สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหาฯ มีมติเอกฉันท์ให้ ‘วรวิทย์ กังศศิเทียม’ ไม่มีลักษณะต้องห้ามจนเป็นเหตุให้พ้นจากประธานศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวที่ 7/2565 ระบุว่า ตามที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือ ที่ ศร 0018.2/351ลงวันที่ 16 มี.ค.2565 ไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเพื่อขอความอนุเคราะห์ดำเนินการเสนอต่อประธานกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ นั้น
บัดนี้ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือ ที่ สว (ศรธ) 0008/(ส) 407 ลงวันที่ 29 เม.ย.2565 แจ้งคำวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมายังสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า กรณีที่ขอให้วินิจฉัยนี้มีการอ้างเหตุที่นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 202 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงเป็นคำร้องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 208 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีบทบัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของตุลากรศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 273 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว”
ต่อมา เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2561 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดบทบัญญัติเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติให้ “ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 เว้นแต่ กรณีตาม (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 มิให้นำมาบังคับใช้”
เมื่อนายรวิทย์ กังศศิเทียม ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 จึงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ใช้บังคับ
ต่อมาเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน , นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ บุคคลทั้งสี่ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม , นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
และนายปัญญา อุดชาชน ได้เลือกกันเองให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563
จึงถือได้ว่านายวรวิทย์ กังศศิเทียม ได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 208 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติว่า “ประธานศาลรัฐธรรมนูญซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย” นั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายให้ตำแหน่ง
ประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นการเฉพาะ และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการสลับตำแหน่งระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่ปรากฎในเอกสารบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หน้า 358
นายวรวิทย์ กังศศิเทียม จึงยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบมาตรา 79 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ได้บัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไว้อย่างชัดเจนแล้วในบทเฉพาะกาล ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายวรวิทย์ กังศสิเทียม มิได้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตาม 202 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 208 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ประการใด
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่า การเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีข้อยุติในข้อกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ป้องกันปัญหาที่อาจมีคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกโต้แย้งความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังได้ รวมทั้งแสดงถึงความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ข่าวประกอบ :
- จับตา 16 มี.ค.ตุลาการถกปมร้อนเก้าอี้‘วรวิทย์’ประธานศาล รธน.‘พ้นวาระ’หรือ‘อยู่ต่อ’
- เปิดช่องตุลาการส่ง กก.สรรหาวินิจฉัยปม'วรวิทย์' พ้นเก้าอี้ประธานศาล รธน.หรือไม่
- ยื่นทันที! 4 ตุลาการร้อง กก.สรรหาวินิจฉัยปม'วรวิทย์'พ้นเก้าอี้ประธานศาล รธน.หรือไม่
- หนังสือฉบับเต็ม 4 ตุลาการถึงกรรมการสรรหาฯขยี้ 2 ปม ‘วรวิทย์’พ้นตำแหน่งประธานศาล รธน.?
- กก.สรรหามติเอกฉันท์'วรวิทย์'นั่งต่อประธานศาล รธน.-3 ตุลาการได้รับอานิสงส์ด้วย
- ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยกก.สรรหามติเอกฉันท์ 'วรวิทย์' นั่งต่อปธ.ศาล รธน. ไม่มีลักษณะต้องห้าม