"...หากเราทำตัวให้ยุ่งก็แล้ว ตั้งสติก็แล้ว แต่ยังมีความรู้สึกวิตกกังวลอีก คราวนี้ คาร์เนกีทิ้งไพ่ใบสุดท้าย บอกให้เราอยู่ในโลกความเป็นจริง ทั้งนี้ ความวิตกกังวลทำให้เราเกิดจินตนาการ และคิดไปไกล จึงต้องถามตัวเองว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น มีมากน้อยแค่ไหน บางครั้งสิ่งที่เราวิตกกังวลนั้น เป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเคยเผชิญในชีวิตมาแล้ว..."
เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) ได้แนะนำไว้ในเรื่อง How to Stop Worrying and Start Living (วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข) ถึงแนวทางขจัดความวิตกกังวลที่เกิดจากเหตุการณ์เฉพาะเจาะจง เช่น
ผลการสอบหรือการประเมินผลการทำงานไว้ว่า เราต้องตั้งสติคิดว่าเหตุการณ์นั้น ร้ายแรงที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเรา จะมีทางออกอย่างไร ให้เลือกทางออกที่คิดว่าดีที่สุดแล้วลงมือปฏิบัติ
แต่สำหรับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลานั้น ไม่ว่าจะตามหลัก “ฮาวทู” หรือตามหลักศาสนา ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้อยู่กับปัจจุบันเพื่อไม่ให้จมกับทุกข์และลดความกระวนกระวายใจ ถือเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ปฏิบัติยากมาก ดังนั้น คาร์เนกีจึงมีข้อแนะนำให้ปฏิบัติตัวแบบง่าย ๆ เริ่มต้นด้วยการให้เราทำตัวยุ่งตลอดเวลาจนแทบไม่มีเวลาที่จะเกิดความรู้สึกวิตกกังวลใจ เพราะตามหลักจิตวิทยาและการทำงานของสมองมนุษย์นั้น เป็นไปไม่ได้ที่เราจะคิดอะไร 2 เรื่องพร้อมกัน ถ้าไม่เชื่อเราลองหลับตาแล้วคิดว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่บนดอยสุเทพ ในขณะเดียวกันให้คิดว่าเราจะไปเที่ยวไหนต่อในวันพรุ่งนี้ ผลเป็นอย่างไรครับ เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหมครับที่จะคิดทั้งสองเรื่องในเวลาเดียวกัน
เซอร์ วินสตัน เชอร์ซิล (Sir Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำงานอย่างยาวนานกว่า 18 ชั่วโมงในแต่ละวันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อผู้สื่อข่าวถามท่านว่า วิตกกังวล
ต่อหน้าที่ความรับผิดชอบที่แบกรับอยู่หรือไม่ ท่านตอบกลับว่า “ผมยุ่งตลอดเวลาจนไม่มีเวลาที่จะมานั่งวิตกกังวล” ในกรณีของคาร์เนกี เมื่อเขาว้าวุ่นกับการสำรวจภายในบ้าน พบว่ามีจุดที่ต้องซ่อมแซม ตั้งแต่ตู้เก็บหนังสือ กระไดขึ้นบ้าน ไปจนถึงรอยรั่วตามฝาผนัง รวมกันถึง 242 จุด ที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ในการซ่อมแซม ในขณะที่มีกิจกรรมพิเศษไปเรียนหนังสือหลักสูตรผู้ใหญ่สัปดาห์ละ 2 วัน พร้อมช่วยเหลืองานกาชาด ทำให้คาร์เนกีไม่มีเวลาคิดวิตกกังวล กระวนกระวายใจ มโนสร้างหนังผีในช่วงกลางวันแสก ๆ [1]
อย่างไรก็ดี เราคงจะไม่สามารถทำตัวยุ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะต้องมีวินาทีที่สมองเริ่มว่างและคิดถึงเรื่องที่กังวลใจ คาร์เนกีจึงแนะนำต่อ โดยให้เราดึงสติกลับมา เริ่มด้วยวิธีการที่เหมือนกับเราลงทุนในหุ้นมีคำสั่งล่วงหน้าให้ขายหุ้นเมื่อราคาหุ้นตกไปที่ราคาที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ (stop loss limit) ซึ่งในกรณีที่เราเกิดความวิตกกังวล เราสามารถนำแนวทางนี้มาประยุกต์ใช้ได้
คาร์เนกีได้เขียนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตว่า ได้ใช้ชีวิตในกรุงลอนดอนเพื่อเขียนนวนิยายกว่า 2 ปี แต่เมื่อเขียนเสร็จปรากฏว่า สำนักพิมพ์ไม่รับพิมพ์นวนิยายดังกล่าว ทำให้จิตตกทันที เริ่มวิตกกังวลถึงอนาคต แต่เมื่อได้นำแนวคิด stop loss limit มาประยุกต์ใช้ คือ ไม่จมปลักกับความล้มเหลวเรียกว่าตัดแล้วตัดเลย พร้อมนำบทเรียนมาใช้กับการดำเนินชีวิตต่อไป เมื่อคาร์เนกีคิดได้เช่นนี้ จึงตัดสินใจกลับไปสอนหนังสือและเริ่มเขียนหนังสือประเภทฮาวทูจนทำให้ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา [2]
