"...Car Ratio คือ อัตราส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สิน ที่มีเกิน 100% ก็รับประกันได้ แต่เพื่อความสบายใจก็ใช้ 140% ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทุนจดทะเบียนหรือจำนวนสินทรัพย์ ซึ่งถ้าหากทางหน่วยงานจะมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องของหน่วยงาน ไม่เกี่ยวกับคปภ...."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : กรณีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ว่า บริษัทจะต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการ แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 19 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาอนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการซื้อประกันสุขภาพต่อไป
ขณะที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีข้าราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 24 ก.ย. 2567 และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่น ๆ โดยกำหนดคุณสมบัติเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท จากเดิม 17 บริษัทประกันภัย ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน ตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
- 17 แห่งเข้าได้แค่ 2! ร้อง ป.ป.ช.สอบเงื่อนไขคัดเลือก บ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล.
- พร้อมให้ป.ป.ช.สอบ! อธิบดี กกจ.ยันคัดเลือกบ.รับทำประกันแรงงานต่างด้าว 5 พันล. โปร่งใส
- ไม่ยุติธรรม! เอกชนโต้ กกจ.กำหนดมาตรฐานเลือกบ.รับทำประกันต่างด้าว - คปภ.เคยค้านแล้ว
- ว่าด้วยมติ ครม. 24 ก.ย.67! ผ่าแผนคัดเลือก บ.รับทำประกันต่างด้าว 5 พันล.โปร่งใสจริงหรือ?
หนึ่งในประเด็นสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไปแล้ว คือ ในการประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยฯ ตามคำสั่งที่ 0407/2567 ลงวันที่ 3 ต.ค.2567 ของกรมการจัดหางาน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2567 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2567 มีการหยิบยกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัยที่จะเข้าร่วมการคัดเลือก ขึ้นมาพิจารณา 5 ประเด็น ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขว่าเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อเสนอเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำเนินเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 รวมอยู่ด้วย
โดยการประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมประชุมด้วย ขณะที่ผู้แทนจาก คปภ. ระบุความเห็นว่า หากเทียบเคียงกับบริษัทประกันภัยที่เข้ารับประกันสุขภาพคนต่างต้างด้าวเมื่อปี 2566 จะพบว่ามีจำนวนบริษัทที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จำนวน 17 บริษัท ในปีนี้หากคณะทำงานกำหนดสินทรัพย์รวมจำนวน 3 หมื่นล้านบาทขึ้นไป จะปรากฏข้อมูลบริษัทประกันภัยเพียง 3 บริษัท และหากพิจารณารวมกันทั้งอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Car Ratio) และสินทรัพย์ จะมีบริษัทประกันภัยที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขเพียง 2 บริษัท
สอดคล้องกับข้อมูลของ ตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ที่ไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องการออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวว่า เป็นการล็อกสเปก เอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนบางกลุ่ม ดังที่กล่าวไปแล้ว
จึงนำมาสู่คำถามสำคัญว่า สุดท้ายแล้วความเห็นของ คปภ. ต่อ การคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 เป็นอย่างไรกันแน่?
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้านกฎหมายและตรวจสอบ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีข้างต้นเป็นทางการ มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
อดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ / ภาพจาก https://www.bluechipthai.com/
นายอดิศร ยืนยันกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า คปภ.ไม่ได้ร่วมการคัดเลือกกรณีนี้ แต่ก่อนหน้านั้นหน่วยงานมีการเชิญ คปภ.ไปสอบถามหลักเกณฑ์การพิจารณา ว่ามีเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาความปลอดภัยและมั่นคงของบริษัทประกันภัย ซึ่งทาง คปภ. ก็ให้ข้อมูลไปหมดแล้ว โดยระบุว่าดูพฤติกรรมการกระทำผิดของบริษัท และ Car Ratio เป็นหลัก
"Car Ratio คือ อัตราส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สิน ที่มีเกิน 100% ก็รับประกันได้ แต่เพื่อความสบายใจก็ใช้ 140% ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทุนจดทะเบียนหรือจำนวนสินทรัพย์ ซึ่งถ้าหากทางหน่วยงานจะมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องของหน่วยงาน ไม่เกี่ยวกับคปภ."
นายอดิศร กล่าวย้ำว่า "ฉะนั้นเรื่องที่เกิดขึ้น จะอ้างว่า คปภ. มีส่วนกำหนดไม่ได้ เพราะเราบอกแล้วว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เกณฑ์ดูแลกำกับความมั่นคง เราก็บอกเขาว่าปกติเราดูแค่สองอย่าง"
เมื่อถามว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์ Car Ratio 200% และสินทรัพย์รวม 30,000 ล้าน ที่ถูกมองว่า เป็นการกีดกันบริษัทประกันหลายแห่งไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ นี้
นายอดิศร ตอบว่า ตนเองให้ความเห็นเช่นนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเหมือนการโจมตีหน่วยงานโดยตรง แต่ความเห็นของคปภ. ก็เป็นอย่างที่กล่าวไปแล้ว คือ ดูที่ Car Ratio ซึ่งระดับที่คปภ.คิดว่าอยู่ในระดับความสบายใจขั้นพื้นฐาน คือ 140% แต่ถ้าจะสูงกว่า 140% ก็เป็นเรื่องที่ดี บริษัทที่มีระดับสูงกว่า 140% ก็มีหลายบริษัท
"แต่เรื่องของทุนจดทะเบียนนั้น คปภ.ไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะทุนจดทะเบียนไม่ได้บอกสถานะของบริษัทว่ามีความมั่นคงหรือไม่ เพราะความมั่นคงของบริษัทดูที่ อัตราส่วนทรัพย์สินต่อหนี้สิน (Car Ratio) เช่น บริษัท A มี สินทรัพย์ 30,000 ล้านบาท มีหนี้สิน 30,000 ล้านบาท Car Ratio คือ 100% แสดงว่าไม่มีเงินที่เป็นสภาพคล่องเหลืออยู่ เพราะสินทรัพย์ทั้งหมดผูกพันกับหนี้สิน ส่วนบริษัท B มีสินทรัพย์ 20,000 ล้านบาท มีหนี้สิน 15,000 ล้านบาท เมื่อนำทรัพย์สินกับหนี้มาหักลบ จะพบว่ามีเงินเหลือ 5,000 ล้านบาท (Car Ratio 133%) นี่คือวิธีที่ดูความมั่นคง"
นายอดิศร ยังย้ำว่า "มาถาม คปภ. ว่าถ้าอยากได้ Car Ratio 300% ผิดหรือไม่ ไม่ผิด แต่คนที่เข้ามาร่วมก็จะน้อยลง ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ซื้อที่จะเลือก แต่เมื่อมีการดันเกณฑ์ขึ้นไปสูงมาก ๆ แล้วมีถ้าเกิดคำถามว่า เกณฑ์สูงไปหรือไม่ สูงจนมีผู้เข้าร่วมน้อยเกินไปหรือไม่ อันนี้ตอบยากมาก เพราะในฐานะคปภ.ผมบอกไม่ได้เลย ถ้าบอกว่า Car Ratio 200% มีบริษัทกี่บริษัท ซึ่งก็มีไม่น้อย แต่ถ้าบอกว่าสินทรัพย์ 30,000 ล้านมีกี่บริษัท ผมไม่รู้เลยเพราะผมไม่ได้กำกับวิธีนั้น ผมเชื่อว่าผู้แทนของเราบอกไปแล้ว กรณีนั้นหน่วยงานต้องไปดูเองว่าจะตั้งเกณฑ์อะไรเพิ่ม แล้วดูความเหมาะสม ว่าต้องการให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อนแค่ไหน"
"ทุนจดทะเบียนเป็นเหมือนสินทรัพย์ แต่มีความซับซ้อน คือ การเปิดบริษัทอาจถูกเรียกทุนจดทะเบียนทั้งหมด หรือบางส่วนอาจไม่ถูกเรียกจากผู้ถือหุ้นก็ได้ ในฐานของคปภ. จะดูค่า Car Ratio ก็จะดูจากสินทรัพย์ที่จับต้องได้จริง มีสภาพคล่อง สินทรัพย์บางอย่างก็ไม่นับเป็นสินทรัพย์ เช่น บางบริษัทมีค่า Car Ratio 100% แต่อาจมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินก็ได้ แต่เพราะคปภ.นับแค่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง"
********
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นจาก นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้านกฎหมายและตรวจสอบ ที่ตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา ต่อกรณีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบริษัทประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขว่าเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อเสนอเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำเนินเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ที่กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมการจัดหางาน ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ให้แรงงานต่างด้าวต้องทำประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลรัฐหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความมั่นคงตามที่กรมการจัดหางานกำหนด ส่วนมาตรฐานความมั่นคงของบริษัทประกันนั้น ทางกรมการจัดหางานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้ามาพิจารณาร่วมกัน จึงออกเป็นมาตรฐานดังกล่าวออกมา อีกทั้งกรมฯ ยังดำเนินการตามมติครม. ทุกประการ และเป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเหตุการณ์ที่หลายคนทราบว่าในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการขายประกันโควิด แล้วมีบริษัทประกันสุขภาพปิดตัว 2 บริษัท แล้วขณะนี้ยังมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่เสร็จสิ้น