รมว.ดีอีเอส เชิญ ผู้บริหารองค์กรสื่อหารือ หลังแพร่คำสั่งนายกฯ ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับ 27, 29 ห้ามแพร่ข่าวสร้างความหวาดกลัว ลั่นเจตนาสำคัญเพื่อดำเนินการคน ‘ทำตัวเสมือนสื่อ-สื่อเทียม’ มักนำเสนอผ่านเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ ตั้งใจบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
...........................................................
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 สื่อหลายสำนักรายงานอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถึงกรณี 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ข้อกำหนดฉบับที่ 27 และฉบับที่ 29 ที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) กรณีกำหนดห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความหวาดกลัว และการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ว่า ขอยืนยันว่าข้อกำหนดที่ออกมา ไม่ได้มีเจตนาควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ตลอดจนประชาชน ที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ และมีองค์กรสื่อมวลชนคอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรม รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลรับฟังการวิพากษ์วิจารณด้วยเหตุผลและอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาการรับรู้ และส่งต่อข้อมูลข่าวสาร มีความคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้องได้ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการป้องกันการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนโดยเจตนา เนื่องจากกระทบการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติขณะนี้
"ผมมองว่าสื่อมวลชนมีส่วนสำคัญในการนำพาสังคมให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง สร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับประชาชนในการฝ่าฟันปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง รัฐบาลยิ่งต้องรับฟังเพื่อนำสู่การแก้ไข ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปิดกั้นการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา" นายชัยวุฒิ กล่าว
ส่วนข้อกำหนดที่ออกมานั้น นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เจตนาสำคัญเพื่อดำเนินการกับผู้ที่ทำตัวเสมือนเป็นสื่อมวลชน หรือสื่อเทียม ไร้สังกัด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีองค์กรกำกับตรวจสอบการทำหน้าที่ที่ชัดเจน มักนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดจากข้อเท็จจริง ผ่านบัญชีผู้ใช้งานใน Facebook และ Twitter หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่พบว่ามีเจตนาตั้งใจบิดเบือนเพื่อหวังผลบางอย่าง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด จนเกิดความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก การประกาศข้อกำหนดข้างต้นจะนำมาบังคับใช้เพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้เป็นหลัก ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญความยากลำบากจากโควิด-19 แต่กลับมีบางคนนำเสนอข้อมูลบิดเบือน สร้างความสับสนในสังคม ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงถูกประกาศใช้เพื่อแก้ปัญหาส่วนนี้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
“เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางของรัฐบาล ผมจึงขอเชิญผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หารือในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันอย่างแท้จริงในการแก้ปัญหาการนำเสนอข้อมูลที่ปราศจากข้อเท็จจริงที่ระบาดในสังคม และจะทำให้เกิดความมั่นใจด้วยว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการมีส่วนช่วยนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปด้วยกัน" รมว.ดีอีเอส กล่าว
อ้างอิงเนื้อหา จาก https://www.thaipost.net/main/detail/111931, ภาพจาก : https://mpics.mgronline.com/
อ่านประกอบ :
บัญญัติคลุมเครือ-ขัด รธน.! สื่อ-ปชช.ฟ้องศาลแพ่งเพิกถอนคำสั่งนายกฯให้ กสทช.ตัดเน็ต
‘นพ.ประวิทย์’ชี้คำสั่งนายกฯเลี่ยงบาลีให้ สนง.กสทช.ดูเฟกนิวส์ทั้งที่ กม.ไม่ให้อำนาจ
อาจารย์วารสาร มธ.ร่วมออกแถลงการณ์ จี้ รบ.ยกเลิก พรก.จำกัดความเห็นสื่อ-ปชช.
ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ปชช.! แถลงการณ์‘เพื่อไทย & ก้าวไกล’จี้เลิกคำสั่งนายกฯ ฉ.29
70 คณาจารย์นิติฯทั่ว ปท. แถลงยัน‘บิ๊กตู่’ไร้อำนาจออกกฎห้ามสื่อ-ปชช.แพร่ข่าว-ขัด รธน.
‘บิ๊กตู่’ยกระดับคุม!ห้ามเสนอข่าวให้คนหวาดกลัว สั่ง กสทช.ตรวจสอบ-ระงับไอพีทันที
6 องค์กรสื่อฯ จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพ
แถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จี้รัฐยกเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อ-ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage