เผยความคืบหน้า 'เลขาฯ พจมาน-สามี' กรณีฟอกเงินกู้กรุงไทย 26 ล. ล่าสุด ดีเอสไอ เห็นตามไม่แย้ง อสส. ส่งผลคดียุติเป็นทางการ หลังหลบหนีมานาน 4 ปี
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวกรณี พนักงานอัยการ กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี ในคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท หลังจากบุคคลทั้งสอง หลบหนีคดีเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี
โดยในช่วงเดือนกันยายน 2564 พนักงานอัยการได้ส่งสำนวนคดีฟอกเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กรณีแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้านบาท ในส่วนของ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี กลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่
- หวั่นซ้ำรอย บอส ! อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีฟอกเงินกรุงไทย 'เลขาฯ พจมาน-สามี' หลังหลบหนี 3 ปี
- เบื้องลึก! อัยการสั่งไม่ฟ้อง 'เลขาฯ พจมาน-สามี' ใช้โอกาส 'เนตร' ชี้ขาดคดีพานทองแท้
- โฆษก อสส. แจงเหตุไม่สั่งฟ้อง 'เลขาฯ พจมาน-สามี' ยึดคำวินิจฉัยศาลยกคดี 'ทักษิณ-โอ๊ค'!
ล่าสุด แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ภายหลังจากที่ ดีเอสไอ ได้รับความเห็นของพนักงานอัยการ ที่จะไม่สั่งฟ้องคดีนี้มาแล้ว ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของพนักงานอัยการ และมีความเห็นชอบตามความเห็นของพนักงานอัยการที่จะไม่สั่งฟ้องคดีนี้ พร้อมเสนอเรื่องให้ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ พิจารณาเป็นทางการแล้ว
" ขณะนี้ นพ.ไตรยฤทธิ์ ได้พิจารณาเรื่องและทำความเห็นส่งไปที่อัยการ ว่าไม่มีความเห็นแย้ง เห็นชอบตามอัยการแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้คดีนี้ถือเป็นอันยุติจบแล้ว" แหล่งข่าวจากดีเอสไอระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับกรณีนี้ ในช่วงเดือนพ.ย.2561 อัยการได้สั่งฟ้องคดีนี้ไปแล้ว เนื่องจาก นางกาญจนาภา และนายวันชัย ไม่เดินทางเข้ารับฟังคำสั่งฟ้องของอัยการตามนัด และหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.2561 ที่ผ่านมา เบาะแสสุดท้ายอยู่ที่เกาะฮ่องกง ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ในขณะนั้นประกาศว่าจะเร่งตรวจสอบประเทศปลายทางว่าหลังจากฮ่องกงแล้วผู้ต้องหาทั้งสองราย ได้เดินทางยังประเทศใดอีกเพื่อให้ทราบถิ่นที่อยู่และส่งเรื่องอัยการสูงสุด (อสส.) ประสานเพื่อขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
ก่อนที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 สำนักข่าวอิศรา จะได้รับการยืนยันว่า พนักงานอัยการ กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ จากนั้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 นายอิทธิพร แก้วทิพย์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เคยเปิดแถลงข่าวกรณีเป็นทางการ ยืนยันว่า พนักงานอัยการ กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา และนายวันชัย จริง เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสอง ร้องขอความเป็นธรรมเพราะคดีที่ฟ้องนาย ทักษิณ ชินวัตร และนายพานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้ง ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ให้เป็นแนวทางปฏิบัติของพนักงานอัยการทั่วประเทศในการดําเนินคดีอาญาไว้ด้วยว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทําความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้อง ในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้วให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคําสั่ง สําหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย
นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังเห็นว่า ทางคดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่าผู้ต้องหา ทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย หรือมีบทบาทหรืออํานาจใด ๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มนายวิชัย กฤษดาธานนท์กับพวกดังกล่าว พนักงานอัยการ เห็นว่า การร้องขอความเป็นธรรม มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคําสั่ง จึงมีคําสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 2 นายวันชัย หงษ์เหิน ผู้ต้องหาที่ 3 ในข้อหาร่วมกัน ฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน พร้อมส่งความเห็นให้ดีเอสไอ พิจารณาว่า จะโต้แย้งความเห็นของพนักงานอัยการที่กลับความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้หรือไม่ตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว