“ท่าน รมว.คมนาคม มีนโยบายอยู่แล้วว่า จะให้ ทล. และ ทช. ทำโครงการแบริเออร์ยางฯเท่าไหร่ ซึ่งโครงการฯมีระยะเวลา 3 ปี ก็จะดำเนินการให้ได้ตามนโยบายส่วนงบปี 2565 ของ ทช. ที่จะนำไปทำโครงการแบริเออร์ยางฯ นั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่ได้เข้าไปทำงานที่กรมฯอย่างเป็นทางการ” อภิรัฐ กล่าว
.............................
ในห้วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา
เกิดเหตุการณ์ที่ชวนให้สังคมเกิดข้อสงสัย หลังข้าราชการระดับ ‘อธิบดี’ ของกระทรวงคมนาคม 2 ราย ยื่นหนังสือลาออกจากราชการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่
ปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งเหลืออายุราชการอีก 1 ปี ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการเมื่อวันที่ 14 ก.ย.2564 โดยระบุสาเหตุของการลาออกว่า มีปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ดี การลาออกของ ปฐม นั้น มีขึ้นหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติย้าย ปฐม ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม
วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ซึ่งเหลืออายุราชการอีก 3 ปี ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2564 โดยระบุเหตุผลของการลาออกว่า ‘ต้องดูแลครอบครัว’ (อ่านประกอบ : รายที่ 2! ‘อธิบดีกรมเจ้าท่า’ ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ-อ้างต้องดูแลครอบครัว)
(ปฐม เฉลยวาเรศ)
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ข้าราชการกระทรวงคมนาคมว่า สาเหตุที่ข้าราชการระดับสูงทั้ง 2 ราย ยื่นหนังสือลาออกจากราชการนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับแรง ‘กดดัน’ ในการทำงานอย่างหนัก เพื่อทำงานให้ได้ตาม 'เป้าหมาย' ที่กำหนดไว้
โดยเฉพาะกรณีของ ปฐม ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงชนบท นั้น ถูกคาดหวังจาก ‘ฝ่ายการเมือง’ ให้เร่งรัดผลักดัน ‘โครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และโครงการติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RFP) ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
“หลัง ครม.อนุมัติให้กรมทางหลวง และ ทช. ทำโครงการแบริเออร์ยาง และเสานำทาง เมื่อปีที่แล้ว แต่การดำเนินการในส่วนที่ ทช. รับผิดชอบ ไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุของการย้ายนายปฐม ก่อนที่นายปฐมจะลาออก” แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ดังนั้น สำนักข่าวอิศรา จึงขอสรุปที่มาที่ไปของโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางพารา (RFB) และโครงการติดตั้งหลักนำทางยางพารา (RFP) ซึ่งอาจเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่การโยกย้ายอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ดังนี้
@ชง‘ครม.’ ของบ ‘แบริเออร์ยาง-เสานำทาง’ 8.3 หมื่นล้าน
เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2563 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาให้เห็นชอบ ให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ขอรับจัดสรรงบปี 2564 และงบปี 2565 ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางพารา และโครงการติดตั้งหลักนำทางยางพารา 8.3 หมื่นล้านบาท
แบ่งเป็น โครงการแบริเออร์ยางและโครงการเสานำทางยางพาราฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทล. วงเงิน 76,335 ล้านบาท และโครงการแบริเออร์ยางและโครงการเสานำทางยางพาราฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช. วงเงิน 6,835 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น กระทรวงคมนาคม ขอให้ ครม.เห็นชอบให้ ทล. และ ทช. แก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอลฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ลงนามสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบ 2563 เป็นผิวทางแบบแอลฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) เพื่อนำวงเงินที่ปรับลดได้ 2,500 ล้านบาท มาทำโครงการแบริเออร์ยางและเสานำทางยางพารา
กระทรวงคมนาคม ยังขอให้ ครม. แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีต (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชวนสวนยางด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท สามารถ ‘จัดซื้อ’ แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติ จาก ‘ร้านสหกรณ์’ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ‘โดยตรง’ โดยใช้ ‘วิธีเฉพาะเจาะจง’ แม้ว่าการจัดซื้อแต่ละครั้งจะมีวงเงินเกิน 500,000 บาท ก็ตาม
@‘ครม.’รับทราบแนวทาง-ให้ขอรับจัดสรรงบจาก ‘สำนักงบฯ’
อย่างไรก็ตาม ครม.มีมติเพียง ‘รับทราบ’ แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบคอนกรีต (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเท่านั้น
