ธปท.ออกหนังสือเวียนแจ้ง ‘แนวทางฯการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม’ เน้นลดดอกเบี้ยลูกหนี้ประวัติดี-คุ้มครองผู้ค้ำประกันฯ-ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้ พร้อมออกแนวปฏิบัติ ‘การติดตามทวงถามหนี้’ ฉบับใหม่
............................
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ธปท. ได้ส่งหนังสือเวียนแจ้ง เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ไปยังสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ และบริษัทในกลุ่มสถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจลิสซิ่งทุกแห่ง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ให้บริการฯ นำไปปรับใช้ในการดูแลลูกหนี้ ผู้ค้ำประกัน และควบคุมดูแลบุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำหน้าที่แทนผู้ให้บริการ เช่น การติดตามทวงถามหนี้ หรือการดำเนินคดี ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลและได้รับการแจ้งสิทธิและบทบาทหน้าที่ของตนในแต่ละขั้นตอนจากผู้ให้บริการ
สำหรับหนังสือเวียนดังกล่าว กำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ซึ่งครอบคลุมกระบวนการให้สินเชื่อตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (end-to-end process) รวม 6 กระบวนการ ได้แก่
1.การพัฒนาและการเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ให้ผู้ให้บริการฯมีเงื่อนไขราคาสอดคล้องกับความเสี่ยง รูปแบบการให้สินเชื่อมีความเหมาะสม และชี้แจงรายละเอียดครบถ้วน เช่น สินเชื่อที่หักชำระหนี้จากเงินเดือน หรือใช้เงินฝากของตนเองค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง
2.การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ให้ผู้ให้บริการฯมีการประเมินราคาหลักประกันที่เหมาะสม แจ้งสิทธิของลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน โดยเฉพาะผู้ค้ำประกันไม่จำเป็นต้องลงนาม ซึ่งจะทำให้ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมหากไม่ได้รับเงินโดยตรง และไม่กำหนดเงื่อนไขการทำประกันที่สร้างภาระแก่ลูกหนี้เกินสมควร
3.การติดตามทวงถามหนี้และการเรียกเก็บค่าทวงถามหนี้ ให้ผู้ให้บริการฯควบคุมดูแลพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสม และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามอัตราที่กำหนด พร้อมปรับปรุงแนวปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ ให้เป็นปัจจุบัน
4.การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการจ่ายชำระหนี้คืน โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน ให้ผู้ให้บริการฯมีทางเลือกความช่วยเหลือลูกหนี้ และสนับสนุนให้เกิดการไกล่เกลี่ยหนี้ ทั้งกระบวนการ รวมทั้งอธิบายความแตกต่างของผลทางคดีจากการไกล่เกลี่ยหนี้ตามกฎหมายให้ครบถ้วน
5.กระบวนการดำเนินคดี ให้ผู้ให้บริการฯกำกับดูแลการดำเนินคดีให้เป็นธรรม กรณีที่ลูกหนี้สอบถาม ให้ผู้ให้บริการแจ้งข้อมูลการดำเนินคดีให้ลูกหนี้ทราบ เช่น ภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี และการไปใช้สิทธิในชั้นศาลเพื่อแถลงข้อเท็จจริง เป็นต้น
6.การขายและโอนหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น ให้ผู้ให้บริการฯ แจ้งข้อมูลการโอนขายหนี้ให้ครบถ้วน และผู้ให้บริการที่รับซื้อหนี้ควรพิจารณาถึงรูปแบบการผ่อนชำระของผู้ให้บริการเดิม โดยให้ลูกหนี้ได้รับสิทธิเทียบเท่าหรือดีกว่า หรือพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
“ธปท. หวังว่าผู้ให้บริการ ลูกหนี้ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสินเชื่อ จะบริหารจัดการภาระหนี้สินและปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันได้ และบรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือ ผู้ให้บริการดำเนินการด้านสินเชื่อด้วยความเป็นธรรม และประชาชนเข้าถึงและได้รับบริการทางการเงินด้วยเงื่อนไขที่เหมาะสม และได้รับความช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหนี้สินอย่างตรงจุดและทันท่วงที” นางธัญญนิตย์ กล่าว
ขณะเดียวกัน หนังสือเวียนดังกล่าว ยังแนบแนวปฏิบัติธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ฉบับใหม่ เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินดำเนินการติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสม เป็นมาตรฐานเดียวกัน และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ฉบับใหม่นั้น กำหนดให้การติดตามทวงถามหนี้ให้ดำเนินการภายในเวลา 8.00 น. ถึง 20.00 น. ในวันจันทร์ถึงศุกร์ และภายในเวลา 8.00 น.ถึง 18.00 น. ในวันหยุดราชการ ส่วนความถี่ในการติดต่อเพื่อการติดตามทวงถามหนี้ต้องมีจำนวนครั้งไม่เกินกว่าที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด
ส่วนการแสดงตัวและให้ข้อมูลกับลูกหนี้ ในกรณีที่มีการว่าจ้างผู้ให้บริการภายนอกในการติดตามทวงถามหนี้ ให้ผู้ให้บริการแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้ดำเนินการติดตามทวงถามหนี้แทนตั้งแต่คราวแรกที่ลูกหนี้ตกลงเลือกใช้บริการ และในขั้นตอนการติดตามทวงถามหนี้ให้ผู้ให้บริการแจ้งหรือดูแลให้ผู้ให้บริการภายนอกแจ้งให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าถึงการมอบหมายดังกล่าวด้วย
ขณะที่การแสดงตัวเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามทวงถามหนี้ ให้ผู้ให้บริการและผู้ให้บริการภายนอกแสดงตัวโดยแจ้งชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และวัตถุประสงค์ในการติดต่อให้ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ เพื่อการทวงถามหนี้ได้รับทราบอย่างถูกต้องเหมาะสม
ในกรณีที่ผู้ให้บริการภายนอกติดต่อกับลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้โดยตรง (face to face) ให้ผู้ให้บริการภายนอกแสดงเอกสารซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนได้รับอนุญาตจากผู้ให้บริการให้ติดตามทวงถามหนี้แทน และกรณีขอรับชําระหนี้ ให้ผู้ให้บริการภายนอกแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชําระหนี้จากผู้ให้บริการซึ่งเป็นเจ้าหนี้ด้วย
สำหรับวิธีการติดตามทวงถามหนี้และเรียกเก็บหนี้ ให้ผู้ให้บริการดำเนินการหรือดูแลให้ผู้ให้บริการภายนอกดำเนินการติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสม และไม่กระทำการใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ไม่เรียกเก็บหนี้จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เว้นแต่เป็นสิทธิตามกฎหมาย ,ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้รับชําระหนี้ เช่น ทำร้ายร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้
ไม่ปลอมแปลง บิดเบือนข้อมูล เอกสาร หรือแสดงท่าทางอันทำให้สำคัญผิด อาทิ ไม่ปลอมแปลงหรือบิดเบือนว่าเป็นบุคคลอื่น หรือใช้ชื่ออื่นนอกเหนือจากชื่อจริง ,ไม่ปลอมแปลงหรือบิดเบือนเพื่อให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่าเอกสารเรียกเก็บหนี้หรือเอกสารที่ใชในการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ออกหรือได้รับอนุญาตหรือการรับรองจากหน่วยงานของศาล หน่วยงานของรัฐ สำนักงานกฎหมาย หรือบริษัทข้อมูลเครดิต เป็นต้น
ไม่ปลอมแปลง บิดเบือน หรือแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับยอดหนี้เกินกว่าที่มีอยู่ตามกฎหมาย เช่น ประเภท จำนวน สถานะปัจจุบัน และค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ เป็นต้น หรือแสดงท่าทางอื่นใดอันเป็นเท็จเพื่อให้ลูกหนี้สำคัญผิดในการชําระหนี้ เช่น ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์ หรือเงินเดือน และไม่ข่มขู่หรือคุกคาม ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ในการเก็บรักษาความลับเรื่องความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ให้ผู้ให้บริการและผู้ให้บริการภายนอกระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในการเก็บรักษาความลับเรื่องความเป็นหนี้ของลูกหนี้ และไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ของลูกหนี้ระหว่างการติดต่อกับบุคคลอื่น ไม่เปิดเผยข้อความ หรือใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ที่แสดงให้ทราบได้ว่าลูกหนี้มีหนี้สิน หรือสื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน ซึ่งมีเจตนาทำให้ลูกหนี้เกิดความอับอาย เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : หนังสือเวียน เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม : https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2564/ThaiPDF/25640173.pdf
อ่านประกอบ :
รื้อใหญ่'แนวทางให้สินเชื่อเป็นธรรม’ ดูแล‘ลูกหนี้ดี-คนค้ำฯ’-ห้ามแบงก์ทำ KPI แข่งทวงหนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/