"...คอร์รัปชันมีนวัตกรรมที่ซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น เป็นเครือข่ายมากขึ้น การต่อต้านคอร์รัปชันด้วยวิธีการแบบเดิมๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ทุกฝ่ายต้องทำงานหวังผล ใส่ใจในผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบได้จริง มากกว่าผลงานที่ปรากฏ โดยคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม สร้างความร่วมมือหลากหลายมิติ ใส่ใจคนในองค์กรและพลังประชาชน..."
ปัจจุบันมีแนวทางใหม่ๆ ในการป้องกันคอร์รัปชันของภาครัฐ นอกเหนือไปจากการใช้กฎหมายและหน่วยงาน ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ที่เราคุ้นเคยมายาวนาน อันเป็นผลจากการผลักดันของคนไทยและเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นใหม่ ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
5 ทิศทางใหม่ได้แก่ 1. สร้างเครื่องมือใหม่ไปครอบระบบเก่า 2. ใช้เทคโนโลยีเพื่อประชาชน 3. พัฒนาระบบตรวจสอบกำกับดูแล 4. ตีกรอบภารกิจรัฐให้ทันสมัย 5. ปฏิรูประบบราชการและการบริการประชาชน
1. สร้างเครื่องมือใหม่ไปครอบระบบเก่า โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ
ทราบกันดีว่าระบบราชการนั้นยากจะแก้ไขเพราะล้วนยึดโยงกับกฎหมาย อำนาจ ภารกิจของตนเอง และมีสายการบังคับบัญชาที่สร้างบุคลากรให้เติบโตผูกพันกันมา ทางที่ทำได้เร็วกว่าคือสร้างระบบขึ้นมาใหม่ไปครอบระบบเดิมในลักษณะของการตรวจสอบ ความโปร่งใส การกระจายงาน โดยมองผลประโยชน์ส่วนรวมและประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นคือ Traffy Fondue ที่ กทม. และอีกหลายหน่วยงานนำมาใช้ ระบบนี้นอกจากรองรับการร้องเรียนของประชาชนได้อย่างไม่จำกัดแล้ว ยังสามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานเจ้าตัวจริงที่ถูกร้องเรียนมาร่วมแก้ปัญหาโดยตรง ไม่ต้องรอให้ กทม. ส่งเรื่องประสานงานไปมา เช่น การไฟฟ้าฯ การประปาฯ กสทช. ตำรวจจราจร กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ
Traffy Fondue ยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อีกมากสำหรับทุกหน่วยงานของรัฐ
อีกระบบคือ BMA OSS ของ กทม. ที่เปิดให้ประชาชนยื่นขอใบอนุญาตและติดตามผลทางออนไลน์ หากไม่พบเรื่องหรือไม่คืบหน้า ไม่เสร็จสิ้นภายในกำหนด ก็สามารถร้องเรียนได้ทันที ทำให้โปร่งใส สบายใจ ลดเงื่อนไขให้ประชาชนต้องไปพบปะเจ้าหน้าที่โดยไม่จำเป็น
ความเห็น: เทคโนโลยีไม่โกหก ตรวจสอบหลักฐานย้อนหลังได้ ประชาชนติดตามเรื่องของตนเองตลอด แต่แนวทางนี้ถูกใช้น้อยเพราะต้องอาศัยผู้นำที่ตั้งใจ มีวิสัยทัศน์ มองออกว่าติดขัดที่ผู้เกี่ยวข้อง/กฎหมายหรือระบบอย่างไร มีคอร์รัปชันตรงไหน ทางออกควรเป็นเช่นไร แล้วต้องโน้มน้าวหน่วยงานอื่นให้มาร่วมมือได้
2. ใช้เทคโนโลยีเพื่อประชาชน (Civic Tech) ที่ใครๆ ก็ใช้งานได้
เกิดจากความตั้งใจของประชาชนในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชนด้วยเทคโนโลยี ให้เข้าถึงการให้บริการของรัฐ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ การกำหนดนโยบายสาธารณะ และการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและรักษาสาธารณะประโยชน์
ประเด็นคือ ประชาชนย่อมเข้าใจความต้องการของประชาชน การเดินหน้าไม่รอหน่วยงานรัฐที่มีข้อจำกัดมากมายจึงเกิดเป็นผลงาน เช่น ACT Ai ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ KRAC Corruption ของ แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม Parliament Watch, They Work for Us และ Election ของ We Vis เป็นต้น
ความเห็น: ผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นรัฐบาลหลายประเทศจึงให้การสนับสนุน มีส่วนร่วมในการใช้และพัฒนาระบบ เชื่อว่าภาครัฐของไทยจะเห็นคุณค่า “ร่วมใช้ประโยชน์” ร่วมสนับสนุนเช่นเดียวกัน
3. พัฒนาระบบตรวจสอบและกำกับดูแล (Governance) เพื่อป้องกันทุจริตภายในองค์กร
3.1 ปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดรับการประเมิน ITA ของ ป.ป.ช.
