ครม.ไฟเขียว 'ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม' เปิดทางลูกจ้างนำ ‘เงินกรณีชราภาพ’ ไปค้ำประกันเงินกู้แบงก์-เบิกมาใช้บางส่วนได้ พร้อมเพิ่มสิทธิประโยชน์อีก 3 กรณี ขยายอายุผู้ประกันตนเป็น 65 ปี
................................
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ และการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ได้แก่ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ การเพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร และการเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯดังกล่าว ยังขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม "อายุ 60 ปีบริบูรณ์ " เป็น "อายุ 65 ปีบริบูรณ์"
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมประเภทประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เงินบำนาญชราภาพ ,เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้า จากเดิมที่มี 2 ประเภท ได้แก่ เงินบำนาญชราภาพ และเงินบำเหน็จชราภาพ
2.แก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ โดยให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก) จากเดิมที่ให้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพเท่านั้น รวมทั้งให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน) หรือนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
3.แก้ไขเพิ่มเติมอายุขั้นสูงของผู้ประกันตน โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม "อายุ 60 ปีบริบูรณ์ " เป็น "อายุ 65 ปีบริบูรณ์" เพื่อให้แรงงานกลุ่มผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองจากประกันสังคม
4.การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น ได้แก่ เพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ โดยเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ,เพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร โดยเพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้างจากเดิมเป็นระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลา 98 วัน หรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
และเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน
นายธนกร ระบุว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุจะได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบสามารถ เลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติม โดยใช้เงินกรณีชราภาพที่ตนจะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุนแต่จะทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนขอเลือกขอคืนและขอกู้ อาจทำให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงทางเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว
“การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันรวมทั้งเป็นการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพื่อให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมสร้างหลักประกันทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นกับผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย”นายธนกร กล่าว
อ่านประกอบ :
2 ปี วิกฤติโควิด สะเทือนฐานะ 'กองทุนประกันสังคม' ชงขยับ 'เพดานค่าจ้าง' แบบขั้นบันได
รายงาน ค.ต.ป.!ชี้ช่องโหว่ทุจริต เบิกค่ารักษาพยาบาล‘ประกันสังคม-บัตรทอง-สวัสดิการ ขรก.’
กรมบัญชีกลางเผย ขรก.ป่วยโควิดแยกกักตัวที่บ้าน เบิกค่ารักษาเหมาจ่ายได้ 1 พันบาท
เสียงเตือน‘สตง.-TDRI’อุดช่องโหว่ ค่ารักษาพยาบาล‘ขรก.’ ปีงบ 64 เบิก 8.5 หมื่นล.พุ่ง 19%
กรมบัญชีกลางเผยข้าราชการเสี่ยงหรือติดโควิดเบิกตรงได้ ไม่ต้องทดรองจ่าย
แก้เกณฑ์เบิกจ่ายตรง! 'กรมบัญชีกลาง' คุมค่ารักษาพยาบาล 7.4 หมื่นล้าน-พบทุจริตฟันอาญา
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงข่าวลือ ยืนยัน! 'ขรก.' ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนเดิม