‘กรมทางหลวง’ แจงกรณี ‘เสาหลักนำทางยางพารากลวง'-สอดไส้ ‘ไม้ไผ่-ไม้ยูคาฯ’ เพื่อเพิ่มความ ‘สะดวก-รวดเร็ว’ ในการติดตั้ง ยันจัดซื้อจัดจ้างฯถูกต้องตามหลักเกณฑ์
.................................
สืบเนื่องจากกรณีเพจเฟซบุ๊ก ‘ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน’ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ‘เสาหลักนำทางยางพารา’ บนทางหลวงสายหนึ่งใน จ.น่าน ที่มีสภาพชำรุดและหักล้มลง ซึ่งเมื่อเข้าไปตรวจสอบก็พบว่า ภายในเสาหลักนำทางยางพาราดังกล่าว เป็นเสาหลักที่มีไม้สอดไส้อยู่ตรงกลาง และจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า กรมทางหลวงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดจ้างเสาหลักนำทางยางพาราดังกล่าวในช่วงปี 2563-64 โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,860-2,050 บาท/ต้น นั้น
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. กรมทางหลวง ได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีหลักนำทางยางพาราที่ติดตั้งบนทางหลวงที่ จ.น่าน ตามที่มีข่าวปรากฏในโซเชียล โดยอ้างคำพูดนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ว่า เสาหลักนำทางยางธรรมชาติดังกล่าวได้ทำการออกแบบตามมาตรฐานตามข้อกำหนด โดยมีคณะกรรมการที่เข้ามาร่วมดำเนินการหลายฝ่าย
ขณะที่เสาหลักนำทางดังกล่าว แขวงทางหลวง เป็นผู้ดำเนินการซื้อโดยตรงจากสหกรณ์ชาวสวนยาง และนำมาติดตั้งเมื่อเดือน ก.ค.2564 บนสายทางที่มีอุปกรณ์นำทาง (เสาหลักนำทาง , Guide Post) ไม่ครบถ้วน หรือทดแทนของเดิมที่ชำรุดเสียหาย เพื่อนำทางแก่ผู้ใช้ทางในเวลากลางคืน หรือในขณะที่มีทัศนวิสัยไม่ดี รวมถึงลดความรุนแรงและความสูญเสียจากยานพาหนะที่เสียหลักไปชนเสาหลักนำทาง โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่เสียหลักจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาผลิตหลักนำทางยางธรรมชาติ จึงได้มีการออกแบบให้ด้านในเป็นเสาหลักกลวงและมีความยืดหยุ่น ซึ่งเมื่อนำไปติดตั้งบนทางหลวง ได้มีการประยุกต์ใส่แกนลงในเสา เช่น ไม้ไผ่ และไม้ยูคาลิปตัส เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดตั้ง และสามารถติดตั้งได้รวดเร็วขึ้น ส่วนการคิดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของของทางราชการ โดยราคาเสาหลักนำทางจะแปรผันตามราคายางพารา
“การดำเนินการติดตั้งเสาหลักนำทางยางพาราบนทางหลวง เป็นไปตามหลักวิศวกรรมงานทาง เพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้ทาง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางตกต่ำ และขอยืนยันว่าเป็นการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทุกประการ” นายสราวุธ กล่าว
นายสราวุธ ระบุด้วยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้มีการนำยางพารามาใช้ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตามนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ โดยใช้เสาหลักนําทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อสนับสนุนการใช้ยางพารา โดยบูรณาการความร่วมมือทำข้อตกลง (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์
1.เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและระบายผลผลิตยางพาราอย่างเป็นรูปธรรม และ2.เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุยางพารามีความยืดหยุ่น
ต่อมา กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดซื้อตรงกับกลุ่มเกษตรกรได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยกรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดซื้อกับร้านค้าสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือต้องการขอความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)
อ่านประกอบ :
ทรัพย์สิน 33 ล.อธิบดีกรมทางหลวง'สราวุธ'ถือเงินสด 4 แสน พระเครื่อง-ภาพเขียน 1.8 ล.
ย้อนปม ‘แบริเออร์ยางฯ’ เผือกร้อน ‘อธิบดี ทช.’คนใหม่ สำนักงบฯคุมจัดซื้อเหตุต้นทุนสูง
รายที่ 2! ‘อธิบดีกรมเจ้าท่า’ ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ-อ้างต้องดูแลครอบครัว
ตีตกแบริเออร์ยาง-เสานำทาง 4 หมื่นล้าน! คกก.กลั่นกรองฯเบรก 'คมนาคม' ใช้เงินกู้โควิด