“…ถ้าดูตอนนี้ ในฝั่งทุน ถามว่า balance sheet ของแบงก์พาณิชย์ต่างๆ เป็นตัวที่ทำให้เขาไม่ปล่อยหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ใช่ เพราะทุนของเขาพอ ก็เลยกลับมาถึงสิ่งที่เขามองว่า ถ้าสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ credit risk เป็นอย่างนี้ ถ้ามันไม่คุ้มกับการที่เขาจะปล่อย เขาก็เลยไม่ปล่อย จึงทำให้ credit growth ชะลอตัวลง…”
..........................................
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2567 เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้บริหาร ธปท. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวภายในงาน ‘BOT Press Trip 2024’ กรณีที่มีคำถามว่า สินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์และสภาพคล่องในระบบที่ ‘ลดลง’ นั้น เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของ ธปท. ใช่หรือไม่
ผู้สื่อข่าว : การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้นั้น ได้มีการโยงไปถึงข้อโจมตีที่มีมาโดยตลอดว่า ทำให้แบงก์ชาติต้องดูดสภาพคล่องออก ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องหายไป และวิธีการที่ ธปท. ดูดสภาพคล่อง ซึ่งก็คือการออกพันธบัตรนั้น ทำให้แบงก์ไม่ต้องทำงาน จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร ?
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) : อยากให้มองว่า การปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ จริงๆแล้ว ตัวที่สำคัญที่สุด มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การประเมินว่าลูกค้าที่เข้ามาในแบงก์ มันคุ้มที่เขา (แบงก์พาณิชย์) จะเสี่ยงเงินของเขาหรือเปล่า นี่คือการประเมิน Credit Risk
นี่คือสิ่งแรกที่จะบอกว่า เขาเต็มใจที่จะปล่อยให้กับลูกค้าที่เข้ามาหรือเปล่า ซึ่งตรงนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานะของลูกค้าที่เดินเข้ามา และสถานะของธนาคารพาณิชย์เองด้วย เพราะถ้าเขาเข้มแข็ง เขาก็อาจจะกล้าเสี่ยง แต่ถ้าไม่ ก็อาจจะระวังหน่อย นี่คือเรื่องแรกที่บอกว่า เขาเต็มใจที่จะเสี่ยงกับลูกค้าหรือเปล่า
อันที่สอง คือ เรื่องเงินกองทุนฯ การที่แบงก์พาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อ หรือจะสามารถขยายตัว ‘งบดุล’ ได้มากเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับว่า เขามีเงินกองทุนฯขนาดเท่าไหร่ เพราะในที่สุดแล้วจะมีสัดส่วนที่ไปกำกับว่า แบงก์ต้องถือเงินกองทุนฯเท่านั้นเท่านี้ เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ที่มีทั้งหมด
ส่วนเรื่องตัวสภาพคล่องที่เขา (แบงก์พาณิชย์) ถือเอง แล้วนำมาลงทุนในสินทรัพย์ของ ธปท. คือ พันธบัตร ธปท. นั้น มันสะท้อนการบริหารสภาพคล่องปกติมากกว่า ซึ่งจะคล้ายๆกับการที่เรา (ธปท.) สะสม foreign reserves หรือเงินทุนต่างประเทศ แล้วเราก็ต้องดูดเงินออก ด้วยการเอาสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนไปแลกเงินสด เช่น ในเวลาที่เราเข้าแทรกแซง
จึงอยากจะเรียนว่า ในส่วนนั้น (การออกพันธบัตร ธปท.) มันไม่ค่อยเกี่ยวกับการตัดสินใจ และความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เลย
