"...เมื่อธนาคารกรุงไทย ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ จึงยังเป็น ‘หน่วยงานอื่นของรัฐ’อยู่ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงยังคงมีอำนาจไต่สวนกรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานธนาคารอยู่ เมื่อมีการกล่าวหาว่า ทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็ทราบเป็นอย่างดี เพราะยังคงกำหนดให้ผู้บริหารและกรรมการของธนาคารกรุงไทยยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตลอดมา..."
กรุงไทยเป็นธนาคารของรัฐและเป็นรัฐวิสาหกิจนับแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2509 จึงมีสิทธิพิเศษมากมายในการดำเนินธุรกิจกับรัฐ
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้ธนาคารกรุงไทยเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายในทางการเงินและในทางการเมืองของผู้มีอำนาจในรัฐบาล
เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจก็ย่อมอยู่ภายใต้การตรวจสอบขององค์กรที่มีอำนาจในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ด้วย
ในอดีตที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับสูงของธนาคารหลายรายถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานองค์การของรัฐ 2502
ที่เป็นข่าวใหญ่ที่สุดคือ เมื่อปี 2558 ศาลฎีกาแผนกดีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่กับพวกกรณีการปล่อยกู้โดยทุจริตให้กลุ่มกฤษดามหานคร 9.9 พันล้านบาท แต่ยกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล. )
หลังจากคดีดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีการกล่าวหา ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยว่า ทุจริตต่อหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการไต่สวนเหมือนคดีที่ผ่านๆมา เท่าที่ปรากฏเป็นข่าว มี 2 คดีใหญ่สำคัญเกี่ยวกับธนาคารกรุงไทยที่ ป.ป.ช.กำลังไต่สวนอยู่
คดีแรก กล่าวหา บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ใช้เอกสารเท็จเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย เพื่อชำระค่าสินค้า (ถ่านหิน) ที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียโดยมีผู้กรรมการและผู้บริหารธนาคารเข้าไปมีส่วนพัวพันซึ่งกรมสอบสวนคดี (ดีเอสไอ) ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ตั้งแต่ปี 2560-2562
หลังจากที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 32 รายและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว การไต่สวนเกิดความชะงักงันเพราะมีกรรมการไต่สวนบางคนทักท้วงว่า สถานะปัจจุบันของธนาคารกรุงไทยยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่หรือไม่ ทำให้ไม่สามารถสรุปสำนวนได้ ต้องส่งให้คณะอนุกรรมการกฎหมายของ ป.ป.ช.พิจารณา ทำให้คดีค้างเติ่งอยู่เป็นเวลานาน (อ่านเพิ่มเติม : เบ็ดเสร็จ 32 ราย! ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาคคีเอิร์ธฯ อดีตปธ.กก.บริหารกรุงไทยโดน 2 คน , เปิด 32 ชื่อ! โดนแจ้งข้อกล่าวหาคคีเอิร์ธฯ อดีตบิ๊กกรุงไทย-จนท.-ปธ.ที่ปรึกษาขุนคลังด้วย)
คดีที่สอง เพิ่งปรากฏเป็นข่าวซึ่งระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งองค์คณะกรรมการไต่สวน(มีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช.เป็นประธาน)ในคดีกล่าวหา นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีกระบวนการสรรหา การดำรงตำแหน่ง และการแต่งตั้ง นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นกรรมการ และตำแหน่งอื่นๆ ในธนาคารกรุง inไทยฯ โดยมิชอบเนื่องจากนายไกรฤทธิ์อายุเกิน 65 ปี ขัดต่อ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่กำหนดว่า กรรมการรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนคดีนี้มาแล้ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงตัวองค์ประกอบและกรรมการไต่สวนเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ป.ป.ช.บางคนและมีการแบ่งงานของกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่
เมื่อพิจารณาการไต่สวนคดีทั้ง 2 เรื่องจะเห็นว่า กรรมการ ป.ป.ช.หรือกรรมการไต่สวนบางคนตีความกฎหมายสับสน ตรรกะขัดแย้งกันเอง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า นับแต่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานในธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารกรุงไทยเกินกว่าร้อยละ 50 ทำให้ธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจเรื่อยมา
จนกระทั่งปี พ.ศ.2561 มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ และมีการบังคับใช้พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ยกเลิกพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทนิยาม "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 จาก "องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ" เป็น "องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ"
