คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ เบรก 'คมนาคม' ในเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ ดำเนินโครงการก่อสร้างเสาหลักนำทาง-คอนกรีตหุ้มยางพารา วงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท 'สภาพัฒน์-สำนักงบฯ' ชี้ไม่ช่วยยกระดับราคาและรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน เสนอทำโครงการนำร่อง และให้ใช้งบประมาณปกติดำเนินการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ได้รายงานให้ ครม.รับทราบถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ครั้งที่ 13/2563
อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณากลั่นกรองโครงการฯครั้งนี้ มีอย่างน้อย 3 โครงการที่เสนอขอใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ แต่คณะกรรมการกลั่นกรองฯไม่เห็นชอบให้ใช้เงินกู้ แต่ให้ไปใช้งบประมาณในส่วนอื่นแทน แบ่งเป็นโครงการที่เสนอโดยความรับผิดชอบของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 40,179.46 ล้านบาท และโครงการที่เสนอโดยความเห็นชอบของกระทรวงพลังงงาน วงเงิน 1,187.64 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) วงเงิน 38,477.29 ล้านบาท เพื่อจัดหาและติดตั้งกำแพงคอนกรีต รวมถึงจัดหาและติดตั้งแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยานพาหนะข้ามไปฝั่งตรงข้าม แบ่งเป็นการ งานก่อสร้างในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ระยะทาง 5,462 กิโลเมตร วงเงิน 36,101 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท ระยะทาง 280.81 กิโลเมตร วงเงิน 2,376.29 ล้านบาท
โดยกระทรวงคมนาคม ให้เหตุผลในการเสนอโครงการดังกล่าวว่า เป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราจากสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การรับรอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และระบายผลผลิตยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดว่า ทั้งโครงการจะใช้น้ำยางสด 443,643 ตัน เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อน้ำยาง รวม 11,039.66 ล้านบาท
(รายละเอียดโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ)
2.โครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน (Rubber Guide Post : RGP) วงเงิน 1,702.17 ล้านบาท เพื่อลดความเสี่ยงความรุนแรงของอุบัติเหตุบนทางหลวง เนื่องจากขาดการนำทางที่ดีหรืออุบัติเหตุ แบ่งเป็นงานก่อสร้างในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ระยะทาง 134,452 กิโลเมตร วงเงิน 300 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบาท ระยะทาง 705,112 กิโลเมตร วงเงินรวม 1402.17 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม คาดว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้มีการซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกร รวม 31,903 ตัน และมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างน้ำยางสดเป็นเงิน 1,062.20 ล้านบาท
(โครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน)
3.โครงการลดต้นทุนพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 1,187.64 ล้านบาท เพื่อให้เงินอุดหนุนสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์และก่อสร้างแบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการเกษตรขนาดเล็กในระดับครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานแบบพึ่งพาตนเอง และเพื่อให้เงินอุดหนุนสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีพลังงานให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ เห็นว่าโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ และโครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ ที่เสนอโดยกระทรวงคมนาคมนั้น ไม่ควรใช้เงินกู้ แต่ให้หน่วยงานดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีแทน
"แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มปริมาณความความต้องการน้ำยางในช่วงก่อสร้างได้ แต่คณะกรรมการฯเห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถยกระดับราคายางพาราและรายได้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ จึงมีมติให้ 2 โครงการดังกล่าว ใช้เงินงบประมาณปกติ โดยให้กำหนดแผนดำเนินโครงการออกเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมและจำเป็น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเหมาะสมเกิดความคุ้มค่าอย่างแท้จริง โดยอาจทำนำร่องในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุในอัตราสูงเป็นลำดับแรก" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังให้ความเห็นว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรชาวสวนยางพารา เห็นควรให้ดำเนินการโครงการหรือกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตร อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
ส่วนโครงการที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการฯเห็นควรให้ทบทวนโครงการ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการไม่สอดคล้องกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และซ้ำซ้อนกับโครงการต่างๆ ที่เป็นภารกิจของกระทรวงอยู่แล้ว อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ที่สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนดำเนินการ และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานอยู่แล้ว
"คณะกรรมกลั่นกรองเงินกู้ฯ เห็นว่า โครงการนี้ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. จึงให้ใช้แหล่งเงินจากเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานในการดำเนินโครงการแทน" แหล่งข่าวระบุ
(มติคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ครั้งที่ 13/2563)
ด้านนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้รับทราบรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ ที่เห็นว่าโครงการของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานรวม 3 โครงการดังกล่าว ไม่ควรใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ
ขณะที่สำนักงบประมาณได้ให้ความเห็นต่อครม.ว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ และโครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาตินั้น ควรใช้งบประมาณเหลือจ่ายของกระทรวง ประจำปี 2563 ในการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากว่า โครงการนี้ยังไม่เคยได้ดำเนินการ จึงยังไม่มีการประเมินผลลัพธ์ตามที่กระทรวงอ้างอิงได้ว่า จะเป็นการยกระดับรายได้เกษตรกร หรือ ยกระดับราคายางพาราได้อย่างไร
“เรายังไม่แน่ใจว่า การนำยางพารามาใช้ใน 2 โครงการนี้ จะเป็นยกระดับราคายางพาราหรือยกระดับรายได้เกษตรกรได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยทำ ผมจึงมีความเห็นว่าควรจัดให้มีโครงการนำร่องก่อน เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณทุกบาทเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage