'ธปท.'เผยผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 63 คนไทยมีทักษะดีขึ้น แต่ 62% มีปัญหาเงินไม่พอใช้ หลังรายได้ลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 พบมีเพียง 38% มีเงินออมเผื่อกรณีฉุกเฉินเกิน 3 เดือน
...............................
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. น.ส.นวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing เรื่อง ผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 ว่า แม้ว่าผลสำรวจฯในปี 2563 จะพบว่าคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นโดยอยู่ที่ 71.0% สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 ที่อยู่ที่ 66.2% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 ที่อยู่ที่ 60.5%
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีครัวเรือนตัวอย่างเพียง 38.9% เท่านั้น ที่ระบุว่า ไม่เคยประสบปัญหาการเงินไม่พอใช้ แต่อีกกว่า 62% มีปัญหาการเงินไม่พอใช้ เนื่องจากได้รายลดลงอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจฯในครั้งนี้ ที่พบว่าคนไทยไม่ถึง 2 ใน 5 หรือคิดเป็น 38% ที่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินเกิน 3 เดือน อีก 29.2% มีเงินออมน้อยกว่า 3 เดือน ที่สำคัญมีคนไทย 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 32.8% ไม่ทราบสถานการณ์ออมของตนเอง
“ในสถานการณ์โควิด ถ้าไปดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนหรือผู้ที่เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะเห็นได้ค่อนข้างชัดถึงความเปราะบางทางการเงินของคนไทย และการผลสำรวจฯของเราครั้งนี้ ก็ทำในช่วงปี 2563 เช่นกัน ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดกระแทกแรง สายพันธุ์เดลตากำลังออกฤทธิ์ เราจะพบว่าคนของเราที่เอาตัวรอดจากปัญหาช็อตเงินมีเพียง 38% แปลว่ามีกลุ่มคนที่เปราะบาง 62% ซึ่งถือว่าเยอะ และสะท้อนถึงความเปราะบางเลยทีเดียว” น.ส.นวพร กล่าว
น.ส.นวพร กล่าวว่า ผลสำรวจฯยังพบว่า แม้ว่าคนไทย 75% ระบุว่ามีการออม โดยเป้าหมายการออม 2 อันดับแรก คือ ออมเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน และออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ แต่มีคนไทยไม่ถึง 1 ใน 5 หรือคิดเป็น 17.8% ที่มีแผนการออมเพื่อเกษียณและทำได้ตามแผน ส่วนอีก 48.2% ระบุว่าเริ่มวางแผนออมเพื่อเกษียณแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ขณะที่ 18.7% ระบุว่าวางแผนแล้ว แต่ยังไม่เริ่ม และมี 15.3% ระบุว่า ยังไม่วางแผนออม
ทั้งนี้ กลุ่ม Baby Boomer เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องการออมเพื่อเกษียณมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ตามแผน
นอกจากนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมของคนไทยในการออม พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึง 1 ใน 5 หรือ 19.7% ที่ออมก่อนใช้ ส่วนอีก 34% นำไปใช้ก่อนเหลือค่อยออม ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างมากถึง 40.6% ที่ระบุว่า ไม่แน่นอนในการออม และมีเพียง 5.7% ที่ระบุว่าไม่สนใจเรื่องการออม โดยกลุ่ม Gen Z มีสัดส่วนของผู้ที่มีความไม่แน่นอนในการออมและไม่สนใจในการออมมากที่สุด
สำหรับการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 เป็นการสำรวจตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) และเป็นการสำรวจครั้งที่ 8 (สำรวจครั้งที่ 1 ปี 2545) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ธปท.และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ 11,901 ครัวเรือน
น.ส.นวพร เห็นว่า ระดับการออมเผื่อกรณีฉุกเฉินที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3-6 เดือน และหากต้องการให้มีเงินออมในระดับดังกล่าว จำเป็นต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน ต้องออมก่อนใช้ และบันทึกรายจ่ายต่างๆ โดยแยกเป็นรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนบุตร และค่าซ่อมรถ เป็นต้น หรือรายจ่ายในสิ่งที่อยากได้ และต้องลงมือทำจริง แต่ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าคนที่มีรายได้ประจำออมได้ง่ายกว่าคนที่ไม่มีรายได้ประจำ เช่น กลุ่ม Gen Y ที่เป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งรายได้ไม่แน่นอน
น.ส.นวพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. มีการส่งเสริมความรู้ทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับทักษะทางการเงินของคนไทยผ่านรูปแบบและช่องทางการดำเนินงานที่หลากหลาย โดยเผยแพร่สื่อความรู้ในวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ ของ ธปท. (Facebook ศคง. 1213) และพันธมิตรต่างๆ รวมถึงสื่อท้องถิ่น โดยส่งต่อเนื้อหาเรื่องการวางแผนทางการเงิน และบริหารจัดการเรื่องหนี้ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ คู่มือ “รู้รอบเรื่องเงิน พร้อมเผชิญทุกวิกฤต”
ตลอดจนหัวข้อภัยทางการเงินเผยแพร่บนเว็บไซต์ ศคง. 1213 และส่งผ่านความรู้แก่แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ผ่านองค์กรพันธมิตรของสมาคมภาคธุรกิจเอกชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ธปท.ยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการออมและวางแผนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ใน 2 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ นักศึกษาอาชีวะศึกษาและวัยทำงานซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการ Fin. ดี We Can Do!!! และ Fin. ดี Happy Life!!! ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสม
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage