"...หนังสือวิธีชนะทุกข์และสร้างสุข เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1948 เมื่อคาร์เนกีค้นพบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการพูดในที่สาธารณะที่ตนเองสอนอยู่นั้น เกิดความไม่มั่นใจและเกิดความประหม่าคือ “ความวิตกกังวล” เกิดความกลัว จินตนาการไปต่าง ๆ นานา และเมื่อคาร์เนกีเข้าไปในห้องสมุดค้นพบว่า มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล (worrying) เพียง 22 เล่ม จนเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้าและนำแนวทางที่เขาค้นคิดไปทดสอบกับกลุ่มคนตัวอย่าง ใช้เวลากว่า 8 ปี กว่าจะผลิตหนังสือเล่มนี้ออกมา..."
เสียงเปิดประตูรั้วพร้อมกับรถยนต์ที่แล่นเข้ามาในบ้าน ทำให้ผมรู้สึกโล่งอก หลังจากนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ และกระสับกระส่ายมาหลายชั่วโมง ความรู้สึกกระวนกระวายใจและจิตตกเช่นนี้ เกิดขึ้นกับผมตั้งแต่เด็ก เมื่อพ่อแม่ต้องออกไปงานเลี้ยงในช่วงค่ำ และความรู้สึกนี้ยังคงอยู่เมื่อลูกชายกลับมาบ้านช่วงดึกดื่น
ความวิตกกังวลถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ห้ามคิดไม่ได้ บางครั้งสติไม่อยู่กับตัวเองจินตนาการและมโนกันเลยเถิดจนทำให้เกิดความทุกข์ เช่น เวลาเราลุ้นผลการตรวจสุขภาพประจำปี คิดไปก่อนว่าหากผลออกมาไม่ดี เราจะต้องรักษาอย่างไรดี หมอถึงกับต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรจะย้ายโรงพยาบาลไหม แล้วเราจะบอกครอบครัวอย่างไร คือคิดกันไปไกล ทั้งที่การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้เราสามารถดูแลป้องกันและรักษากันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ผมได้หยิบหนังสือเรื่อง How to Stop Worrying and Start Living (วิธีชนะทุกข์และสร้างสุข) เขียนโดย เดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) ปรมาจารย์นักเขียนหนังสือชาวสหรัฐฯ ประเภท “ฮาวทู” ที่ซ่อนอยู่ในตู้หนังสือกว่า 10 ปีมาอ่าน หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งใน 3 เล่มคลาสสิกที่สร้างชื่อให้กับ คาร์เนกี ประกอบด้วย วิถีชนะมิตรและจูงใจคน การพูดในที่ชุมชน และวิธีชนะทุกข์และสร้างสุข ซึ่งคาร์เนกีเริ่มเขียนหนังสือฮาวทูตั้งแต่ปี ค.ศ. 1915 และคนทั่วโลกยังนำมาใช้เสริมสร้างศักยภาพของตนเองจนถึงทุกวันนี้
หนังสือวิธีชนะทุกข์และสร้างสุข เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1948 เมื่อคาร์เนกีค้นพบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการพูดในที่สาธารณะที่ตนเองสอนอยู่นั้น เกิดความไม่มั่นใจและเกิดความประหม่าคือ “ความวิตกกังวล” เกิดความกลัว จินตนาการไปต่าง ๆ นานา และเมื่อคาร์เนกีเข้าไปในห้องสมุดค้นพบว่า มีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล (worrying) เพียง 22 เล่ม จนเป็นที่มาของการศึกษาค้นคว้าและนำแนวทางที่เขาค้นคิดไปทดสอบกับกลุ่มคนตัวอย่าง ใช้เวลากว่า 8 ปี กว่าจะผลิตหนังสือเล่มนี้ออกมา
เนื้อหาภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ ไม่แตกต่างจากแนวคิดที่จะขจัดความทุกข์ และความกระวนกระวายใจที่เกิดขึ้นเพราะเราคิดอย่างไรจะเป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราเห็นเราจะได้พบเจอตามที่คิดตามที่เห็น ดังนั้น คนเราจะทุกข์หรือสุขขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง เรามักกังวลกับอนาคต ทั้ง ๆ ที่ยังไม่เกิด จมกับความทุกข์ในอดีตที่ผ่านไปแล้ว แต่สิ่งที่เราควรปฏิบัติคือ ใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในแต่ละวัน แต่ไม่ใช่หมายถึงไม่สนใจกับอดีตและอนาคต เพียงแต่ไม่จมลึก แค่ใส่ใจกับอนาคตเพื่อเตรียมการได้ ไม่กังวลเกินไปและนำอดีตมาเป็นบทเรียน แต่ไม่ฉุดรั้งชีวิต1/
คาร์เนกีได้หยิบยกเรื่องราวในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 1871 ของนิสิตแพทย์คนหนึ่งที่ได้อ่านข้อคิดของทอมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle) นักปราชญ์ชาวสกอตแลนด์ที่มีความยาวเพียง 21 คำ ทำให้ชีวิตของนิสิตแพทย์คนนี้เปลี่ยนไป จากคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จิตตกไปทุกเรื่อง กลัวว่าจะสอบไม่ผ่าน ไม่ได้เป็นแพทย์ ชีวิตจะหาทางออกไม่ได้ กลายมาเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล Johns Hopkins โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากกษัตริย์อังกฤษ และชีวิตของเขามีเรื่องเล่ามากมาย ทำให้หนังสือชีวประวัติของเขายาวถึง 1,466 หน้า ท่านผู้นั้นคือ เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ (Sir William Osler) ซึ่งคาร์ไลล์กล่าวไว้ว่า “เป้าหมายของชีวิตไม่ได้อยู่ตรงไฟสลัว ๆ ที่อยู่ข้างหน้าเรา แต่อยู่ที่ฝ่ามือของเราที่เห็นได้เด่นชัดต่างหาก” (Our Main business is not to see what lies dimly at a distance, but to do what lies clearly at hand.”2/
พวกเราคงสรุปว่า การให้อยู่กับปัจจุบันเพื่อไม่ให้จมกับทุกข์และลดความกระวนกระวายใจนั้น พูดง่ายแต่ทำยาก ปัญหาแต่ละคนไม่เหมือนกัน รับมือไม่เหมือนกัน แต่หนังสือเล่มนี้ต่างกับหนังสือฮาวทู เล่มอื่น ๆ ช่วยเรียบเรียงความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดึงสติเรากลับมา พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปประยุกต์ใช้
คาร์เนกีได้อธิบายว่า ความวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ 1. จากเหตุการณ์เฉพาะเจาะจง เช่น ผลการสอบหรือการประเมินผลการทำงาน และ 2. จากจิตใต้สำนึก ทำให้ความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
คาร์เนกีได้แนะนำว่า ในกรณีความวิตกกังวลจากเหตุการณ์เฉพาะเจาะจง เราต้องตั้งสติคิดว่าเหตุการณ์นั้น ร้ายแรงที่สุดจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา จะมีทางออกอย่างไรบ้าง ให้เลือกทางออกที่เห็นว่าดีที่สุด แล้วลงมือทำ
วิลลิส แคเรียร์ (Willis Carrier) วิศวกรชาวอเมริกัน รู้จักกันดีในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศสมัยใหม่ คิดค้นเครื่องปรับอากาศเครื่องแรกและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแคเรียร์ ในปี ค.ศ. 1915 แต่ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จ เขาเป็นคนขี้กังวล กระวนกระวายใจ จิตตก เริ่มทำงานให้กับบริษัทที่ค้นคิดเครื่องทำความสะอาดเครื่องจักรในโรงงาน แต่เมื่อนำไปติดตั้งปรากฏว่าไม่สามารถทำให้เครื่องจักรของลูกค้าสะอาดตามที่รับประกันไว้ ทำให้แคเรียร์เกิดความเครียด จิตตก ท้องไส้ปั่นป่วน ทุกข์ใจไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะกลัวลูกค้าจะต่อว่าและไปฟ้องบริษัทจนถูกไล่ออกจากงาน
แต่เมื่อแคเรียร์ดึงสติตนเองกลับมา คิดขึ้นได้ว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดจากผลการปฏิบัติงานของเขา คงไม่ถึงกับทำให้ติดคุกติดตะราง เขายอมรับว่า อาจจะถูกย้ายออกจากงานที่รับผิดชอบ และบริษัทอาจจะสูญเสียลูกค้าไป แต่การนำเครื่องทำความสะอาดนี้ไปให้ลูกค้าใช้ ถือเป็นการทดลอง เป็นเครื่องประดิษฐ์ วิวัฒนาการใหม่ หากไม่ได้ผลก็ถือว่าบริษัทเสียเงินค่าวิจัยทดลองไป 20,000 ดอลลาร์ เพื่อก้าวต่อไป
เมื่อคิดได้เช่นนั้น แคเรียร์กล้าที่จะเผชิญกับความจริง เขาเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง จนค้นพบวิธีแก้ไข เป็นที่มาของการสร้างเครื่องปรับอากาศแคเรียร์ ที่คนทั่วโลกรู้จักจนถึงทุกวันนี้
แคเรียร์กล่าวว่า “ความวิตกกังวลเป็นบ่อเกิดแห่งความกลัว ทำให้เราไม่สามารถค้นพบศักยภาพในตัวเราได้ เมื่อเรามีความกังวลเราจะไม่มีสติ ล่องลอยไปเรื่อย ๆ ไม่กล้าตัดสินใจ แต่หากเรากล้าเผชิญกับความจริง ยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เราจะสามารถก้าวข้ามความกังวลเหล่านั้น และพร้อมที่จะหาแนวทางแก้ไขปัญหาในทุกสถานการณ์”3/
สัปดาห์หน้า ผมจะเขียนต่อถึงแนวทางที่คาร์เนกีแนะนำในการขจัดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจง รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อมีการนำหนังสือของเขามาแปลเป็นภาษาไทยเมื่อ 77 ปีที่แล้ว
รณดล นุ่มนนท์
17 กุมภาพันธ์ 2568
แหล่งที่มา :
1/ เปลี่ยนนิสัยเลิกเป็นทุกข์ | รีวิวหนังสือ How to stop worrying and start living Podcast Ep. 24
2/ Dale Carnegie, How to Stop Worrying and Start Living, POCKET BOOKs, 1985, page 3-4
3/ Dale Carnegie, page 16-18