หากเราทำตัวให้ยุ่งก็แล้ว ตั้งสติก็แล้ว แต่ยังมีความรู้สึกวิตกกังวลอีก คราวนี้ คาร์เนกีทิ้งไพ่ใบสุดท้าย บอกให้เราอยู่ในโลกความเป็นจริง ทั้งนี้ ความวิตกกังวลทำให้เราเกิดจินตนาการ และคิดไปไกล จึงต้องถามตัวเองว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น มีมากน้อยแค่ไหน บางครั้งสิ่งที่เราวิตกกังวลนั้น เป็นเรื่องเล็กมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เราเคยเผชิญในชีวิตมาแล้ว
คาร์เนกีได้ยกกรณีที่เกิดขึ้นกับพลเรือเอกโรเบิร์ต มัวร์ (Robert Moore) ภายในเรือดำน้ำ Baya S.S. 318 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 ที่ต้องดำดิ่งลงไปอยู่ใต้ท้องทะเล ปิดเครื่องยนต์เครื่องระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือโจมตีเรือดำน้ำญี่ปุ่นจับสัญญาณเสียงได้ ตลอด 15 ชั่วโมง ลูกระเบิดถูกทิ้งลงมาประทุใกล้เรือดำน้ำเข้าทุกขณะ มัวร์รู้สึกหนาวสั่นจนต้องใส่เสื้อกันหนาวทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิภายในเรือสูงกว่า 37 องศา คาดว่าตนเองคงเอาชีวิตไม่รอด แต่เมื่อเรือญี่ปุ่นพิฆาตทิ้งระเบิดจนหมดและแล่นจากไป มัวร์สาบานกับตัวเองว่า ต่อไปนี้จะเลิกคิดวิตกกังวลกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผ่านมา เขาเคยกังวลว่าจะตกงาน ไม่มีเงินซื้อรถ ซื้อบ้าน หรือเสื้อผ้าสวย ๆ ให้ภรรยา แต่ถือเป็นเหตุการณ์ที่เล็กมากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เขาเผชิญในเรือดำน้ำ [3]
คาร์เนกีสรุปไว้ว่า “อย่าให้เรื่องไม่เป็นเรื่องมากวนใจเรา เราควรสลัดออก เพราะชีวิตของเรามันสั้นกว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น” (Let’s not allow ourselves to be upset by small things we should despise and forget. Remember “Life is too short to be little) [4]
พวกเราทราบหรือไม่ว่า หนังสือฮาวทูที่คาร์เนกีเขียนได้รับการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 โดยคุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ ยอดนักแปลอมตะ ถือเป็นประเทศที่สองในเอเชียที่นำหนังสือของคาร์เนกีมาแปลเป็นภาษาท้องถิ่น (ประเทศแรกคือญี่ปุ่น) สร้างความงุนงงและแปลกประหลาดใจให้กับคาร์เนกีเป็นอย่างมากเพราะในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยมีพลเมืองเพียง 16 ล้านคน ทำให้คาร์เนกีถึงกับตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทยในปี พ.ศ. 2496
วันที่คาร์เนกีมาถึงสนามบินดอนเมือง และเดินทางเข้าใจกลางเมืองด้วยเส้นทางถนนพหลโยธิน ซึ่งยังเป็นถนนสองเลน รถวิ่งสวนทางกัน สองข้างทางผ่านทุ่งสวนไร่นา มีบ้านคนพักอาศัยประปราย
คาร์เนกียิ่งแปลกใจ นึกในใจว่าผู้แปลหนังสือของเขาเป็นภาษาไทยช่างกล้าหาญ กล้าลงทุนที่จะเสี่ยงกับประชากรอันน้อยนิด ต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่มีประชากรมากกว่าถึงสองสามเท่า และบ้านเมืองพัฒนาไปมาก ถือได้ว่าคุณอาษาได้ให้เกียรติกับคาร์เนกีเป็นอย่างมากที่มีการแปลหนังสือของเขาเป็นภาษาไทย และจบลงด้วยการขอค่าลิขสิทธิ์ในการแปลเพียง 1 ดอลลาร์ ก่อนเดินทางกลับไป
บอกเล่าให้คนสหรัฐฯ ได้รับฟังเรื่องราวดี ๆ ของประเทศไทย ถือเป็นเกร็ดที่โยงกับเรื่องราวของเดล คาร์เนกี ปรมาจารย์นักเขียนหนังสือประเภทฮาวทูอย่างน่าภาคภูมิใจ [5]
อ่านเพิ่มเติม : ความวิตกกังวล: บ่อเหตุของความทุกข์
แหล่งที่มา:
[1] Dale Carnegie, How to Stop Worrying and Start Living, POCKET BOOKs, ค.ศ. 1985, page 57-60
[2] Dale Carnegie, page 94-98
[3] Dale Carnegie, page 67-69
[4] Dale Carnegie, page 74
[5] Pipat Wongwiwat คุณอาษา ขอจิตต์เมตต์ ผู้แปลหนังสือแนว How to ชุดแรกของไทย Oct 2, 2020 https://www.bing.com/videos/riverview/relatedvideo