สวทช. แจงแล้ว! กองทัพบกจ้างตรวจเครื่อง GT200 757 เครื่อง 7,570,000 บาท ยันทดสอบตามหลักมาตรฐานสากล เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง เผยค่าบริการ 1 หมื่นบาท/เครื่อง คำนวณจากวัสดุอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ สารเสพติด ราคาถูกกว่าต่างประเทศ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี กองทัพบก ทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 2 ครั้ง รวม 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท แยกเป็นครั้งแรกเดือนกันยายน 2564 จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3,200,000 บาท ครั้งสอง จำนวน 437 เครื่อง วงเงิน 4,370,000 บาท ประกาศผลเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565
- เปิดหลักฐาน! กองทัพบกจ้างสวทช.ตรวจGT200 ทำตั้งแต่ช่วง ก.ย.64 รวมยอด 757เครื่อง7.57 ล.
- ใช้ประกอบการฟ้องเอกชนในศาลปกครอง! เปิดประกาศเชิญชวน-รายละเอียดกองทัพจ้างตรวจสอบ GT200
- ขมวดเงื่อนปม-ข้อสงสัย กองทัพบก จ้าง สวทช.ตรวจ GT200 เครื่องละ1หมื่น คุ้มค่าหรือ....?
- ฟังเหตุผลตั้งงบ 7 ล.ตรวจไม้ล้างป่าช้า - “จีที 200” ถึง “เรือเหี่ยว” สะเทือนกองทัพ
ล่าสุด สวทช. ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้ว่า ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยให้บริการ ซึ่งดำเนินการวิเคราะห์ ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้มาตรฐานสากล ได้รับการประสานจากกรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง ว่าใช้งานได้หรือไม่ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง การทดสอบจึงต้องดำเนินการตามหลักการทดสอบทุกรายการที่มีการดำเนินการทดสอบเครื่อง GT200 และใช้เป็นบรรทัดฐานของข้อมูลประกอบการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้
การดำเนินการทดสอบทุกรายการต้องดำเนินการตามหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน และเชื่อถือได้ในชั้นการพิจารณาของศาล ทั้งการตรวจวัดไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง
สำหรับค่าบริการทดสอบทั้งหมด ศูนย์ PTEC คำนวณจากการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้สารเสพติดและวัตถุระเบิดในการทดสอบ เพื่อให้ได้คุณภาพของผลการทดสอบตามเอกสารว่าจ้างที่ระบุทุกรายการ ทั้งนี้ ค่าบริการดังกล่าวมีราคาถูกกว่าการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่างประเทศ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. ปฏิบัติหน้าที่ในทุกภารกิจบนหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบนพื้นฐานในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และขอยืนยันเจตนารมณ์ในฐานะองค์กรวิจัยและพัฒนาที่จะใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศต่อไป