ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 นายวรวิทย์ มีอายุครบ 70 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม รธน.ปี 2550 อันเป็นลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 202 (1) และมิใช่ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ใช้บังคับ ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง เป็นการรับรองสิทธิที่มีมาตาม รธน.ปี 2550 มิให้เสียสิทธิดังกล่าวเท่านั้น มิได้ให้ขยายสิทธิตามสิทธิเดิมเป็นเพิ่มสิทธิมากขึ้นแต่อย่างใด
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2565 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ประกอบด้วย ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ และ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
- จับตา 16 มี.ค.ตุลาการถกปมร้อนเก้าอี้‘วรวิทย์’ประธานศาล รธน.‘พ้นวาระ’หรือ‘อยู่ต่อ’
- เปิดช่องตุลาการส่ง กก.สรรหาวินิจฉัยปม'วรวิทย์' พ้นเก้าอี้ประธานศาล รธน.หรือไม่
- ยื่นทันที! 4 ตุลาการร้อง กก.สรรหาวินิจฉัยปม'วรวิทย์'พ้นเก้าอี้ประธานศาล รธน.หรือไม่
สำหรับบันทึกข้อความที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน ส่งถึงเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีรายละเอียด ดังนี้
เรื่อง ความเห็ฯเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ
เรียน เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ตามที่มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 16 มี.ค.2565 เวลา 09.30 น. นั้น นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ตามที่ข้าพเจ้าทำบันทึกข้อความลงวันที่ 23 ก.พ.2565 ให้พิจารณาส่งความเห็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของท่านไปให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยนั้น ให้ข้าภาพเจ้าทำเป็นบันทึกข้อความให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 208(1) บัญญัติว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติตามมาตรา 201 หรือ มีลักษระต้องห้ามตามมาตรา 202 ซึ่งตามมาตรา 202 (1) บัญญัติว่า เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด แสดงว่า ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ จะเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่อาจอยู่ในตำแหน่งได้
โดย รธน. มาตรา 273 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อ พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ที่จัดทำขึ้นตามมาตรา 267 การพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตาม รธน.ปี 2550 และ พ.ร.ป.หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตาม รธน.ปี 2550 ได้บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ 9 ปี และบัญญัติการพ้นตำแหน่งไว้เมื่อมีอายุครบ 70 ปี แต่ รธน.มาตรา 207 บัญญัติวาระการดำรงตำแหน่งไว้เพียง 7 ปี โดยมาตรา 208(4) บัญญัติการพ้นตำแหน่งไว้เมื่อมีอายุครบ 75 ปี
การที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตาม รธน.ปี 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ใน รธน.ปี 2550 หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 เว้นแต่กรณีตาม (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 มิให้นำมาใช้บังคับและให้ถือว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปตามมาตรานี้และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งยังคคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคสอง มีจำนวนครบตามองค์ประกอบตามมาตรา 8 แล้ว
จึงมีปัญหาว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ณ วันที่ 1 เม.ย.2563 อันเป็นวันหลังจากวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ใช้บังคับ (2 มี.ค.2561) ทำให้นายวรวิทย์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่มาดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง รธน.บัญญัติให้เป็นคนละตำแหน่งแยกกันตามมาตรา 208 วรรคสอง
ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 นายวรวิทย์ มีอายุครบ 70 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม รธน.ปี 2550 อันเป็นลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 202 (1) และมิใช่ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป.ใช้บังคับ ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 79 วรรคหนึ่ง เป็นการรับรองสิทธิที่มีมาตาม รธน.ปี 2550 มิให้เสียสิทธิดังกล่าวเท่านั้น มิได้ให้ขยายสิทธิตามสิทธิเดิมเป็นเพิ่มสิทธิมากขึ้นแต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 70 ปี จึงไม่อาจเพิ่มเป็นอายุ 75 ปีได้ ต้องถือว่าเป็นผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม รธน.ปี 2550 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 จึงไม่อาจดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพราะมีลักษณะต้องห้ามตาม รธน.มาตรา 202(1)
โดยที่ รธน.มาตรา 208 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตาม (1) หรือ (3) หรือไม่ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด มาตรา 208 วรรคห้า บัญญัติว่า การร้องขอ ผู้มีสิทธิร้องขอ การพิจารณา และการวินิจฉัยตามวรรคสี่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 และมาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าตุลาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 18 (1) หรือ (3) ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ และให้คณะกรรมการสรรหาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในการวินิจฉัยให้ถือเสียงข้างมาก กรณีที่มีเสียงเท่ากันให้ประธานกรรมการสรรหาออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป