'ประยุทธ เพชรคุณ' รองโฆษก อสส.แจงไทม์ไลน์คดี GT200 ระบุการตรวจเครื่องไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะคดีเดินทางมาถึงที่สุดตั้งแต่ 7 มี.ค.2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ กรณีกองทัพบกระบุถึงอัยการสูงสุดแนะให้ตรวจสอบ เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ทุกเครื่องว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2560 กองทัพบกส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดขอให้จัดพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีปกครองว่าต่างฟ้อง บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกรวม 4 คน เพื่อให้รับผิดตามสัญญาปกครอง กรณีซื้อขายเครื่องจีที 200 รวม 12 สัญญา ทุนทรัพย์ยังไม่รวมดอกเบี้ย 683,900,000 บาท
เมื่อได้รับเรื่องมาจึงได้มอบเรื่องให้ทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ ระหว่างตรวจสำนวน ทางพนักงานอัยการเห็นว่า การที่จะบอกว่าเครื่องนี้ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาหรือเป็นเครื่องที่ใช้การไม่ได้นั้น เป็นสาระสำคัญที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2560 เพื่อให้เป็นข้อเท็จจริงซื้อเป็นข้อยุติเพื่อให้ศาลใช้ประกอบการตัดสินคดี
วันที่ 23 เม.ย.2560 อัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง โดยฟ้อง บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2 ธนาคารกสิกรไทยเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ในฐานะเป็นแบงก์การันตี รับผิดในวงเงินประมาณ 56,000,000 บาท โดยไม่เกิน 56,000,000 บาทเศษ ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 4 ในฐานะแบงก์การันตีรับผิดชอบในวงเงินไม่เกิน 6,000,000 บาทเศษ ซึ่งทุนทรัพย์ที่ยื่นฟ้องไป ณ วันที่ 27 เม.ย.2560 คือจำนวน 687,691,975.49 บาท
ต่อมา วันที่ 28 ธ.ค.2560 ศาลปกครองกลางกลาง สั่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ โดยวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ทางอัยการฝ่ายคดีปกครอง 5 ยื่นอุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ
วันที่ 1 มิ.ย.2560 มีคำสั่งลงมาบอกว่าให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้โดยคดีไม่ขาดอายุความให้ดำเนินการไปตามรูปเรื่อง ทำให้คดีก็ดำเนินการต่อไป และกระบวนการในการตรวจเครื่องจีที 200 ยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่จะต้องดำเนินคดี หลักการมีแค่นี้ ส่วนรายละเอียดจะไปตรวจอย่างไรก็เป็นเรื่องของกองทัพบก หรือตัวความที่ส่งเรื่องไปให้ดำเนินการ
“ตรงนี้มีความสำคัญและต้องเคลียร์ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยกองทัพบกด้วย วันที่ 1 ก.ย.2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งพิพากษาตามคำฟ้องที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 ฟ้องไปว่า เครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่องเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจึงพิพากษา ดังนี้ ให้ บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินให้กับกองทัพบกเป็นเงิน 683,441,561.64 บาท ให้ธนาคารกสิกรไทย ชำระเงิน 56,856,438.87 บาท ให้ธนาคารกรุงเทพ ชำระ 6,195,452.50 บาท ยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้ถูกฟ้องที่สอง เพราะเป็นผู้บริหารและไม่ได้ความว่า ทำเกินขอบข่าย ขอบเขตของนิติบุคคล” นายประยุทธ กล่าว
