู้สาว-เรียกเงิน 3.5 ล.แลกปล่อยตัวจำเลย เป็นทางการ -เห็นชอบตามความเห็น อสส. ไม่ฎีกาต่อ
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษากลับ ตัดสินลงโทษ นายสมศักดิ์ จันทกุล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์ โดยให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งคดีนี้ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพิ่งอ่านคำพิพากษา เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
- คุ้ย “เรื่องลับๆของท่านผู้พิพากษา” จุดเริ่มต้นมติลงโทษบิ๊กตุลาการ 7 ราย
- คดีประวัติศาสตร์ คุก 5 ปี อดีต พ.ศาลอุทธรณ์ คดีชู้สาว-เรียกเงิน 3.5 ล.แลกปล่อยตัวจำเลย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ผลคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ตัดสินคดีนี้เป็นทางการ
ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษากลับ ว่า นายสมศักดิ์ จันทกุล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลย มีความผิดตาม มาตรา 157 ให้จำคุก 5 ปี
หลังจากถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีเรียกรับผลประโยชน์จากคู่ความเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือเรื่องคดีความ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143,157 ประกอบมาตรา 86 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2562
ขณะที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 มีคำพิพากษายกฟ้อง
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 ได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามความเห็นของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่จะไม่ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
อย่างไรก็ดี คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
สำหรับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาตัดสินคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่า คดีนี้ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมศักดิ์ จันทกุล เป็นจำเลย
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตําแหน่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อันเป็นตุลาการที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจักต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณีและจริยธรรมของตุลาการ จักต้องรักษาความลับของทางราชการมิให้รั่วไหลและจักต้องไม่เปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอํานาจตามกฎหมายที่จะล่วงความลับนั้น จักต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งของตนเองแสวงหาประโยชน์อันมิชอบตามกฎหมาย จักต้องไม่รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลใดเกี่ยวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และจักต้องละเว้นการคบหาสมาคมกับคู่ความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความ ทั้งนี้ ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการกําหนดไว้ จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายโดย มีนางนนทิวาหรือ ทัชชญาหรือ อมษีรัตท์ ดาโสภาหรือสุระวิญญหรือเตชจรัสกุลหรือโรจนะรินท์ พวกของจําเลยอีกหนึ่งคน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด
จําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการไม่รักษาความลับของทางราชการ ไม่ให้รั่วไหลโดยให้พวกของจําเลยดังกล่าวซึ่งเป็นภรรยาของบุคคลอื่น ซึ่งจําเลย ได้คบหาสมาคมและมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือประโยชน์ เกี่ยวข้องกับคดีความในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2668/2552 และคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2669/2552 ของศาลอาญา ที่นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ (ชาวต่างชาติ สัญชาติสวีเดน) ถูกฟ้องเป็นจําเลย และมีนางสาวจันทร์ธิมา วัชรพงศ์วณิช เป็นทนายความ ซึ่งได้ติดต่อพวกของจําเลยเกี่ยวกับการขออนุญาตปล่อยชั่วคราว และยื่นอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้ทราบความลับของทางราชการว่าจําเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอํานาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าว และจําเลยยินยอมให้พวกของจําเลยใช้ตําแหน่งผู้พิพากษาของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ตามกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการให้ความช่วยเหลือพวก ของจําเลย เปิดที่ทําการสํานักงานทนายความเพื่อติดต่ออันเกี่ยวกับการดําเนินอรรถคดีทั่วไปและการขอปล่อยชั่วคราวจําเลยในคดีอาญาดังกล่าว และได้ให้เจรจา กับนางสาวจันทร์ธิมา ถึงกรณีที่จําเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์
จนกระทั่ง พวกของจําเลยได้เรียกและรับเงินจํานวน 3,500,000 บาท จากนางสาวจันทร์ธิมา และนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ตอบแทน ในทางมิชอบในการที่จําเลยพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาดังกล่าวซึ่งได้ยื่นคําร้องต่อผู้พิพากษาศาลอาญาแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
เบื้องต้นในการต่อสู้คดีนี้ นายสมศักดิ์ จันทกุล แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจําเลยรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทําสัญญาจ้างให้ประกันตัวจํานวน 3,500,000 บาท ไม่มีพยานยืนยันว่าผู้พิพากษาที่เป็นที่ปรึกษาให้นางนนทิวาและสํานักงานกฎหมายออลสตาร์คือจําเลย คำให้การของพยาน ไม่น่าเชื่อถือ เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อกลั่นแกล้งจําเลย การจ่ายสำนวน ทั้งสองคดีให้จําเลยพิจารณาสั่งประกันนั้นเป็นอํานาจของผู้บริหาร จําเลยมิได้เกี่ยวข้องหรือดําเนินการเพื่อให้ได้สํานวนมา การสั่งประกันทั้งสองคดีเป็น ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายของจําเลย ทั้งเป็นคดีที่จะสามารถให้ประกันตัวได้ ไม่มีข้อห้าม และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ มายืนยันว่าจําเลยได้รับผลประโยชน์ โดยมิชอบจากการสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคดีดังกล่าว
ขณะที่ ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาพิสูจน์ยืนยัน การกระทําความผิดของจําเลยก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเหตุเป็นผลมีน้ำหนักให้รับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนเองในการแสวงหาประโยชน์ อันมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการให้ความช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้รับอนุญาตให้ ปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์เพื่อแลกกับผลประโยชน์เงินจํานวน 3,500,000 บาท ตามที่จําเลยหรือพวกของจําเลยเรียกรับ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะจําเลย กระทําความผิด ก่อนมีการแก้ไขอันเป็นคุณมาบังคับแก่จําเลยตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ให้จําคุก 5 ปี