ชนุตพร บุญส่งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. : เวลา กนง. กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น จะกำหนดจากหลายๆมุม คือ จากภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งในเชิงปริมาณนั้น สิ่งที่ ธปท.ทำอยู่ จะเป็นการทำธุรกรรมที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนเรื่องปริมาณสภาพคล่องที่ ธปท.ดูด นั้น ปัจจัยที่ส่งผลกับตรงนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับในเชิงสินเชื่อเลย เพราะโดยหลักแล้ว การที่เราซื้อดอลลาร์ แล้วจ่ายเงินบาทเข้าไป เกิดจากความต้องการธนบัตร คนต้องการเงินมากขึ้น ซึ่งทำให้สภาพคล่องตัวนี้ลดลง
ถ้ากลับไปที่มุมของแบงก์พาณิชย์ สำหรับเขาแล้ว เงินที่เขาเอามาฝากกับเรา ต้องบอกว่าเป็นระยะสั้น เพราะประมาณกว่า 50% ที่เรียกว่ายอดดูดซัพสภาพคล่องนั้น จะอยู่ที่ไม่เกิน 1 เดือน แต่ถ้าเป็นพันธบัตร ธปท. อายุจะไม่เกิน 2 ปี ส่วนสินทรัพย์ที่เขา (ธนาคารพาณิชย์) นำมาลงทุนตรงนี้ อัตราดอกเบี้ย ก็ประมาณอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ 2-2.5%
แต่ธุรกิจของเขา คือ สินเชื่อ และสินเชื่อส่วนใหญ่อายุมากกว่า 1 ปี หากเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็มีอายุ 10-20 ปีเลย และมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5-6% ดังนั้น การลงทุน การทำธุรกิจของเขา จึงอยู่ที่สินเชื่อเป็นหลัก ส่วนสภาพคล่องตรงนี้ เขามีไว้ เพื่อทำให้เขาสามารถทำธุรกิจในด้านการโอนเงินของลูกค้า และการปล่อยสินเชื่อได้
แล้วตัวสินเชื่อที่บอกว่า ดูดซับไว้ที่ ธปท. นั้น ในความเป็นจริงแล้ว มีการกลับคืนไปที่แบงก์ทุกวัน และเป็นจำนวนมากด้วย เพื่อให้เขามั่นใจว่า เขามีสภาพคล่องที่เพียงพอ และถ้าเราไปดูเกณฑ์ในต่างประเทศ เช่น เรื่อง LCR (Liquidity Coverage Ratio) ถ้าแบงก์มีสภาพคล่องเยอะๆ ก็แปลว่า แบงก์จะมีสภาพคล่องเพียงพอในการดูแลธุรกรรมให้ลูกค้า
ทั้งนี้ แบงก์ไทย มี LCR เท่ากับ 195 เทียบกับเกณฑ์สากลที่อยู่ที่ 100 และหนึ่งในตัวที่เป็นสภาพคล่อง ก็คือสิ่งที่เขาเอามาฝากไว้กับแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นสภาพคล่องระยะสั้น จึงอยากจะบอกว่า การที่ ธปท.ดูดซับสภาพคล่องกับแบงก์พาณิชย์ ไม่ได้แปลว่า เราดึงสภาพคล่องกับแบงก์พาณิชย์ และไม่ได้แปลว่า เราดึงสภาพคล่องออกจากระบบ
แต่ในทางตรงข้าม เรา (ธปท.) และแบงก์ ร่วมกัน ในการทำให้แบงก์มีสภาพคล่องระยะสั้นที่เพียงพอในการดูแลปล่อยสินเชื่อให้กับทุกแบงก์
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. : ความเข้าใจเรื่องสภาพคล่องนั้น ถ้าถามคนว่า เมื่อพูดถึงสภาพคล่องแล้วคิดถึงอะไร ส่วนหนึ่งคนก็จะคิดว่าเป็นเรื่อง ‘สินเชื่อ’ จะมองว่าสภาพคล่องว่า คือ สินเชื่อ ซึ่งเราเคยโชว์ในกราฟอันหนึ่งที่บอกว่า สินเชื่อในระบบมีแนวโน้มค่อยๆโตขึ้นไป ซึ่งตัวนี้ จะขึ้นอยู่กับแบงก์ว่าอยากปล่อย หรือไม่อยากปล่อย โดยจะขึ้นอยู่กับทุนของเขา และความเสี่ยงต่างๆที่เขามอง
แต่อันที่เราดูดเข้าหรือดูดออกนั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับแนวโน้มของสินเชื่อในระบบเลย นั่นเพราะว่า ถ้าเราดูดไปแล้ว ทำให้สภาพคล่องในนิยามของคนทั่วไป คือ สินเชื่อ มันปรับ คือ ทุกทีที่เราดูด สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ก็ต้องลง แต่เราไม่เห็นตรงนี้เลย (อ่านข้อมูลประกอบ)
รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. ซึ่งจะโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพ สถาบันการเงิน ในวันที่ 1 ต.ค.2567 : ประเด็นมันน่าจะอยู่ว่า แล้วทำไมแบงก์ จึงไม่ปล่อยมากกว่า แล้วส่วนที่เหลือแบงก์ค่อยเข้ามาฝาก เพราะภายใต้ภาวะธุรกิจปกติ การปล่อยสินเชื่อ ดีกว่าเอามาฝาก ธปท. หรือเอาไปฝังตุ่มที่ไหน เยอะมาก
ยกเว้นตัวเดียวที่จะกินแบงก์ได้เยอะที่สุด ก็คือ credit cost (ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ) หรือ หนี้เสีย ซึ่งในระยะยาวเรารู้กันอยู่แล้ว โดยปัญหาในเรื่อง credit cost นั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่แบงก์แยกลูกค้าดีกับลูกค้าไม่ดี ออกมาได้ไม่ชัดเจนนัก นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเรา (ธปท.) จึงต้องการให้เขามีข้อมูลต่างๆ
โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจาก Open data เพื่อทำให้เขาแยกคนดี และคนที่จะมี credit cost ต่ำ ออกมา แต่ปัจจุบันตรงนี้ดูได้ยาก จึงต้องทำให้เขาส่องข้อมูลตรงนี้ได้ง่ายขึ้น แยกกลุ่ม แล้วจะได้ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
แต่อีกส่วนหนึ่ง ด้วยภาวะปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจที่มีทั้ง K ขาบน และ K ขาล่าง มีความไม่ชัดเจน และยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับประเทศไทย ทำให้จุดนี้ การส่องเข้าไปดูอะไรต่างๆยากขึ้น ซึ่งในภาวะปกติ ไม่ว่า ธปท.จะทำอะไร มันไม่ควรจะกระทบอยู่แล้ว แต่ตัวนี้ เราต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เราบริการจัดการตัว credit cost ลงมาให้ได้
อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. : ถ้าแบงก์ประเมินภาพเครดิตได้ และคิดว่าเหมาะสมที่จะปล่อยสินเชื่อ ในทางปฏิบัติเขาปล่อยได้เลย โดยแบงก์จะไปขยาย balance sheet (งบดุล) เพิ่มทั้งทางด้านสินเชื่อ โดยการขยายเงินฝาก แล้วปล่อยสินเชื่อ แล้วนำเงินนั้นไปใส่บัญชีลูกหนี้ balance sheet ก็จะโตทั้งสองข้าง
ดังนั้น ตอนนี้ ณ เวลานี้ เขา (แบงก์พาณิชย์) ไม่ข้อจำกัดอะไร ส่วนเรื่อง ratio ต่างๆ เขาไม่มีข้อจำกัดเช่นกัน เพียงแต่ข้อจำกัดของเขาในตอนนี้ อยู่ที่เรื่องการประเมินปัญหาทางด้านเครดิตของลูกหนี้มากกว่า
@แบงก์ปล่อยกู้ต้องคุ้ม‘ความเสี่ยง’-ย้ำ‘ธปท.’ไม่ใช่ต้นตอสินเชื่อหด
ผู้สื่อข่าว : การบริหารสภาพคล่องของแบงก์ชาติ มันต้องเกี่ยวข้องกับการปล่อยปริมาณเงินออกสู่ระบบ ไม่ว่า LCR จะเป็น 190 ก็ตามที และผู้ว่าฯ ธปท.ได้ไปพูดเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 โดยพูดว่า เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้การปล่อยสินเชื่อไม่เต็มที่ อันที่สอง แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยสูงนานเกินไป
และอันที่สาม บอกว่าแบงก์ชาติ ไม่ได้ไปออกมาตรการอะไร ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร และบนเวทีวันนี้ก็มีการอธิบายว่า เป็นเรื่องของแบงก์พาณิชย์ ที่สินเชื่อไม่ออกมาอย่างที่ควรจะเป็น เกิดความตึงตัวของสภาพคล่อง คนกู้ กู้ไม่ได้
แต่ประเด็น คือ ใน 4 ล้านล้านบาท (พันธบัตร ธปท. และตราสารหนี้อื่นๆ) ที่ ธปท.ดูแลอยู่ มีการเปิดช่องให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาฝากได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ปล่อยสินเชื่อในเวลาที่ไม่เหมาะสม แม้ว่าดอกเบี้ย 2.5% จะต่ำ แต่ดอกเบี้ยตรงนี้ก็สูงกว่าเงินฝาก ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 1% เขาก็มาอยู่ตรงนี้ได้ ?
รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท. : ที่บอกว่าแบงก์เขาได้ 2.5% แล้วจ่ายเงินฝากที่ 1.5% มันก็ดูเหมือนว่า เขาไม่ต้องทำอะไร ชิวๆ ก็อยู่ได้ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คงต้องเรียนว่า เขาก็มีต้นทุนอื่นด้วย และ 1% ตรงนี้ คงไม่ทำให้เขาเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ในสภาพความเป็นจริง
แล้วเราก็รู้ว่า คนที่อยู่ในโลกธุรกิจ ก็ต้องทำ ‘กำไรสูงสุด’ คงไม่ได้เอาแบบอยู่ธรรมดาๆ เพราะต้องตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น แล้วก็มีอย่างอื่นด้วย เขาจึงต้องพยายามจนถึงที่สุด ทีนี้ประเด็นก็กลับมาอยู่ที่ว่า เมื่อการปล่อยสินเชื่อเป็นอาชีพของเขา เราก็ต้องเชื่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เขาก็ต้องปล่อยสินเชื่อ มันไม่ make sense ที่เขาจะเอาแค่ระดมเงินฝาก แล้วมาฝากที่ ธปท. และ Spread (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย) ที่เขาได้จริงๆ ก็คงไม่ใช่ 1% อย่างที่เอามาลบกันตรงๆอย่างนั้น
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. : ผมว่าอันหนึ่งที่ทำให้เกิดความสับสน คือ การดำเนินการต่างๆที่เราทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบอนด์ หรือเรื่อง SWAP ต่างๆ มันก็คือ เพื่อจะทำให้นโยบายการเงินออกมาตามที่ กนง. เซ็ตเอาไว้ หรือพูดง่ายๆ คือ เมื่อดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5% เราก็ทำทุกอย่าง เพื่อให้ตรงกับ 2.5% เพราะถ้าไม่ทำ ดอกเบี้ยก็ off กับ 2.5%
อีกอันที่คนสนใจ หรือเป็นห่วงในแง่สภาพคล่อง นั่นก็คือ สินเชื่อ แต่ตรงนี้คนชอบไปนึกถึงว่า ‘สภาพคล่อง’ เป็น ‘น้ำ’ ซึ่งทำให้คนเป๋ เพราะเหมือนกับบอกว่า แบงก์ชาติดูดน้ำเข้า ดูดน้ำออก เพื่อรักษา 2.5% ตรงนี้ เมื่อน้ำออกไปปุ๊บ น้ำที่จะไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ก็คือสินเชื่อมันก็น่าจะหายไป หดไป อะไรต่างๆ
แต่สิ่งที่เราอยากจะเน้น คือ เรื่องสภาพคล่องที่คนสนใจว่า จะได้สินเชื่อหรือไม่นั้น มันไม่ได้มาจากการที่ ธปท. เอาน้ำใส่หรือไม่ใส่ แต่มันมาจากว่า แบงก์ A เขามองว่า ถ้าปล่อยสินเชื่อแล้ว จะได้กำไรคุ้ม จะได้ผลตอบแทนคุ้มเสี่ยงหรือเปล่า หลักๆเป็นอย่างนั้น ซึ่งอันนี้จะขึ้นอยู่กับ credit risk และขึ้นอยู่กับว่าทุนเขาจะพอไหม
ถ้าดูตอนนี้ ในฝั่งทุน ถามว่า balance sheet ของแบงก์พาณิชย์ต่างๆ เป็นตัวที่ทำให้เขาไม่ปล่อยหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ใช่ เพราะทุนของเขาพอ ก็เลยกลับมาถึงสิ่งที่เขามองว่า ถ้าสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ credit risk เป็นอย่างนี้ ถ้ามันไม่คุ้มกับการที่เขาจะปล่อย เขาก็เลยไม่ปล่อย จึงทำให้ credit growth ชะลอตัวลง
