‘กรมสรรพากร’ เผยแพร่คู่มือคำแนะนำการเสียภาษีเงินได้ฯ ‘คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล’ พร้อมออกข้อถาม-ตอบ 24 ข้อแจงผู้เสียภาษี ระบุหากมีกำไรจากการซื้อขายหรือได้รับผลตอบแทนจากคริปโทฯ แต่ไม่ยื่นแบบ จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. เว็บไซต์กรมสรรพากรเผยแพร่คู่มือ ‘คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล’ โดยคู่มือฉบับดังกล่าวได้ชี้แจงแนวทางการคำนวณภาษีเงินได้กรณีการจำหน่าย จ่าย โอน แลกเปลี่ยน หรือการได้มาซึ่งคริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล เพื่อยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบด้วย
1.การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล 2.การขุดคริปโทเคอร์เรนซี 3.การได้รับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 4. การได้รับคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล และ 5.ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัล และคริปโทเคอร์เรนซี
ขณะเดียวกัน คู่มือคำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล ยังมีคำถาม-คำตอบ เกี่ยวกับการเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี จำนวน 24 ข้อ ได้แก่
คำถามที่ 1 ที่มาของภาษีคริปโทเคอร์เรนซี และทำไมกรมสรรพากรต้องเก็บภาษี
คำตอบ เดิมเงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้มีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นเพียงการจัดประเภทเงินได้ใหม่ จากเดิมเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ไปเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อให้สะท้อนลักษณะของเงินได้ เนื่องจากเงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี มีลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการลงทุน ภายหลังจากออกพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว
กรมสรรพากรก็ได้ประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีไม่ได้รับโทษในภายหลังอันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ทางภาษีอย่างถูกต้อง
คำถามที่ 2 กรมสรรพากรมีวิธีการจัดประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร
คำตอบ โดยอ้างอิงตามคู่มือสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับผู้ลงทุน ที่เผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (https://www.sec.or.th/TH/Documents/DigitalAsset/DigitalAsset Investment-Guide.pdf) ดังนี้
-คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่น หรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) คริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น Bitcoin Ethereum
-โทเคนดิจิทัล (Digital Token) คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในส่วนแบ่งรายได้หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่น ๆ (utility token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน ซึ่งอาจเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO) การระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) คือการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยบริษัทจะเสนอและ กำหนดขายโทเคนที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของผู้ลงทุน
เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือ บริการที่เฉพาะเจาะจง และกำหนดให้ผู้ลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้โดยการนำคริปโทฯ หรือเงิน มาแลกโทเคนที่บริษัทออก โดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย smart contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ICO อาจไม่ใช่หุ้นและไม่ใช่หนี้
แม้ ICO จะมีชื่อคล้ายกับ IPO (Initial Public Offering – การออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชน) แต่ก็อาจมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันมาก ผู้ถือโทเคนจากการลงทุนใน ICO อาจไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้น IPO และอาจไม่ได้มีฐานะเป็น เจ้าหนี้ของบริษัท อาจไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัทกรณีเลิกกิจการหรือล้มละลาย แต่ผู้ถือโทเคนจะมีสิทธิตามที่ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย
คำถามที่ 3 ใครมีหน้าที่ยื่นแบบภาษีเงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซี
คำตอบ ผู้มีเงินได้ ดังนี้
1.เงินได้จากการโอนหรือขายคริปโทเคอร์เรนซี เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
2.เงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ที่ได้จากการขุด
3.เงินได้จากผลตอบแทนใดๆ จากการนำคริปโทเคอร์เรนซี ไปหาประโยชน์
คำถามที่ 4 เงินได้จากคริปโทเคอร์เรนซี มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
คำตอบ - เงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ที่ได้มาจากการขุดคริปโทเคอร์เรนซี นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเงินได้ดังกล่าวสามารถนำหักค่าใช้จ่ายจริง (ต้นทุนในการขุด) ได้
-กำไรจากการขายหรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซี เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนนั้น (ราคาขายหักด้วยต้นทุน) ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
-ผลตอบแทนจากการนำคริปโทเคอร์เรนซีไปหาประโยชน์นั้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
คำถามที่ 5 การคำนวณต้นทุนของ คริปโทเคอร์เรนซีจะคำนวณอย่างไร
คำตอบ สามารถคำนวณต้นทุนโดยอาจใช้เป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average cost) หรือวิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้ หากได้เลือกวิธีใดในการคำนวณต้นทุนแล้ว ต้องใช้วิธีนั้น ในการคำนวณต้นทุนตลอดปีภาษี
คำถามที่ 6 หากต้องการเปลี่ยนวิธีการคำนวณต้นทุนของคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายหรือไม่
คำตอบ หากต้องการเปลี่ยนวิธีคำนวณต้นทุนในปีถัดไป นักลงทุนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องขออนุมัติเปลี่ยนวิธีการคำนวณต้นทุนไปยังอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
คำถามที่ 7 การเก็บภาษีจากมูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ที่ถืออยู่ หรือต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาทก่อน หรือไม่
คำตอบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เก็บจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ดังนั้น หากเป็นถือคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลไว้โดยไม่มีการโอนยังไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
สำหรับการแลกเปลี่ยน คริปโทเคอร์เรนซี เป็นเงินบาท นั้น หากมีเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร (ตัวอย่าง : นำเงินบาทจำนวน 100 บาท ไปซื้อคริปโทเคอร์เรนซี ได้ 1 เหรียญ ต่อมานำเหรียญดังกล่าวมาแลกเปลี่ยนกลับเป็นเงินบาทได้ 150 บาท ถือเป็นเงินได้เกินกว่าส่วนที่ลงทุน 50 บาท)
คำถามที่ 8 การนำคริปโทเคอร์เรนซี สกุลหนึ่งไปแลกเปลี่ยนเป็น คริปโทเคอร์เรนซี อีกสกุลหนึ่ง ถือว่ามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่
คำตอบ - การแลกเปลี่ยน คริปโทเคอร์เรนซี สกุลหนึ่งไปแลกเปลี่ยนเป็น คริปโทเคอร์เรนซี อีกสกุลหนึ่งนั้นถือเป็นการโอนคริปโทเคอร์เรนซี ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
-หากการนำ คริปโทเคอร์เรนซี มาแลกเปลี่ยนเป็น คริปโทเคอร์เรนซี อีกสกุลหนึ่ง มีเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
-ตัวอย่าง: นาย ก. ซื้อเหรียญ A มาในราคา 100 บาท และนาย ข. ซื้อเหรียญ B ราคา 50 บาท ต่อมาทั้งคู่นำเหรียญมาแลกเปลี่ยนกัน ณ วันที่แลกเหรียญ A และเหรียญ B ในราคา 150 บาท ถือว่า
1.นาย ก. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จากส่วนที่เกินกว่าส่วนที่ลงทุน 50 บาท
2.นาย ข. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จากส่วนที่เกินกว่าส่วนที่ลงทุน 100 บาท
คำถามที่ 9 การซื้อขายเพื่อเป็นช่องทางการเข้าออกเงินบาท (cash in - cash out) ตัวอย่างเช่นการแลกเงินบาทเป็น BTC บน exchange ในประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อโอนไปยัง exchange ต่างประเทศและซื้อ-ขายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทอื่นในต่างประเทศ จะเสียภาษีหรือไม่
คำตอบ หากการจำหน่าย จ่าย โอน แลกเปลี่ยนดังกล่าวมีส่วนที่ตีราคาเกินกว่าเงินลงทุนจะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร
คำถามที่ 10 ในกรณีที่มีการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีอย่างไร
คำตอบ ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาว่า เป็นแหล่งเงินได้ในหรือนอกประเทศ โดยพิจารณาว่า Wallet ที่ใช้ในการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลนั้นอยู่ที่ประเทศใด
ขั้นตอนที่ 2 หากเป็นแหล่งเงินได้ในประเทศ ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในประเทศไทย แต่หากเป็นแหล่งเงินได้ต่างประเทศ ผู้มีเงินได้ก็ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีต่อเมื่ออยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 180 วันและได้นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกับที่อยู่ถึง 180 วัน
คำถามที่ 11 กรณีที่มีการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลในต่างประเทศเป็นเงินตราสกุลอื่นจะคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร
คำตอบ ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามวิธีการดังต่อไปนี้ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย
(1) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ที่ได้ประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อหรืออัตราขาย) หรือ
(2) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน (อัตราซื้อถัวเฉลี่ยหรืออัตราขายถัวเฉลี่ย) อ้างอิงตาม มาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร
คำถามที่ 12 การพิจารณาเงินได้พึงประเมินจากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล จะคิดอย่างไร
คำตอบ เงินได้พึงประเมินคือกำไรที่เกิดจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล โดยสามารถนำขาดทุนมาหักกลบได้ไม่ว่าจะเกิดจากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลประเภทใด
คำถามที่ 13 หากทุน 10,000 บาท และถอนออกในราคา 10,000 บาท ถือว่าไม่มีผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือไม่
คำตอบ การพิจารณาจะพิจารณามูลค่าที่โอนขายมิใช่มูลค่าเมื่อถอนเงินออกจากบัญชี หากลงทุนซื้อคริปโทเคอร์เรนซี มูลค่า 10,000 บาท และขายในราคา 10,000 บาท ถือว่าไม่มีผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี (10,000 บาท (ขาย) – 10,000 บาท (เงินที่ลงทุน) = 0 บาท) เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เก็บจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
คำถามที่ 14 หากขายคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล แล้วแต่ยังไม่ได้โอนเงินออกมาจากบัญชีซื้อ-ขายจะถือว่ามีเงินได้หรือไม่
คำตอบ หากผู้ถือครองคริปโทเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล ได้ขายแล้วนั้น ไม่ว่าจะนำเงินออกจากบัญชีหรือไม่ถือว่ามีเงินได้ในปีที่ขายแล้ว ผู้มีเงินได้จึงมีหน้าที่ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 ในปีที่ขาย
คำถามที่ 15 การลงทุนซื้อเครื่องขุดและนำเหรียญที่ขุดได้นั้นไปขายโดยมีค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติ คือ ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าฝากเครื่องขุด ค่าซ่อมบำรุงเครื่องขุด สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ได้หรือไม่
คำตอบ เงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซี ที่ได้จากการขุด (Mining) ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้จากการขาย คริปโทเคอร์เรนซี สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คำถามที่ 16 ตีความว่าขายเหรียญที่ได้จากการขุดเป็น 40(8) แสดงว่าต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง และต้องแยกทำบัญชีระหว่างเหรียญที่ได้จากการขุดกลุ่มหนึ่ง และ เหรียญที่ได้โดยวิธีอื่นอีกทางหนึ่งแม้ว่าจะเป็นสกุลเดียวกันใช่หรือไม่ และถ้าทั้ง 2 กลุ่มนี้มาอยู่ใน wallet เดียวกัน เมื่อขายออกจะตีความว่าเป็นการขายกลุ่มใดออกก่อน
คำตอบ ผู้เสียภาษีต้องจัดทำบัญชีต้นทุนแยกตามวิธีการได้มา และสามารถเลือกได้ว่าการขายคริปโทเคอร์เรนซีนั้นๆ เป็นการขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ซื้อมาหรือได้รับจากการขุด
คำถามที่ 17 ใครมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่ง
คำตอบ - กรณีนักลงทุน (ผู้ขายซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา) มีการขายหรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซี ให้แก่ผู้ซื้อ นั้น ผู้ซื้อคริปโทเคอร์เรนซี (บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล) ในฐานะผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร หน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(2) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร
- นักลงทุน (ผู้ขายซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา) ในฐานะผู้มีเงินได้ที่ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15ของเงินได้จากการโอนหรือขาย คริปโทเคอร์เรนซี นั้น สามารถนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีได้
คำถามที่ 18 ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ ไปเป็นต้นทุนของคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีหรือไม่
คำตอบ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ถูกหักไว้ มาใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำไปใช้เป็นต้นทุนได้อีก
คำถามที่ 19 วิธีการเสียภาษีจะต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ - กรณีมีเงินได้จากการขาย คริปโทเคอร์เรนซี ที่ได้จากการขุด (Mining) ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ ดังนี้
1. ยื่นรายการกลางปี (เงินได้จากการขายระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน) ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ในช่วงเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีมาตรา 48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 ให้กึ่งหนึ่ง (เงินได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจริงหักค่าลดหย่อน) และชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นรายการ
2. ยื่นรายการประจำปี (เงินได้จากการขายทั้งปีภาษี) ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ในช่วงเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีมาตรา 48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (เงินได้หักค่าใช้จ่ายหักค่าลดหย่อนทั้งปีภาษี) และชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นรายการ ทั้งนี้ ภาษีที่ชำระไว้แล้ว สำหรับการยื่นรายการกลางปี ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระภาษีปลายปีได้
- กรณีมีกำไรจากการขายหรือการโอน คริปโทเคอร์เรนซี เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีมาตรา 48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (เงินได้ (มีการหักค่าใช้จ่าย) หักค่าลดหย่อนทั้งปีภาษี)
- กรณีได้รับผลตอบแทนจากการนำคริปโทเคอร์เรนซี ไปหาประโยชน์ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นั้น ผู้มีเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ ดังนี้
1. ยื่นรายการกลางปี (เงินได้จากการขายระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน) ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ในช่วงเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีมาตรา 48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 ให้กึ่งหนึ่ง (เงินได้หักค่าใช้จ่ายหักค่าลดหย่อน) และชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นรายการ
2. ยื่นรายการประจำปี (เงินได้จากการขายทั้งปีภาษี) ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ในช่วงเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีมาตรา 48 โดยหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (เงินได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจริงหักค่าลดหย่อนทั้งปีภาษี) และชำระภาษีถ้ามี พร้อมกับการยื่นรายการทั้งนี้ ภาษีที่ชำระไว้แล้ว สำหรับการยื่นรายการกลางปีให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระภาษีปลายปีได้
ทั้งนี้ วิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษี กรมสรรพากรอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีโดยสามารถใช้ระบบe-Filing ได้
คำถามที่ 20 เมื่อขาดทุนในปีนั้นแล้วทั้งกรณี 40(4) และ 40(8) หากปีต่อมามีกำไร สามารถนำผลขาดทุนปีนี้ไปใช้ประโยชน์ในปีถัดไปได้หรือไม่
คำตอบ ไม่สามารถนำขาดทุนที่เกิดขึ้นไปหักกลบในปีถัดไปได้
คำถามที่ 21 ผู้มีเงินได้ต้องจัดเตรียมหลักฐานประกอบการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 อย่างไร
คำตอบ เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเป็นการประเมินตนเอง ผู้มีเงินได้จากการขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล จึงต้องประเมินตนเองว่ามีกำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เป็นจำนวนเงินเท่าไร และควรเตรียมหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ต้นทุนในการซื้อและราคาขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เพื่อประกอบการพิสูจน์กำไรของผู้มีเงินได้หลักฐานที่ระบุถึงการทำธุรกรรมการซื้อ หรือขาย ที่มีข้อมูลดังนี้
- จำนวนที่ซื้อ หรือขาย
- มูลค่าของคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ณ วันที่ทำธุรกรรม
- อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง
- รายละเอียดผู้ซื้อหรือผู้ขาย สำหรับการซื้อ/ขาย คริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล (ถ้ามี)
- หลักฐานใบกำกับภาษีหรือ ใบเสร็จค่าใช้จ่าย
- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ถ้ามี)
คำถามที่ 22 กรณีที่มีกำไรจากการซื้อขาย แต่ไม่ได้ยื่นแบบหรือไม่ได้ระบุในแบบ จะมีโทษอย่างไร
คำตอบ กรมสรรพากรมีการตรวจสอบการมีเงินได้ หากผู้มีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแต่เป็นเท็จนั้นผู้มีเงินได้ย่อมรับโทษดังนี้
- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำถามที่ 23 กรมสรรพากรมีข้อแนะนำนักลงทุนอย่างไร
คำตอบ การลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ก็คล้ายคลึงกับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ในปัจจุบัน ที่ผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษี นำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ดังนั้น ผู้มีเงินได้ไม่ว่าจะมาจากการลงทุนในรูปแบบใดก็ควรเก็บหลักฐานเอกสารที่จำเป็นในการพิสูจน์เงินได้ของตนเอง เช่น ข้อมูลธุรกรรมการซื้อการขาย คริปโทเคอร์เรนซี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการประเมินเงินได้ตนเองอย่างถูกต้องครบถ้วน
คำถามที่ 24 เพื่อบรรเทาภาระผู้ลงทุน Exchange สามารถเป็นตัวกลางส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรได้หรือไม่
คำตอบ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายกำหนดให้ Exchange ส่งข้อมูลของนักลงทุนให้กับกรมสรรพากร แต่นักลงทุนสามารถขอให้ Exchange รวบรวมข้อมูลการซื้อการขายคริปโทเคอร์เรนซี ของตนเองเพื่อใช้ในการประเมินตนเอง เพื่อการคำนวณภาษีเงินได้ให้ถูกต้องครบถ้วนได้
ที่มา : คู่มือ ‘คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโทเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล’
อ่านประกอบ :
‘สรรพากร’ ผ่อนปรนหักภาษี ณ ที่จ่าย ธุรกรรมคริปโทฯ-เตรียมออกคู่มือ 31 ม.ค.นี้
‘ก.ล.ต.-ธปท.-คลัง’ เคาะร่างหลักเกณฑ์ห้ามใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ จ่ายค่าสินค้า-บริการ
‘ก.ล.ต.-สรรพากร-ธปท.’ หารือ 2 สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลฯ วางแนวทางเก็บภาษีคริปโทฯ
‘กสิกรไทย’ปัดให้ข่าวร่วมทุน‘ไบแนนซ์’ เผยยังไม่มีข้อสรุปทำธุรกิจซื้อขาย‘เหรียญดิจิทัล’
‘ก.ล.ต.’ชงรื้อ กม.คุม‘คริปโทเคอร์เรนซี’แก้หลอกลวง-พบปี 64 เปิดบัญชีซื้อขายพุ่ง 10 เท่า
มุมมองแบงก์ชาติ : สินทรัพย์ดิจิทัลเสี่ยงสูง-ช่องทางฟอกเงิน?
หวั่นกระทบเสถียรภาพ! ‘ธปท.’ ไม่สนับสนุนใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ชำระค่าสินค้า-บริการ
บางจากฯ รับชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีเป็นรายแรกของกลุ่มธุรกิจพลังงาน