วงเสวนาประเมินราคาน้ำมันดิบปีนี้ยืน 100 ดอลล์ เหตุสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’ จบ แต่การ ‘แซงชั่น’ ไม่จบ ‘เลขาฯกกพ.’ รับเตรียมขึ้นค่าไฟฟ้าอีก 1 ครั้งในปีนี้ ดันราคาไปแตะ 4 บาทกว่าๆ ด้าน ‘สอท.’ ชี้ขึ้นค่าไฟฟ้า ต้นทุน 45 อุตสาหกรรม พุ่ง 2-5%
..................................
เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ชมรมวิทยาการพลังงาน (ชวพน.) จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง สงครามยูเครนกับวิกฤตพลังงานของไทย ‘ทางเลือก ทางรอด ที่ต้องรู้’ โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในช่วงปี 2562-63 ประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าก๊าซ LNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง แต่เนื่องราคา LNG ที่นำเข้าในขณะนั้น มีราคาถูก จึงไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้ามากนัก
แต่ต่อมาในช่วงปี 2564 ไทยต้องนำเข้า LNG ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดลง เพราะอยู่ในช่วงปลายสัมปทาน โดยในปี 2564 ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG แบบ Spot ทั้งสิ้น 1.5 ล้านตัน และจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LNG ที่เพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากโควิด และมีการแย่งกันซื้อเชื้อเพลิง ส่งผลให้ต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ในปี 2565 จากสถานการณ์ราคาก๊าซ LNG ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับการส่งมอบก๊าซในอ่าวไทยตามสัมปทานไม่น่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้ นั้น ทำให้ในปีนี้ไทยจะต้องนำเข้าก๊าซ LNG มากขึ้นอีก ซึ่งจะมีผลทำให้ต้องมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีก 1 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปีนี้ (งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565) จากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2564 ที่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าไปอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย
“มีโอกาสที่ในงวดที่เหลือของปีนี้ ค่าไฟฟ้ามีโอกาส jump (กระโดด) ขึ้นไปอีก 1 ครั้ง แต่เราจะพยายามบริหารจัดการ โดยลดการใช้ Spot LNG เช่น ดึงโรงไฟฟ้าถ่านหินมาใช้ การเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้น้ำมัน ซึ่งเราทำมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว และอยากเชิญชวนให้ทุกคนประหยัดพลังงาน เพราะยิ่งประหยัดได้เท่าไหร่ เราก็ไม่ต้องซื้อ LNG เข้ามา” นายคมกฤช กล่าว และย้ำว่า “รอบหน้า (งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565) ค่าไฟอาจต้องขึ้นค่าไฟฟ้า 1 ครั้ง โดยราคาจะไปอยู่ที่ 4 บาทกว่าๆ”
นายคมกฤช ยังระบุว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า เมื่อสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติลง จะทำให้ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกและราคาพลังงานอื่นๆลดลงหรือไม่ เพราะสงครามการค้า และการคว่ำบาตร (Boycott) รัสเซีย น่าจะยังมีอยู่ต่อไป ซึ่งทำให้ระดับราคาพลังงานยังคงอยู่ในระดับสูง และหากไทยสามารถเร่งผลิตก๊าซในอ่าวไทยได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดการพึ่งพาก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่มีราคาแพงได้
@สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำคนไทยเติมน้ำมันแพงขึ้น 5 บาท/ลิตร
ด้าน นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีกำลังการผลิต 10.5 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 11% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโลก ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 1 ของโลก คือ สหรัฐ มีกำลังผลิต 18.61 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 20% และอันดับ 2 คือ ซาอุดิอาระเบีย มีกำลังผลิต 10.81 ล้านบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ดี กรณีสงครามรัสเซีย-เครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย นั้น ทำให้ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็น 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากระดับปกติที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้คนไทยต้องรับภาระค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นไป 5 บาท/ลิตร
“วันนี้น้ำมันดิบขึ้นไปถึง 120 เหรียญ ซึ่งการขึ้นลงของน้ำมันดิบ 1 เหรียญ จะทำให้ราคาหน้าปั๊มของเราขึ้นลง 25 สตางค์/ลิตร ถ้าน้ำมันดิบขึ้นไป 4 เหรียญ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะขึ้นไป 1 บาท/ลิตร ซึ่งสงครามยูเครน แม้ว่าจะห่างจากไทย 5,000 ไมล์ แต่ราคาก็สะท้อนถึงเรา โดยวันนี้สิ่งที่เรียกว่า war premium อยู่ที่ 15-20 เหรียญ จึงเท่ากับว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้น 5 บาท/ลิตร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่รับภาระ แต่ 5 บาทนี้ รับเคราะห์กันทั่วโลก”นายสุรงค์ ระบุ
นายสุรงค์ ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ท่าทีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) จะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
@'ปตท.'มองภาพ 3-6 เดือนน้ำมันดิบยืนที่ระดับ 100 เหรียญ