นายประยุทธ กล่าวย้ำว่า ตรงนี้เรื่องเวลาเป็นสาระสำคัญ ซึ่งวันที่ 8 ก.ย. 2564 สำนักอัยการสูงสุดแจ้งไปยังกองทัพบกเพื่อทราบถึงผลคดีดังกล่าว จากนั้น 23 ก.ย.2564 ผู้ถูกฟ้องทุกคนอุทธรณ์ จนกระทั่งวันที่ 8 มี.ค.2565 อัยการได้อุทธรณ์ในส่วนที่ยกฟ้องคือผู้ถูกฟ้องที่ 2
วันที่ 7 ก.พ. 2565 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยื่นถอนอุทรณ์ นั่นก็คือ บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด จากนั้น วันที่ 7 มี.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้อุทธรณ์ และคดีถึงที่สุด
“สรุปก็คือ ณ วันที่ 7 มี.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุดให้ถอนอุทธรณ์ หมายความว่าคำพิพากษาที่ศาลปกครองกลางให้ บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินตามที่อัยการฟ้องให้กับกองทัพบก 683,441,561.64 บาท จึงเป็นที่สุด ดังนั้นกระบวนการตั้งแต่ 7 มี.ค.2565 รายละเอียดว่าเครื่องจะตรวจหรือไม่อย่างไร จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเลยตรงนั้นมาแล้ว” นายประยุทธ กล่าว
นายประยุทธ กล่าวด้วยว่า คดีที่มันค้างอยู่เหลือแค่ประเด็นที่อัยการอุทธรณ์กรณีนายสุทธิวัฒน์ ในส่วนของธนาคารก็มีวงเงินแบงก์การันตีอยู่แล้ว
ดังนั้นประเด็นที่อัยการมีข้อสั่งการที่สาระสำคัญชี้แพ้ชนะคดีเดินมาถึงที่สุดแล้วตั้งแต่ 7 มี.ค.2565 แล้ว ซึ่งการตรวจรายละเอียดอะไร มันเกินและตกไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงตรงนั้น
นายประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ตามต้องให้ความเป็นธรรมกองทัพบกด้วย เพราะกระบวนการงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ มีไทม์ไลน์ในเรื่องยื่นคำขอต่อสำนักงบประมาณ การรวบรวมคำขอ การตั้งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งคิดว่าตรงนี้อาจจะเป็นส่วนที่ค้างท่อมาเก่า ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งทางอัยการนั้น สั่งการไปแค่ทางคดีให้ไปทำอะไร เพื่อวินิจฉัยว่าจะแพ้ชนะคดีคดีอย่างไร ซึ่งเป็นดุลพินิจของอัยการเจ้าของสำนวนที่ดู ภาพรวมทั้งหมดของคดี ส่วนการจะไปทำอย่างไรนั้นเราไม่ก้าวล่วง
เมื่อถามว่าในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเครื่องจีที 200 ทางอัยการส่งเรื่องไปตั้งแต่ปี 2560 และ ปลายปี 2564 ก็รู้อยู่แล้วว่าชนะ โดยเดือน มี.ค.2565 คดีถึงที่สุดแล้วจึงไม่จำเป็นจะต้องหาข้อเท็จจริงมาต่อสู้ใช่หรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ถูกต้อง ส่วนจะจ้างทำไมนั้น ก็เป็นที่อย่างที่นำเรียน
เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกกระทรวงกลาโหม โยนมาเราก็โยนกลับใช่ไหม นายประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการโยนในเชิงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และรายละเอียดขั้นตอนปฏิบัติซึ่งค่อนข้างชัดเจนแจ่มแจ้ง
ข่าประกอบ :
- เปิดหลักฐาน! กองทัพบกจ้างสวทช.ตรวจGT200 ทำตั้งแต่ช่วง ก.ย.64 รวมยอด 757เครื่อง7.57 ล.
- ใช้ประกอบการฟ้องเอกชนในศาลปกครอง! เปิดประกาศเชิญชวน-รายละเอียดกองทัพจ้างตรวจสอบ GT200
- ขมวดเงื่อนปม-ข้อสงสัย กองทัพบก จ้าง สวทช.ตรวจ GT200 เครื่องละ1หมื่น คุ้มค่าหรือ....?
- ฟังเหตุผลตั้งงบ 7 ล.ตรวจไม้ล้างป่าช้า - “จีที 200” ถึง “เรือเหี่ยว” สะเทือนกองทัพ
- เปิดคำพิพากษาจีที 200 กองทัพบก ชนะได้ชดใช้ 687ล. ผลตรวจสอบ 757 เครื่องสำคัญจริงหรือ?
- ปริศนาใหม่? ทบ.ออกประกาศเชิญชวนจ้างตรวจจีที 200 ก่อนหรือหลัง ลงนามสัญญาแรก 3.2 ล.