"...ภายหลังนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนต์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวก็มีการทําสัญญาว่าจ้างนางนนทิวาว่าความ คดีที่นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ถูกฟ้องร้องทั้งหมดในวงเงินถึง 9,200,000 บาท โดยมีการจ่ายเงินในวันทําสัญญาบางส่วนและที่เหลือจ่ายให้เป็นงวด ๆ จํานวนหลายล้านบาท ซึ่งน่าจะเกิดจากความเชื่อถือที่นางนนทิวาดําเนินการจนนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับการประกันตัว โดยเชื่อว่าคดีที่ถูกฟ้อง นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ จะชนะคดี..."
หลายปีก่อน! เคยปรากฏข่าวใหญ่สั่นสะเทือนวงการยุติธรรมประเทศไทย
กรณี ผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การขยายผลตรวจสอบข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในเรื่องต่างๆ และขยายผลมาถึงข้อมูลในส่วนของผู้พิพากษา 7 นายที่ถูกลงมติลงโทษทางวินัย ในเวลาต่อมา ประกอบไปด้วย
1. นายองอาจ โรจนสุพจน์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตรองประธานศาลฎีกา,นายสิงห์พล ละอองมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ไล่ออก)
2. ให้ นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์ ผู้พิพากษาอาวุโส อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ,นายสิทธิชัย พรหมศร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา พ้นจากตำแหน่ง(ให้ออก)
3. ให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้พิพากษาศาลฎีกา 2 นาย
4. ให้ภาคทัณฑ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 (อดีตรองอธิบดีศาลอาญา)
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอไปแล้วว่า ในหนังสือ "เมนูคอร์รัปชัน และการแสวงหาผลประโยชน์" ที่เรียบเรียงจากโครงการ ‘คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชันและการแสวงหาผลประโยชน์’ ที่จัดทำโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ให้ปูมหลังคดีนี้ เอาไว้ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 สบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เพื่อพิจารณาลงมติกรณีมีผู้ร้องเรียนว่า นายสมศักดิ์ จันทกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์
โดยที่ประชุม ก.ต.เห็นว่า สมศักดิ์กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่มีผู้ร้องเรียนจริง จึงมีมติให้ไล่ออกจากราชการ โดยให้สำนักงานศาลยุติธรรมทำหนังสือเสนอโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นยศ พร้อมกับพิจารณาเรื่องการดำเนินคดีอาญา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากคนในวงการยุติธรรมประเทศไทยอีกครั้งว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษากลับตัดสินลงโทษ นายสมศักดิ์ จันทกุล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีพฤติการณ์ฉันชู้สาวกับหญิงที่มีสามีแล้วและเรียกรับผลประโยชน์ ให้จำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่เพิ่งอ่านคำพิพากษาโดยศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อต้นเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
ปรากฏรายละเอียดตามคำพิพากษาดังต่อไปนี้
คดีนี้ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมศักดิ์ จันทกุล เป็นจำเลย
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 14 กันยายน 2552 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตําแหน่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อันเป็นตุลาการที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย มีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจักต้องถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณีและจริยธรรมของตุลาการ จักต้องรักษาความลับของทางราชการมิให้รั่วไหลและจักต้องไม่เปิดเผยความลับแก่บุคคลใดซึ่งไม่มีอํานาจตามกฎหมายที่จะล่วงความลับนั้น จักต้องไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งของตนเองแสวงหาประโยชน์อันมิชอบตามกฎหมาย จักต้องไม่รับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ จากคู่ความหรือจากบุคคลใดเกี่ยวเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และจักต้องละเว้นการคบหาสมาคมกับคู่ความหรือบุคคลอื่นซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคดีความ ทั้งนี้ ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการกําหนดไว้
จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายโดย มีนางนนทิวาหรือ ทัชชญาหรือ อมษีรัตท์ ดาโสภาหรือสุระวิญญหรือเตชจรัสกุลหรือโรจนะรินท์ พวกของจําเลยอีกหนึ่งคน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิด
โดยจําเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการไม่รักษาความลับของทางราชการ ไม่ให้รั่วไหลโดยให้พวกของจําเลยดังกล่าวซึ่งเป็นภรรยาของบุคคลอื่น ซึ่งจําเลย ได้คบหาสมาคมและมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวและเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือประโยชน์ เกี่ยวข้องกับคดีความในคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2668/2552 และคดีอาญาหมายเลขดําที่ อ.2669/2552 ของศาลอาญา ที่นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ (ชาวต่างชาติ สัญชาติสวีเดน) ถูกฟ้องเป็นจําเลย และมีนางสาวจันทร์ธิมา วัชรพงศ์วณิช เป็นทนายความ ซึ่งได้ติดต่อพวกของจําเลยเกี่ยวกับการขออนุญาตปล่อยชั่วคราว และยื่นอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้ทราบความลับของทางราชการว่าจําเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอํานาจหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าว และจําเลยยินยอมให้พวกของจําเลยใช้ตําแหน่งผู้พิพากษาของตนแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ตามกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการให้ความช่วยเหลือพวก ของจําเลย เปิดที่ทําการสํานักงานทนายความเพื่อติดต่ออันเกี่ยวกับการดําเนินอรรถคดีทั่วไปและการขอปล่อยชั่วคราวจําเลยในคดีอาญาดังกล่าว และได้ให้เจรจา กับนางสาวจันทร์ธิมา ถึงกรณีที่จําเลยเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวของนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์
จนกระทั่ง พวกของจําเลยได้เรียกและรับเงินจํานวน 3,500,000 บาท จากนางสาวจันทร์ธิมา และนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ตอบแทน ในทางมิชอบในการที่จําเลยพิจารณาอุทธรณ์คําสั่งคําร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาดังกล่าวซึ่งได้ยื่นคําร้องต่อผู้พิพากษาศาลอาญาแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว แล้วหลายครั้ง
โดยเมื่อนางสาวจันทร์ธิมายื่นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าว ในวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลากลางวัน จําเลยพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ตามที่พวกของจําเลยได้เรียก รับเงิน จํานวนข้างต้น อันเป็น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นผลให้พวกของจําเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจํานวน 3,500,000 บาท
ทั้งนี้ อันเป็นการไม่ยึดถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณีและจริยธรรมของตุลาการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการที่กําหนดไว้ และเป็นการแสวงหาประโยชน์ ในทางมิชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองและผู้อื่น เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อ ทางราชการศาลยติธรรม ประชาชนทั่วไป
ต่อมามีผู้ร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในวันที่ 4 กันยายน 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสํานานการสอบสวน ไปยังสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหตุเกิดที่ แขวงจอมพลและแขวงจตุจักร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จําเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์อุทธณ์โต้แย้งว่า พฤติการณ์ของจำเลยเกี่ยวกับการมีความสัมพันธ์กับนายนนทิวา ฉันชู้สาว โดยนางนนทิวา ได้เรียกรับเงินค่าดำเนินการประตัวผู้ต้องหาในชั้นอุทธรณ์โดยมีการเปิดสำนักงานทนายความไว้รองรับ การที่จำเลยสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ตามที่นางนนทิวา เรียกเรีบเงินนั้นมาจึงมิใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการรู้เห็นนัดหมายกันมาก่อนแล้ว ส่วนจำเลยแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยรู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจ้างให้ประกันตัว จำนวน 3,500,000 บาท ไม่มีพยานยืนยันว่าผู้พิพากษาที่เป็นที่ปรึกษาให้นางนนทิวา และสำนักงานกฏหมายออลสตาร์