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยจัดหาพลังงานภายในประเทศได้ 20% แต่อีก 80% ต้องนำเข้า โดยน้ำมันดิบ 55% ที่ไทยนำเข้า มาจากภูมิตะวันออกกลาง ที่เหลือมาจากภูมิภาคตะวันออกไกล อาฟริกาตะวันออก และสหรัฐ ส่วนรัสเซียนั้น ไทยนำเข้าน้ำมันดิบเพียง 2-3% เท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงไม่ได้กระทบต่อการจัดหาน้ำมันดิบของไทยโดยตรง
อย่างไรก็ตาม สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยุโรปพึ่งพาพลังงานรัสเซียถึง 50% ก๊าซธรรมชาติ 40% และน้ำมัน 30% เมื่อเกิดสงคราม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ยุโรปจะต้องเข้ามาซื้อพลังงานจากตะวันออกกลาง และอาฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะหากในอนาคตมีลงโทษ (sanction) รัสเซียมากขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐและอังกฤษได้คว่ำบาตรน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซียไปแล้ว
“ก่อนเข้าสู่สงคราม ในช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว ราคาอยู่ที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล แต่พอเข้าสู่ภาวะสงครามวันที่ 24 ก.พ. ราคาน้ำมันขึ้นไปสูงสุด 140 เหรียญ ตอนนี้สวิงกลับมาที่ 120 เหรียญ จึงเห็นได้ว่าราคาน้ำมันอยู่บนความผันผวน มีปัจจัยหลายอย่างที่จะกระทบต่อราคา เช่น กรณีรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลก 4.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากกำลังผลิต 10.5 ล้านบาร์เรล/วัน หาก 4.5 ล้านบาร์เรล/วันหายไป จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผลกระทบ” นายดิษทัต กล่าว
นายดิษทัต ระบุว่า กลุ่ม ปตท. พยายามกระจายแหล่งจัดหาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลน ส่วนภาพของราคาน้ำมันดิบในอีก 3-6 เดือนข้างหน้านั้น ในมุมที่ตนเองเป็นทั้งนักวิเคราะห์และนักค้าน้ำมัน มองว่าราคาน้ำมันดิบจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่สถาบันระดับโลก เช่น โกลด์แมน แซคส์ ,สำนักงานพลังงานสากล (IEA) และ Bank of America มองว่าราคาน้ำมันดิบปีนี้จะอยู่ที่ 95-110 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
“หากสถานการณ์ปรับดีขึ้น เช่น ในอีก 2 เดือนข้างหน้า สหรัฐ ยูเครน ยุโรป และรัสเซีย คุยกันรู้เรื่อง ราคาอาจจะปรับลดลง แต่แม้ว่าสงครามจะลดลง แต่สงครามเศรษฐกิจจะยังอยู่” นายดิษทัต กล่าว
@ชี้สงครามทำให้เกิด ‘ดีมานด์เทียม’-ผู้ซื้อแห่สั่งซื้อสินค้าไปตุน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมาแล้ว 1 เดือน ทำให้เกิดดีมานด์เทียม เนื่องจากผู้ซื้อมีการสั่งซื้อสินค้าไปตุนมากขึ้น ส่งผลให้สต๊อกวัตถุดิบที่คาดว่าจะใช้ได้นาน 3-6 เดือน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบล็อตใหม่เข้ามา พบว่าวัตถุดิบบางรายการมีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เช่น ปุ๋ย เป็นต้น ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็มีราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“ต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้เนื้อไก่มีราคาเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เราได้มาเลย คือ ลูกค้าจากยุโรปเข้ามากว้านซื้อเนื้อไก่จากประเทศไทยไม่มอั้น ราคาเท่าไหร่ก็ซื้อ เพราะเขาต้องทุนสินค้า ตุนอาหารไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อแค่ไหน และวันนี้ยูเครน ซึ่งเป็นอู่ข้าว อู่น้ำของยุโรป ไม่ทำงานแล้ว นี่จึงเป็นโอกาสเหมือนกัน แต่ผู้บริโภคของไทยต้องมีค่าครองชีพสูงขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้น จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆไม่เท่ากัน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมโรงเหล็ก ,ซีเมนต์ ,โรงทำกระดาษและเยื่อกระดาษ และสิ่งทอ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา
นายเกรียงไกร ระบุว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2565 ที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะ 4 บาท/หน่วย ทำให้ตุนทุนการผลิตของอุตสาหกรรม 45 อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2-5% ตามแต่ประเภทอุตสาหกรรม ดังนั้น หากจะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอีกครั้งเป็น 4.5-4.75 บาท/หน่วย จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก และจะมีการส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปยังผู้บริโภค ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว จะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปลดทอนกำลังซื้อของประชาชน
อ่านประกอบ :
เคาะ 10 มาตรการลดค่าครองชีพ ลดค่าไฟ-ตรึงราคาพลังงาน พุ่งเป้าช่วยคนมีรายได้น้อย
‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ จี้รัฐทบทวนขึ้นค่าไฟฟ้า 4 บาท-ชี้ 5 ปัจจัยทำราคาแพงเกินจริง
กกพ.เคาะขึ้นเอฟที 23.38 สต. ดันค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. แตะ 4 บาท/หน่วย เพิ่มขึ้น 5.82%
'พลังงาน'ชงเพิ่มอุดหนุนค่าก๊าซ LPG อีก 55 บาท-อุ้ม'ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ'เติม'เบนซิน'
'กพช.' เคาะดึงเงินบัญชี 'Take or Pay' แหล่งก๊าซฯเมียนมา 1.35 หมื่นล้าน พยุงค่าไฟฟ้า
‘กกพ.’ เคาะเพิ่ม ‘เอฟที’ ดันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 อยู่ที่ 3.78 บาท/หน่วย