ดังนั้น เมื่อปี 2563 จึงมีการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความสถานะของ ‘กองทุนฟื้นฟูฯ’ และ ‘ธนาคารกรุงไทย’ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 หรือไม่ ซึ่งผลการพิจารณาออกมาชัดเจนว่า กองทุนฟื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทย ไม่ใช่ ‘รัฐวิสาหกิจ’และ’หน่วยงานของรัฐ’ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ไม่รับพิจารณาว่า กองทุนเพื่อการพื้นฟูฯและธนาคารกรุงไทยฯ อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือไม่
(ฉบับเต็ม! เปิดบันทึกคำวินิจฉัยกฤษฎีกาคณะพิเศษ ‘กรุงไทย’ พ้นสภาพ ‘รัฐวิสาหกิจ’)
ต่อมาในเดือนกันยายน 2564 คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ได้ตีความสถานะของธนาคารกรุงไทยอีกครั้งหนึ่ง(เรื่องเสร็จที่ 1140/2564) ตามคำขอของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ใน 3 ประเด็น
ประเด็นที่หนึ่ง ธนาคารกรุงไทยฯ มีสถานภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518
สรุปคือ ธนาคารกรุงไทยฯ จึงไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ
ดังนั้น กรรมการและพนักงานของธนาคารกรุงไทยฯ จึงไม่เป็นกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพ.ร.บ.ดังกล่าว
ประเด็นที่สอง ธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่
สรุปคือ เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร ตามบทนิยามคำว่า "หน่วยงานอื่นของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ
ดังนั้น เมื่อกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีทุนรวมอยู่ในธนาคารกรุงไทยๆ เกินกว่าร้อยละห้าสิบ ธนาคารกรุงไทยฯ จึงเป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ
ประเด็นที่สาม กรณี พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562
สรุปคือ ธนาคารกรุงไทยฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 3 แห่ พ.ร.บ..การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจฯ
จากการตีความทั้ง 2 ครั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปได้ว่า ธนาคารกรุงไทยไม่ๆได้มีสถานะเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’หรือ ‘หน่วยงานของรัฐ’ในกฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ และพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ
แต่ธนาคารกรุงไทยยังเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ
เมื่อธนาคารกรุงไทย ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ จึงยังเป็น ‘หน่วยงานอื่นของรัฐ’อยู่
ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงยังคงมีอำนาจไต่สวนกรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานธนาคารอยู่ เมื่อมีการกล่าวหาว่า ทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เองก็ทราบเป็นอย่างดี เพราะยังคงกำหนดให้ผู้บริหารและกรรมการของธนาคารกรุงไทยยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตลอดมา
จึงน่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่กรรมการไต่สวนบางคนตั้งประเด็นว่า ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนคดี กล่าวหา บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) ใช้เอกสารเท็จเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เพื่อชำระค่าสินค้า (ถ่านหิน) ที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียหรือไม่ ทั้งๆที่การไต่สวนใกล้จะเสร็จสิ้นอยู่แล้ว
มองในแง่ดีอาจเห็นว่า เป็นความรอบคอบเพื่อมิให้เป็นช่องโหว่ แต่มองในแง่ร้ายอาจเข้าใจได้ว่า เป็นความต้องการช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหา
สำหรับ คดีที่สอง เมื่อข้างชัดเจนว่า ธนาคารกรุงไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ กรรมการและพนักงานของธนาคารกรุงไทยฯ จึงไม่เป็นกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว
ดังนั้น การกล่าวหาว่า กระบวนการแต่งตั้งนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ซึ่งอายุเกิน 65 ปี เป็นกรรมการธนาคารจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จนถึงขั้นตั้งกรรมการขึ้นมาไต่สวน จึงเป็นเรื่องแปลกประหลากอย่างยิ่ง เสียเวลา เสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า การไต่สวน การบริหารจัดการคดีของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปอย่างล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ คดีใหญ่ๆและมีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลและอำนาจทางการเมืองถูกดองมานานหลายปีโดยไม่ทราบความคืบหน้า เช่น คดีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีการรับทรัพย์สินมูลค่าเกิน 3,000 บาท กรณีการตั้งบริษัทในค่ายทหารและการประมูลงานกองทัพภาคที่ 3 ของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชาและลูกชาย และกรณีการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ทรงอิทธิพลพรรคกล้าธรรมที่หลักฐานค่อนข้างชัดเจน
แทนที่จะเสียเวลาและทรัพยากรไปกับคดีเล็กๆไม่เป็นประเด็น(สามารถมอบหมายให้หน่วยงานอื่นดำเนินการได้) ควรหันมาจัดการคดีใหญ่ๆสำคัญๆเหล่านี้เพื่อเรียกศรัทธาคืนจากประชาชนได้แล้ว
บทความโดย :
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์