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาข้อเท็จจริงเอกสารหลักฐานของ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏล้วนแต่มีความเชื่อมโยงกันระหว่างนางนนทิวากับจําเลยมีเหตุผลความเป็นมาเพียงพอให้มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยอยู่เบื้องหลังการดําเนินการของนางนนทิวา ทั้งหมดในเรื่องคดีความและการติดต่อกับลูกความ โดยที่นางนนทิวาเป็นเพียงผู้ออกหน้าดําเนินการแทนจําเลย
ส่วนที่จําเลยนําสืบในทํานองว่า ไม่เคยเกี่ยวข้อง หรือได้รับผลประโยชน์ใดจากการกระทําของนางนนทิวา รวมทั้งแสดงหลักฐานว่า จําเลยรวมทั้งภริยามีหนี้สินจํานวนมาก ไม่มีเงินฝากในบัญชีหรือได้รับเงินหรือ ผลประโยชน์ใด ๆ จากนางนนทิวา และรถยนต์ที่จําเลยซื้อก็ต้องผ่อนชําระกับ ธนาคารทุกเดือนนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยทําสัญญาซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ ในราคา 2,100,000 บาท ชําระเงินสดในวันทําสัญญา วันที่ 1 ตุลาคม 2552 จํานวน 600,000 บาท ส่วนที่เหลือให้ไฟแนนซ์ 1,500,000 บาท กับธนาคาร ธนชาต จํากัด (มหาชน) แต่ในวันที่ทําสัญญาและจ่ายเงินมัดจํา 600,000 บาท นั้น
จําเลยและภรรยามีหนี้ติดลบในบัญชีในเงินกู้ธรวัฏของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) อยู่กว่าคนละเก้าแสนบาทจากวงเงินกู้หนึ่งล้านบาท แต่จําเลยกลับมีเงินสดถึง 600,000 บาท มาจ่ายเป็นค่ามัดจำรถยนต์โดยที่ไม่ปรากฏว่าเงินดังกล่าวจําเลย ได้รับหรือมีอยู่อย่างไร
ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ล้วนแต่ขัดแย้งกับข้อนําสืบของ จําเลยเองทั้งสิ้น แต่กลับเจือสมกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนางนนทิวา
ปัญหาว่า ที่จําเลยสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ นั้น เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการที่นางนนทิวาทําสัญญากับนางสาวจันทร์ธิมาทนายความของนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ เพื่อให้ได้รับการประกันตัวในศาลอุทธรณ์ในวงเงิน 3,500,000 บาท หรือไม่
เห็นว่าบันทึกข้อตกลงที่นางนนทิวามอบหมายให้ นายนัฐวุฒิ ลงนามแทนกับนางสาวจันทร์ธิมาทนายความของนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ทําขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2552 นั้น เป็นการทําสัญญาให้ทางฝ่ายนางนนทิวาดําเนินการให้นายคู่กรณีนายอีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับการประกันตัว ในชั้นอุทธรณ์ จนศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยในวงเงินค่าดําเนินการ 3,500,000 บาท มีการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารร่วมกันระหว่างนางสาวจันทร์ธิมาและนายนัฐวุฒิ ในวันเดียวกันกับที่มีการทําสัญญา
แสดงว่า นางสาวจันทร์ธิมาได้เตรียมเงินสด จํานวน 3,500,000 บาท มาเพื่อเปิดบัญชีและต้องมีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวนี้มาก่อนแล้วจึงมาทําสัญญากันในเวลาต่อมา
นางสาวจันทร์ธิมาให้ถ้อยคําต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ได้รู้จักและพบนางนนทิวาภายหลังเมื่อนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับการประกันตัวแล้ว
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า สัญญา หรือบันทึกข้อตกลงที่ทําขึ้นนั้นมีเงื่อนไขที่จะจ่ายเงินให้นางนนทิวาประการเดียว
คือ นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจากศาลอุทธรณ์ โดย นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ เคยยื่นประกันตัวต่อศาลอาญามาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวการว่าจ้างให้นางนนทิวาดําเนินการตาม บันทึกข้อตกลงด้วยเงินจํานวนมากขนาดนี้ คงไม่ได้หมายความว่าให้นางนนทิวา เพียงแค่ยื่นคําร้องขอประกันต่อศาลอุทธรณ์เท่านั้น