ส่วนงบประมาณในโครงการแบริเออร์ยางและเสานำทางยางพารานั้น ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ “…ให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จัดทำแผนการปฏิบัติงานตามความจำเป็นและเหมาะสมเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป”
ต่อมากระทรวงคมนาคม เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ (พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท) ขอรับการจัดสรรงบเงินกู้ เพื่อใช้ในโครงการแบริเออร์ยางและเสานำทางยางพารา วงเงิน 40,179 ล้านบาท แต่คณะกรรมการกลั่นกรองฯ มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2563 ‘ไม่อนุมัติ’ จัดสรรเงินกู้ให้กับทั้ง 2 โครงการ
คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อให้การดำเนินการเป็นอย่างเหมาะสม เกิดความคุ้มค่าอย่างแท้จริง
คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ยังเห็นว่า
“…กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เห็นควรให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางพารา อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์” (อ่านประกอบ : ตีตกแบริเออร์ยาง-เสานำทาง 4 หมื่นล้าน! คกก.กลั่นกรองฯเบรก 'คมนาคม' ใช้เงินกู้โควิด)
@ครม.อนุมัติงบกลาง 2.7 พันล. ทำ ‘แบริเออร์ยาง-เสานำทาง’
อย่างไรก็ดี ต่อมาในวันที่ 25 ส.ค.2563 กระทรวงคมนาคม ทำเรื่องเสนอ ครม. อีกครั้ง โดยเสนอให้ ครม.จัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบ 2563 วงเงิน 4,441.50 ล้านบาท เพื่อทำโครงการแบริเออร์ยางและโครงการเสานำทางยางพารา ระยะที่ 1 ของ ทล. และ ทช. ประกอบด้วย
1.เสนอขอรับจัดสรรงบกลางให้ ทล. 2,866.10 ล้านบาท เพื่อทำโครงการแบริเออร์ยาง 201 กม. วงเงิน 2,566.1 ล้านบาท และทำโครงการเสานำทางยางพารา 134,452 ต้น วงเงิน 300 ล้านบาท
2.เสนอขอรับจัดสรรงบกลางให้ ทช. 1,575.40 ล้านบาท เพื่อทำโครงการแบริเออร์ยาง 109 กม. วงเงิน 1,129.40 ล้านบาท และทำโครงการเสานำทางยางพารา 200,000 ต้น วงเงิน 446 ล้านบาท
แต่ทว่า ครม. มีมติจัดสรรงบกลางฯ เพื่อทำโครงการแบริเออร์ยางและโครงการเสานำทางยางพาราเพียง 2,771.17 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนงบที่เหลืออีก 1,650.32 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ใช้จ่ายจากงบเหลือจ่ายที่ได้จากการแก้ไขสัญญางานสร้างผิวทางแบบ PARA AC มาเป็นผิวทางแบบ AC จำนวน 1,050.32 ล้านบาท และขอรับจัดสรรงบปี 2564 เพิ่มเติมอีก 600 ล้านบาท
นอกจากนี้ ครม. ให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ราคายางพาราอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการแต่ละช่วง
"การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถระบายกำลังการผลิตยางพารา และเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้ถนน แต่ก็ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงต้องพิจารณาเลือกจุดดำเนินการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับอย่างเคร่งครัด...
รวมทั้งกำกับดูแล การผลิตและการติดตั้งให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนติดตามการปรับปรุงแก้ไขกฏกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563
เพื่อให้กระทรวงคมนาคมสามารถจัดซื้อยางพาราตรงกับสถาบันเกษตรกร พร้อมทั้งจัดทำแบบรูปรายการและประมาณราคา หากดำเนินการครบถ้วนแล้ว จึงขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป" หนังสือสำนักงบประมาณ ด่วนที่สุด ที่ นร. 0720/17291 ลงวันที่ 25 ส.ค.2563 ระบุ
@'ทช.'เน้นอีบิดดิ้งประมูล 'แบริเออร์ยาง' ประหยัด 5-6%
จากนั้น กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ทยอยเปิดประมูลโครงการแบริเออร์ยางและโครงการเสานำทางยางพารา โดยใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้าง 3 วิธี ได้แก่ ‘วิธีเฉพาะเจาะจง’ , 'วิธีคัดเลือก' และ ‘วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์’
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลในระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ 'ภาษีไปไหน?' พบว่า ในปีงบ 2563 กรมทางหลวงชนบท มีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) อย่างน้อย 12 รายการ วงเงิน 279.08 ล้านบาท ไม่ปรากฎรายการจัดซื้อของกรมทางหลวง
สำหรับประกวดราคาจ้างก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางฯดังกล่าว กรมทางหลวงชนบท เลือกใช้ 'วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)' 11 โครงการ มีเพียง 1 โครงการที่ใช้วิธีการ 'คัดเลือก' เช่น
ประกวดราคาจ้างก่อสร้างก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) ถนนสาย นบ.1002 แยกทางหลวงหมายเลข 9-บ้านหนองเพรางาย อ.บางบัวทอง,ไทรน้อย จ.นนทบุรี จำนวน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 49.9 ล้านบาท โดยราคาตกลงจ้างอยู่ที่ 46.68 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 3.22 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.45%
