ครม.รับทราบแนวทางอภัยโทษ รับโทษอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 8 ปี วางหลักเกณฑ์เข้มคดีร้ายแรงรวมทุจริตด้วย ส่วน พ.ร.ฏ.อภัยโทษปี 64 ไม่มีความจำเป็นในการแก้ไข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 เม.ย.2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานของกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการอภัยโทษ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแนวทางการจัดชั้น เลื่อนชั้นนักโทษ เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น โดยเป็นการรับข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษที่ตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีข้อสรุปดังนี้
1.ยังไม่มีความจำเป็นในการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป พ.ศ.2564
2.นักโทษที่จะได้รับอภัยโทษ (ไม่ว่าลดโทษหรือปล่อยตัว) ต้องผ่านระยะปลอดภัย คือ ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือรับโทษจำคุกมาแล้ว 8 ปี (แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน) และไม่ว่าจะเป็นนักโทษชั้นใด หลังจากนั้นจะมาดูอายุ สุขภาพ การจัดชั้น เพื่อลดโทษ ยกเว้นแต่เป็นการถวายฎีกาเฉพาะราย
3.วางหลักเกณฑ์ใหม่ที่เข้มขึ้นเกี่ยวกับการลดโทษคดีร้ายแรงในความรู้สึกของสังคม เช่น คดียาเสพติด คดีทุจริต คดีที่ศาลให้ประหารชีวิตโดยให้การลดโทษและปล่อยตัว
4.การจัดชั้นนักโทษ (ดี ดีมาก เยี่ยม) จะเข้มขึ้นและมีกฎเกณฑ์มากขึ้น
5.มีการเตรียมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องวางแผนระยะยาวล่วงหน้า
6.การออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฯ ยังคงมีความจำเป็นอยู่ตามโอกาสตามสมควร เพื่อจูงใจให้นักโทษมีความหวัง ไม่ก่อการจลาจล ลดความแออัดในเรือนจำนำไปสู่การคืนคนดีกลับสู่สังคม และแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงแก้ไขให้เป็นตามรายงานฉบับนี้ และสร้างการรับรู้แก่สังคมต่อไป
อ่านประกอบ :