ส่วน credit growth ในแง่ปริมาณนั้น มันไม่ได้มาจากการที่แบงก์ชาติไปทำโน่นทำนี่ หรือทำอะไรเลย ผมเห็นมีนักวิเคราะห์บางคนชอบพูดว่า ตัวเลขปริมาณเงิน M2 (ปริมาณเงินในความหมายอย่างกว้าง) มันหด โน่นนี่อะไร มาจากแบงก์ชาติไปทำอะไรอย่างนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว ตัวนี้มันขึ้นอยู่กับแบงก์พาณิชย์ว่า จะเป็นอย่างไร
@ยืนยันไม่ผ่อนเกณฑ์หนุนปล่อย‘สินเชื่อ’-ต้องแก้ ‘credit risk’
ผู้สื่อข่าว : หมายความว่าเรื่องสินเชื่อที่ปล่อยไม่ออก แบงก์ชาติยืนยันว่าทั้งหมดที่ทำไม่เกี่ยวกับแบงก์ชาติ เป็นเรื่องของแบงก์พาณิชย์ทั้ง 100% จะพูดอย่างนั้นได้หรือไม่ จะได้ไปบอกเขาว่า ที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่ได้ทำอะไรเลย คุณไม่ปล่อยสินเชื่อกันเอง แบงก์ชาติไม่เกี่ยว หรือซัก 70 : 30 หรือ 80 : 20 ?
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. : อาจารย์ถามอย่างนี้ อาจารย์ก็รู้คำตอบแล้ว แล้วมันแฟร์กับผมหรือเปล่าล่ะ เกณฑ์ต่างๆมันต้องมี ใช่
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. : ก็อย่างที่รับรู้อยู่แล้ว มีเรื่องของกฎเกณฑ์ที่แบงก์ชาติต้องดูแลทั้งในเรื่องของ credit cost กับการตั้งสำรองฯ และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินต้องมาดูแลตรงนี้ เพราะมันเป็น cost ของเขา ดังนั้น กฎเกณฑ์ต่างๆที่เราเอามา ก็มีส่วนหนึ่ง
ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. : ในการปล่อยสินเชื่อนั้น ถ้าเราปล่อยกันเอง ก็ต้องมีเงินหรือมีเงินสดไปให้คนอื่น แต่ที่เราพยายามจะชี้ คือ ในแง่ของแบงก์พาณิชย์นั้น เขาไม่ต้องมีอะไรเลย เขาก็ไปให้สินเชื่อได้ เพราะเขามีหน้าที่สร้างเงิน คือ ปกติ เราชอบนิยามแบงก์ว่าเป็น deposit taking institution หรือสถาบันที่รับเงินฝาก
แต่ที่จริงๆแล้ว ที่ผมมองนั้น ความพิเศษของแบงก์ คือ การเป็น deposit creation institution คือ เป็นสถาบันที่สร้างเงินฝาก ซึ่งนี่คือหัวใจของธนาคารพาณิชย์ เมื่อมีคนเข้ามา แล้วมันคุ้มที่เขาจะเสี่ยง เขาก็จะทำให้เงินฝากเพิ่มขึ้น 100 บาท แล้วสินเชื่อก็จะเพิ่มขึ้น 100 บาท และงบดุลก็ขยายขึ้น
ดังนั้น เมื่อดูในเชิงปริมาณแล้ว ไม่ได้มีอะไรที่ไปจำกัดเขา (แบงก์พาณิชย์) เลย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า งบดุลของธนาคารพาณิชย์ก็ขยายขึ้นไปเรื่อยๆ ตราบใดที่มีทุนเพียงพอ ส่วนเรื่องเงินที่ถูกมองในเชิงว่าเป็น ‘น้ำ’ ที่ต้องมีก่อนจึงจะนำไปปล่อย นี่จึงเป็นตัวที่อยากให้แยก
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. : คนจะคิดว่า แบงก์ต้องเอาเงินฝากมาจากประชาชน แล้วเอาเงินนี้ไปปล่อยต่อ อันนี้ทำให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้ผิด
(เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ)
ผู้สื่อข่าว : ธปท.เริ่มเห็นสภาพนี้แล้ว คือ แบงก์ปล่อยสินเชื่อน้อยลง เนื่องจากมี credit risk เพิ่มขึ้น แล้ว ธปท.ควรทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ?
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. : ต้องแยกระหว่างปัจจัยเชิงวัฏจักร กับปัจจัยที่เป็นเรื่องโครงสร้าง โดยเราเห็นในทั่วโลกว่า มันมีตัวที่เรียกว่า financial credit cycle คือ ปล่อยมาเยอะช่วงหนึ่ง เป็นขาเร่ง แล้วมันก็จะมีช่วงหนึ่งที่มันชะลอตัวลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น และแบงก์เองก็ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น ระมัดระวังในการปล่อย
โดยสิ่งที่เรากังวล คงไม่ใช่เรื่อง credit growth ชะลอ แต่เป็นการประเมินความเสี่ยงของเขา (แบงก์พาณิชย์) เพราะถ้าเขาประเมินความเสี่ยงที่สูงกว่าที่มันเป็นจริง เหมือนกับเป็นการเหยียบเบรกแรงเกินไป อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมโยงระหว่างสภาพเศรษฐกิจกับการปล่อยสินเชื่อ ที่มีวงจรแรงกว่าที่คิด
ยกตัวอย่าง เช่น เรื่องรถยนต์ การปล่อยสินเชื่อสำหรับรถยนต์ชะลอลงเยอะ แต่มันก็มีที่มาของมัน คือ ราคารถยนต์มือสองลดลงเยอะ พอลดเยอะ ความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อก็สูงขึ้นทันที พอยิ่งไม่ปล่อย ราคาก็ยิ่งลง ก็เป็นไปตามลูปที่ว่า ซึ่งลูปตรงนี้ ตอนนี้มันก็แรงกว่าที่คิด เพราะมันมีเรื่องอื่นเข้ามาด้วย เช่น เรื่องรถยนต์ EV
ดังนั้น สิ่งที่เรากังวลและอยากจะแก้ คือ แก้ในเรื่องโครงสร้างด้วย เพราะถ้าอยากจะแก้เรื่อง credit risk ในบ้านเรา ซึ่งรวมถึงเรื่อง NIM (Net Interest Margin) ที่เป็นประเด็นกันสารพัดนั้น ถ้าจะแก้อย่างเป็นรูปธรรม เรื่องแรกเลย ข้อมูลในการประเมินจะต้องแม่นยำขึ้น เพราะตอนนี้มันมันเบลอหมด เราไม่รู้ว่า ใครเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง
อีกอันหนึ่ง กลไกที่เราพูด คือ เรื่องสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA) ต่างๆ เพราะความเสี่ยงของ SMEs ในตอนนี้ ต้องยอมรับว่า สูงจริงๆ ซึ่งถ้าข้อมูลต่างๆชัดขึ้นแล้ว และบีบ credit cost ลงแล้ว แต่ความเสี่ยงยังสูงอยู่ สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้คนอื่นมารับความเสี่ยงตรงนั้น ก็เป็นมาของ NaCGA คือ รัฐเข้ามาไปช่วยค้ำประกัน ลดเสี่ยง แล้วสินเชื่อจะได้ออกไปได้
ส่วนอีกอันหนึ่งที่ทำได้ แต่ตอนนี้ เราพักๆไว้ก่อน คือ ในเมื่องความเสี่ยงเป็นอย่างนี้ แล้วเราอยากให้สินเชื่อมันออก แต่เมื่อ credit risk เป็นอย่างนี้ แล้วเราบีบลงแล้วด้วยข้อมูล ลงเหลือเท่านี้แล้ว แล้วมีค้ำประกันสินเชื่อให้อีก แต่ความเสี่ยงก็ยังสูงอยู่ อีกอันที่ช่วยให้สินเชื่อออกได้ คือ คิดดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งก็กลับมาเรื่อง Risk-based pricing แต่อันนี้มีข้อดี ข้อเสีย จึงยังชั่งอยู่
ผู้สื่อข่าว : ต้องลดเกณเพื่อสร้างแรงจูงใจเพิ่มหรือไม่ เพราะตอนนี้แบงก์ก็กันสำรองฯไว้สูงมาก ?
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. : ในช่วงที่ผ่านมาการตั้งสำรองฯสูงขึ้นเยอะ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติปี 2563 แต่ตอนนี้แนวโน้มก็ลดลงจากสถานการณ์ในที่ผ่านมา แต่ถามว่า ยังสูงอยู่หรือไม่ ก็ตอบว่า ยังสูงอยู่ แต่ถามว่า ถ้าเราจะหย่อนเกณฑ์หรือไม่ ก็มีคำถามว่า แล้วเราจะหย่อนเกณฑ์ไปเพื่ออะไร
เพราะถ้าบอกว่า หนี้เสียออกมา แล้วแบงก์ไม่ต้องสำรอง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แบงก์จะมีปัญหา แล้วก็วนกลับมาว่า จะต้องมีการเข้าไปอุ้ม (แบงก์) อีกหรือเปล่า ต้องไปช่วยค้ำผู้ประกันผู้ฝากเงินอีกหรือเปล่า ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน
แล้วในเรื่องเกณฑ์ต่างๆนั้น ต้องถือว่าเราเป็นประเทศที่หย่อนเกณฑ์ยาวนานที่สุดในช่วงโควิด เราเพิ่งปิดเรื่องการหย่อนเกณฑ์ในการจัดชั้นสำรองฯไปเมื่อสิ้นปี 2566 นี่เอง ไม่มีประเทศไหน ลากยาวมาถึงสิ้นปี 2566 เลย
แต่ถ้าหย่อนเกณฑ์ลงไปแล้ว คนได้คนแรก ก็คือ แบงก์ เพราะเขาจะสำรองฯน้อยลง ถ้าเขาสำรองน้อยลง รายได้ของเขาก็จะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าแบงก์ปล่อยหนี้ออกไป แล้วเสีย แม้ว่าจะไม่ตั้งสำรองฯ ถามว่าแบงก์อยากปล่อยหรือเปล่า เขาก็คงไม่อยากปล่อยอยู่ดี เพราะปล่อยไป 100 บาท แล้วเก็บหนี้ไม่ได้ เงินก็หายไปทั้ง 100 บาท
โดยในเรื่องหย่อนเกณฑ์นั้น เราเองก็ดูตามวัฏจักร เพราะปกติในเวลาที่วัฏจักรเศรษฐกิจแย่ๆ ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ก็ทำหน้าที่ตอบสนองกับระบบอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเราได้หย่อนลงไปเยอะแล้ว
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’เผย‘กนง.’กังวลสภาวะการเงิน‘ตึงตัว’ ย้ำ 3 เงื่อนไขปรับดบ.-ปัดตอบลดค่าฟี FIDF