เนื่องจากมีการประเมิน ITA ทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางหน่วยงานเริ่มวางแนวทางอบรมบุคลากร ให้เกิดความตระหนักถึงสิ่งที่ต้องถูกประเมิน พัฒนาระบบงานและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับภารกิจขององค์กรให้สอดคล้องกับประเด็นที่ถูกประเมิน เชื่อว่าสิ่งที่จะได้คือความรับผิดชอบในหน้าที่ เช่น การปรับโครงสร้างหน่วยงานภายใน จัดฝึกอบรมบุคลากรให้รับรู้และมีส่วนร่วมกับภาระกิจองค์กร มีระบบเปิดเผยข้อมูล การสร้างความร่วมมือกับผู้มาใช้บริการ การวางระบบตรวจสอบประเมินภายใน ฯลฯ
ความเห็น: แนวทางนี้เป็นการปรับตัวโดยแรงจูงใจของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเอง ที่เห็นความต้องการของรัฐ เห็นสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงโดยคนในที่รู้ธรรมชาติขององค์กรเป็นอย่างดีย่อม “มีค่ามาก” แต่ความพยายามนี้ยังไม่แพร่หลาย เชื่องช้าและมากอุปสรรค เพราะรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานมักสนใจแค่เพียงว่า ขอให้คะแนน ITA ออกมาดี จะทำอย่างไรก็ได้ (โกงก็เอา)
3.2 ปรับเปลี่ยนให้เป็น “องค์กรสมัยใหม่” ที่ทันโลกและมีนวัตกรรม
เป็นการปรับเปลี่ยนไปจากโครงสร้างองค์กรเดิมๆ ให้เป็นสังคมเปิด ตรวจสอบดูแลกันมากขึ้นอย่างเปิดเผยเป็นระบบ ใส่ใจการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล การตรวจสอบภายใน การประเมินและบริหารความเสี่ยง หน่วยรับและดูแลเรื่องร้องเรียนจากบุคลากรภายในและผู้มาติดต่อใช้บริการ มีประมวลจริยธรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจและบริการของตน เป็นต้น
ความเห็น: ภารกิจเหล่านี้จำเป็นต้องมีบุคคลภายนอกมาร่วมด้วย เพื่อดึงประสบการณ์ ขจัดความเกรงใจและปกป้องกันเอง หน่วยงานที่พัฒนาแนวทางนี้ได้ดีมักเป็นรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน เช่น ไทยพีบีเอส ปตท. สถาบัน TIJ เป็นต้น
4. ตีกรอบ “ภารกิจของรัฐ” ให้ทันสมัย
เพื่อความเข้าใจขอยกตัวอย่าง กรณีประเทศไทยต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การเปิดบริการโรงแรมของเอกชนเพื่อรองรับจึงจำเป็น แต่ที่ผ่านมาการเปิดโรงแรมสักแห่งเป็นเรื่องยุ่งยากสิ้นเปลือง เพราะรัฐมองว่าเป็นเรื่อง “ความมั่นคง ปลอดภัย” กระทรวงมหาดไทยจึงวางเงื่อนไขเข้มข้น วันนี้เราต้องมองใหม่ให้เป็นเรื่องที่รัฐต้อง “สนับสนุน” และกำกับดูแลตามสมควรด้วยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อย่างนี้เป็นต้น
การกำหนด “ภารกิจของรัฐแนวใหม่” ให้สอดคล้องกับพลวัตของโลกธุรกิจและสังคมในแต่ละเรื่องแต่ละมิติ การปรับเปลี่ยนความเข้มงวดในการควบคุมหรือแทรกแซงการใช้ชีวิตหรือธุรกิจการค้าของประชาชน พึงทำเท่าที่จำเป็นตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปมากแล้ว เช่น กิจการโรงแรม สถานบริการที่มีความเสี่ยงต่ำในการทำผิดกฎหมาย
ลดขนาดรัฐด้วยการลดภารกิจที่ไม่จำเป็นแล้ว จำกัดบทบาทของรัฐ ลดการผูกขาดอำนาจของหน่วยงาน เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและกระจายงาน หน่วยงานรัฐหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้ากับภาคเอกชน วางเงื่อนไขการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจน ลดงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ลดจำนวนหน่วยงานและจำนวนบุคลากร
เอกสารที่ราชการออกให้ เช่น บัตรประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ต้องถูกเชื่อมโยงและนำไปใช้ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารให้คุ้มค่า