ประกวดราคาจ้างก่อสร้างก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) ถนนสาย นฐ.3004 แยกทางหลวงหมายเลข 346 - บ้านศาลายา อ.บางเลน,พุทธมณฑล จ.นครปฐม จำนวน 1 แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 48.89 ล้านบาท โดยราคาตกลงจ้างอยู่ที่ 45.98 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2.91 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.95%
และการจ้างก่อสร้างจ้างเหมางานโครงการปรับปรุงถนน ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) ถนนสาย สต.4004 แยกทางหลวงหมายเลข 4137 - น้ำตกดาวกระจาย อำเภอควนกาหลง, มะนัง จังหวัดสตูล ปริมาณงาน 1 แห่ง โดยวิธีคัดเลือก ราคากลาง 11.77 ล้านบาท โดยราคาตกลงจ้างอยู่ที่ 11.65 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.2 แสนบาท หรือคิดเป็น 1.01% เป็นต้น
(ที่มา : ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ 'ภาษีไปไหน?' : ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยาง)
@พบ 'ทล.' จัดซื้อ 'วิธีเฉพาะเจาะจง' ควบคู่ 'อีบิดดิ้ง'
ขณะที่ปีงบ 2564 กรมทางหลวงชนบท มีการจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ อย่างน้อย 1 รายการ วงเงิน 8.32 ล้านบาท ขณะที่กรมทางหลวง มีการประกวดราคาโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ อย่างน้อย 11 รายการ วงเงิน 288.23 ล้านบาท
ส่วนวิธีการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ พบว่า กรมทางหลวง มีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้ 'วิธีเฉพาะเจาะจง' 5 โครงการ และ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 6 โครงการ เช่น
โครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier RFB) ประจำปีงบประมาณ 2563 ค่าแผ่นยางธรรมชาติหุ้มกำแพงคอนกรีตแขวงทางหลวงลพบุรีที่ 1 โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ราคากลาง 86.49 ล้านบาท โดยราคาตกลงจ้างอยู่ที่ 86.19 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 3 แสนบาท หรือคิดเป็น 0.34%
โครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ(Rubber Fender Barrier RFB) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ค่าแผ่นยางธรรมชาติหุ้มกำแพงคอนกรีต แขวงทางหลวงสระบุรี โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ราคากลาง 35.94 ล้านบาท โดยราคาตกลงจ้างอยู่ที่ 35.94 ล้านบาท เท่ากับราคากลาง
และการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานจ้างเหมาก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Berrier RFB) งานจ้างเหมาก่อสร้างกำแพงคอนกรีต (Single Slope Barrier) จำนวน 32 รายการ ทางหลวงหมายเลข 1317 ตอนควบคุม 0102 ตอน สันกลางใต้ - ห้วยแก้ว ตอน 1 ระหว่าง กม.7+000 - กม.12+500 (เป็นแห่ง ๆ) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 43.64 ล้านบาท โดยราคาตกลงจ้างอยู่ที่ 43.60 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางประมาณ 4 หมื่นบาท หรือคิดเป็น 0.022% เป็นต้น
(ที่มา : ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ 'ภาษีไปไหน?' : ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยาง)
@ ‘อภิรัฐ’ ยันเดินหน้า ‘แบริเออร์ยางฯ’ ให้เป็นไปตามแผน
ด้าน อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบทคนใหม่ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ได้ย้ายเข้าไปทำงานที่กรมทางหลวงชนบท และพร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการแบริเออร์ยางฯห้สำเร็จตามนโยบาย รมว.คมนาคม
“ท่าน รมว.คมนาคม มีนโยบายอยู่แล้วว่า จะให้ ทล. และ ทช. ทำโครงการแบริเออร์ยางฯเท่าไหร่ ซึ่งโครงการฯมีระยะเวลา 3 ปี ก็จะดำเนินการให้ได้ตามนโยบายส่วนงบปี 2565 ของ ทช. ที่จะนำไปทำโครงการแบริเออร์ยางฯ นั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่ได้เข้าไปทำงานที่กรมฯอย่างเป็นทางการ” อภิรัฐ กล่าว
(อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย)
แม้ว่าการเดินหน้าผลักดัน โครงการการแบริเออร์ยางและโครงการเสานำทางยางพารา อาจเป็น ‘เผือกร้อน’ ชิ้นหนึ่ง ในมือของอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ‘คนใหม่’ ที่ชื่อ ‘อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย’ แต่ทว่าหากพิจารณาจากงบปี 2565 ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้รับจัดสรร 45,851 ล้านบาทแล้ว
จึงต้องจับตามองว่า ‘อภิรัฐ’ จะทำงานเข้าตาฝ่ายการเมืองหรือไม่!
อ่านประกอบ :
รายที่ 2! ‘อธิบดีกรมเจ้าท่า’ ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ-อ้างต้องดูแลครอบครัว
ตีตกแบริเออร์ยาง-เสานำทาง 4 หมื่นล้าน! คกก.กลั่นกรองฯเบรก 'คมนาคม' ใช้เงินกู้โควิด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage