นายกฯแต่งตั้ง 8 กรรมการทำงานตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ แนะให้พิจารณารอบคอบ รัดกุม โปร่งใส และถูกต้องเป็นธรรม พร้อมขอคำตอบภายใน 30 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 337/2564 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2564
นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ซึ่งในที่นี้คือพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ดังนี้
-
นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อดีตอัยการสูงสุดและประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ
-
นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กรรมการ
-
นายธีระพงษ์วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ กรรมการ
-
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
-
พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ กรรมการ
-
นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
-
นายวิทยา สุริยะวงค์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
-
นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการ และเลขานุการ
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ความเป็นมาและการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติในการขอรับพระราชทานอภัยโทษและการกำหนดชั้นนักโทษของกรมราชทัณฑ์ เพื่อป้องกันมิให้นักโทษเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับตามกฎหมาย และอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อดำเนินการเฉพาะเรื่องตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
โดยให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนการดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ประธานกรรมการรายงานผลการตรวจสอบ พร้อมกับข้อเสนอแนะ หรือแนวทางการแก้ปัญหาที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อนายกรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งฉบับนี้
นายธนกร เปิดเผยอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการทำงาน โดยให้แก่คณะกรรมการฯ พิจารณา กลั่นกรองและตรวจสอบหลักเกณฑ์และกระบวนการในชั้นของกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างรอบคอบ รัดกุม โปร่งใส และถูกต้องเป็นธรรม รวมทั้งให้มีข้อเสนอแนะมาตรการในการดำเนินการต่อไปในอนาคตเพื่อให้การขอพระราชทานอภัยโทษบังเกิดประโยชน์ต่อผู้ต้องโทษและสังคมโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง ทั้งสนองพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงบำเพ็ญอภัยทานในวาระและโอกาสพิเศษด้วย