ผู้เขียนพบว่า ผู้ผลักดันเรื่องนี้เป็นหลักคือ กพร. สนง. กฤษฎีกา และนักบริหารภาคเอกชนบางท่าน
ความเห็น: แรงจูงใจเรื่องนี้เกิดจากปัจจัยภายนอกในยุคโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น การแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกที่ทำให้ไทยถูกประเมินจากนานาชาติหลายด้าน เช่น Ease of Doing Business (B-Ready), World Competitiveness, Rule of Law Index เป็นต้น และความต้องการสร้างตลาดการค้าใหม่เช่น OECD, BRICS หรือ FTA เป็นต้น
5. ปฏิรูประบบราชการและการบริการประชาชน
แนวทางนี้แม้จะเริ่มมาหลายปีแล้ว แต่ยังมีข้อเสนอใหม่ๆ น่าสนใจอีกมาก โดยสำนักงาน กพร. เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน เพื่อปฏิรูประบบราชการและการบริการให้ประชาชน พ่อค้านักธุรกิจพึงพอใจ สะดวก ชัดเจน รวดเร็ว ไม่สร้างภาระเกินจำเป็น โดยแต่ละหน่วยงานรัฐต้องทบทวนกระบวนงานให้ทันสมัย ลดขั้นตอน ลดเอกสาร ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยิบย่อย เปิดบริการออนไลน์ เป็นต้น
แนวปฏิบัติที่ทราบกันดี เช่น ไม่เรียกสำเนาบัตรประชาชและเอกสารอื่นที่ราชการเป็นผู้ออกให้ เมื่อชำระค่าต่อใบอนุญาตแล้วให้ใช้ใบเสร็จรับเงินนั้นแทนการยื่นขอต่อใบอนุญาต กำหนดกลุ่มธุรกิจที่ยื่นจดแจ้งแล้วให้ดำเนินธุรกิจได้เลย เช่น ร้านเกม ร้านคาราโอเกะ ขายสุรา ไพ่ บุหรี่ ขายปุ๋ย ร้านทำผม กำหนดกิจการที่สามารถทดลองทำการค้าได้ก่อน เช่น คาร์แคร์ ขายเครื่องสำอาง ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
เชื่อมโยงภารกิจกับหน่วยงานรัฐอื่น เช่น ระบบการอนุญาตหลัก (Super License) เปิดศูนย์บริการครบวงจร (One Stop Service) ให้บริการออนไลน์ เช่น การยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ การใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ใบอนุญาต (e-License) ใบเสร็จรับเงิน (e-Receive) อากรแสตมป์ (e-Stamp) ใบอนุญาตอนุมัติ (e-License) เป็นต้น
ความเห็น: แนวทางนี้มีกฎหมาย กฎระเบียบและมติ ครม. รองรับจำนวนมาก มีหน่วยงานสนับสนุนมากพอควร อีกทั้งกระแสเทคโนโลยีช่วยทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้มากขึ้น
แต่การเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานยังน้อยเกินไปและมีข้อจำกัดอยู่มาก อาจเป็นเพราะความไม่เคยชินหรือความกลัวของเจ้าหน้าที่ กฎระเบียบภายในหน่วยงานยังไม่ได้แก้ไข หลายกรณีเกิดจากเจ้าหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการไม่รู้จักหรือไม่นิยม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จำเป็นที่ประชาชนและนักธุรกิจต้องช่วยกันใช้ระบบใหม่เหล่านี้ แล้วประเมิน ให้ข้อคิดเห็นต่อหน่วยงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงกระตุ้นไปถึงผู้มีอำนาจระดับนโยบาย
บทสรุป
คอร์รัปชันมีนวัตกรรมที่ซับซ้อนแนบเนียนมากขึ้น เป็นเครือข่ายมากขึ้น การต่อต้านคอร์รัปชันด้วยวิธีการแบบเดิมๆ จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ทุกฝ่ายต้องทำงานหวังผล ใส่ใจในผลลัพธ์ที่สร้างผลกระทบได้จริง มากกว่าผลงานที่ปรากฏ โดยคำนึงถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม สร้างความร่วมมือหลากหลายมิติ ใส่ใจคนในองค์กรและพลังประชาชน
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
23 กันยายน 2567