เพราะการยื่นขอประกันดังกล่าว นางสาวจันทร์ธิมาย่อมสามารถทำได้เองอยู่แล้ว แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นการว่าจ้างเพื่อให้มีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งปรากฏว่าในวันที่ 29 กันยายน 2552 ภายหลังจากมีการทําบันทึกข้อตกลงดังกล่าวประมาณ สองสัปดาห์ จําเลยซึ่งอยู่ในฐานะผู้ที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางนนทิวาและอยู่ในฐานะที่ปรึกษาให้แก่สํานักงานกฎหมายออลสตาร์ที่นางนนทิวาจัดตั้งขึ้น ตามที่ได้มีการวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ได้รับการจ่ายสํานวนคําสั่งคําร้องเรื่องที่ นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ อุทธรณ์คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว รวม 2 คดี โดยที่ประธานศาลอุทธรณ์ผู้จ่ายสํานวนคําสั่งคําร้องให้จําเลยขณะนั้น
ภายหลังถูกคําสั่งให้ออกจากราชการในเรื่องการจ่ายสํานวนและเรื่องการทุจริต สอดคล้องกับที่ผู้ร้องเรียนจําเลยต่อประธานศาลฎีกาได้ให้ข้อมูลไว้บางส่วน ขั้นตอนความเป็นมาของการที่นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับอนุญาตให้ ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์นั้น ยากที่จะเกิดขึ้นโดยบังเอิญตามที่จําเลยโต้แย้ง แต่เป็นกระบวนการวางแผนมาตั้งแต่ต้น แม้การมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว นายคาร์ล อีริคเบอร์กลุนด์ นั้น จะเป็นดุลพินิจของจําเลยและอยู่ในกรอบ ที่สามารถให้ประกันได้ตามที่จำเลยโต้แย้งก็ตาม
แต่กระบวนการที่จะให้นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับการประกันตัวนั้น มีการเรียกรับเงิน วางแผนเป็นขั้นตอน จนกระทั่งจําเลยได้รับสํานวนครั้งร้องและอนุญาตให้ประกันตัว มีการเบิกถอนเงิน ค่าว่าจ้างจํานวน 3,400,000 บาท เข้าบัญชีของนางนนทิวาโดยนายนัฐวุฒิ ตัวแทนทําสัญญาได้รับเงินค่าตอบแทน 100,000 บาท
แม้จะไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า จําเลยได้รับเงินส่วนแบ่งหรือค่าตอบแทนเป็นจํานวนเท่าใดก็ตามเพราะเป็นเรื่องยากที่จะมีหลักฐาน
แต่หากดูจากรายการถอนเงินสดของบัญชีเงินฝากของนางนนทิวาแล้ว เหลือจากฝากเงิน จํานวน 3,400,000 บาท เข้าบัญชีที่เปิดใหม่แล้ว มีการทยอยถอนเงินออกจากบัญชีไปหลายครั้งเป็นเงินหลายล้านบาท โดยที่ไม่ปรากฏข้อมูลหรือข้อเท็จจริงว่านําเงินไปทําอะไร
นางนนทิวาเอง เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทําความผิดกับจําเลยแต่ไม่ได้ตัวมาดําเนินคดี จึงไม่อาจทราบได้ว่าเงินดังกล่าวไปอยู่ที่ใด
นอกจากนี้ภายหลังนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนต์ ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวก็มีการทําสัญญาว่าจ้างนางนนทิวาว่าความ คดีที่นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ถูกฟ้องร้องทั้งหมดในวงเงินถึง 9,200,000 บาท โดยมีการจ่ายเงินในวันทําสัญญาบางส่วนและที่เหลือจ่ายให้เป็นงวด ๆ จํานวนหลายล้านบาท ซึ่งน่าจะเกิดจากความเชื่อถือที่นางนนทิวาดําเนินการจนนายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ ได้รับการประกันตัว โดยเชื่อว่าคดีที่ถูกฟ้อง นายคาร์ล อีริค เบอร์กลุนด์ จะชนะคดี
แม้คดีนี้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาพิสูจน์ยืนยัน การกระทําความผิดของจําเลยก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็นเหตุเป็นผลมีน้ำหนักให้รับฟังได้ โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนเองในการแสวงหาประโยชน์ อันมิชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการให้ความช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้รับอนุญาตให้ ปล่อยชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์เพื่อแลกกับผลประโยชน์เงินจํานวน 3,500,000 บาท ตามที่จําเลยหรือพวกของจําเลยเรียกรับ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะจําเลย กระทําความผิด ก่อนมีการแก้ไขอันเป็นคุณมาบังคับแก่จําเลยตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ให้จําคุก 5 ปี
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
อย่างไรก็ดี ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ยังมีการระบุถึงผลการไต่สวนของเท็จจริง ที่ ป.ป.ช. รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ นางนนทิวาเอาไว้ด้วย
รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในตอนต่อไป