โฆษกรัฐบาล เผยผลสอบ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ปี 64 ของคณะทำงานชุด 'เข็มชัย' ไม่พบข้อผิดพลาด-ทำตาม กม.กำหนด ชงข้อเสนอลดสัดส่วนขอ 'อภัยโทษ' คดีทุจริตร้ายแรงได้ประโยชน์น้อยลง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษว่า ไม่พบความผิดพลาดหรือความบกพร่องในกระบวนการตรา พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. 2564 ที่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ต้องโทษเป็นการทั่วไป และขั้นตอนการเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายกำหนดแล้ว
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแนวทางในการจัดชั้น เลื่อนชั้นให้ชัดเจนมากขึ้น และให้นำพฤติการณ์ความร้ายแรงหรือความเสียหายต่อสังคมที่บุคคลนั้นได้ก่อขึ้น มาประมวลร่วมกับผลการพัฒนาพฤตินิสัย รวมทั้ง คณะกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดให้มีระยะเวลาปลอดภัย (ระยะเวลาขั้นต่ำ) ในการรับโทษของผู้ต้องขังที่จะต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงก่อน มาเป็นเกณฑ์ก่อนได้รับประโยชน์จากการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ และลดสัดส่วนในการเสนอขอพระราชทานอภัยโทษ รวมทั้งกำหนดให้คดีทุจริตร้ายแรงได้รับประโยชน์น้อยลงกว่าเดิม
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ พร้อมดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำ และแนวทางของคณะกรรมการฯ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
“นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายยุติธรรม ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน เป็นธรรม โปร่งใส เป็นการทำงานเพื่อความตอบโจทย์ด้านความเชื่อมั่นของคนทั้งประเทศ และรัฐบาลดำเนินตามกระบวนการทำงานที่มีขั้นมีตอน ครอบคลุม ตรวจสอบได้ ยืนข้างความถูกต้องมาโดยตลอดจึงขอให้เชื่อในความตรงไปตรงมาของรัฐบาล” นายธนกรกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2565 นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่ง แต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ที่มี นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุดและประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ เพื่อตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ซึ่งในที่นี้คือ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการลดโทษให้กับนักโทษในคดีทุจริตร้ายแรง
อ่านประกอบ :