“ผมเคยพูดกับผู้ใหญ่บางท่านว่า ผมไปทำงานอย่างอื่น ผมได้ผลตอบแทนดีกว่าทำที่นี่เยอะ เพราะที่นี่ทำงานหนักมาก ปัญหามันมีทุกมิติ เหมือนเล่นกายกรรมต้องระวังทุกอย่าง บาลานซ์ไม่ให้มีอะไรตกหล่น ผมมีเป้าหมายในชีวิตของผมที่จะมานั่งที่นี่ ผมไม่อยากเสียเวลาชีวิตมาหายใจทิ้งที่นี่” นายนิรุฒกล่าว
ปี 2567 เป็นปีที่กระทรวงคมนาคมจะเกิดการปรับกระบวนทัพใหม่ครั้งใหญ่อีกครั้ง
เพราะปีนี้ จะเป็นปีที่ผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 4 หน่วยงานถึงคราวเปลี่ยนแปลง
เริ่มต้นกับ ‘การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)’ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ‘ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ’ ลูกหม้อขององค์กรที่รั้งตำแหน่งผู้ว่าการมาตั้งแต่ปี 2561 และได้รับการต่ออายุ 1 ครั้งเมื่อปี 2565 ถึงคราวลุกจากตำแหน่งแล้ว เนื่องจากอายุครบ 60 ปี ตามสัญญาจ้าง ซึ่งตอนนี้ รฟม.ได้ให้ ‘วิทยา พันธุ์มงคล’ รองผู้ว่าการ รฟม.(ปฏิบัติการ) ที่มีอาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ รักษาการผู้ว่าการ รฟม.ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2535 ไปจนกว่าจะมีผู้ว่าคนใหม่
ถัดมาในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. 2567 2 หน่วยงานด้านถนนที่กุมเม็ดเงินงบประมาณมหาศาลและโปรเจ็กต์ระดับเรือธง ‘กรมทางหลวง (ทล.)’ และ ‘การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)’ ก็ได้ฤกษ์เปลี่ยนผู้บริหารใหม่เช่นกัน ‘สราวุธ ทรงศิวิไล’ อธิบดีทล.คนปัจจุบันอายุครบ 60 ปีในปีนี้ จึงต้องมีการแต่งตั้งอธิบดีคนใหม่ ส่วน กทพ. ‘สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข’ ผู้ว่าการคนปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในเดือน ส.ค. 2567 นี้
ยังไม่นับ ‘อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)’ ที่มี ‘จิรุตม์ วิศาลจิตร’ นั่งค้ำบัลลังก์อยู่ หลังที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ต่ออายุให้เป็นอธิบดีต่ออีก 1 ปี หลังนั่งครบ 4 ปีแล้ว โดยนายจิรุตม์จะมีวาระเกษียณอายุราชการในปี 2568 ดังนั้น จึงน่าจับตามองว่าในปีนี้ จะยังได้นั่งเก้าอี้อธิบดี ขบ.ต่อไปหรือไม่?
4 ผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม ที่ครบวาระในปี 2567
(จากซ้ายถึงขวา) สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เกษียณอายุราชการ ก.ย. 67, ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม.ครบวาระดำรงตำแหน่งเมื่อ 20 มี.ค. 67, สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่ากทพ.ครบวาระดำรงตำแหน่งเดือน ส.ค. 67 และจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดรกรมการขนส่งทางบก ได้รับต่ออายุในตำแหน่งออธิบดีมาแล้ว 1 ครั้ง หลังดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีเมื่อปี 66 ที่ผ่านมา
และอีก 1 หน่วยงานที่ถึงเวลาผลัดเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงคือ องค์กรม้าเหล็ก ‘รฟท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย’ ที่มี ‘นิรุฒ มณีพันธ์’ นั่งเป็นผู้ว่าการ โดยจะครบวาระตามสัญญาจ้างในวันที่ 23 เม.ย. 2567 นี้
แม้จะเป็นหน่วยงานที่มีแต่ปัญหา มีหนี้สินพะรุงพะรังเหยียบแสนล้านบาท แต่ตัวโครงการลงทุนที่รออนุมัติก็ระดับพันล้าน หมื่นล้านบาทแทบทุกโครงการ ทำให้การผลัดเปลี่ยนผู้บริหารแต่ละครั้ง กลายเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสติดตามนายนิรุฒไปปฏิบัติภารกิจที่ จ.ลำปาง จึงได้โอกาสสนทนาถึงเวลาที่เหลืออีกเพียง 10 กว่าวัน สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ สิ่งที่ทำแล้ว สิ่งที่ภูมิใจ งานยาก มรสุมโควิด และอื่นๆ รวมถึงโอกาสที่จะกลับมานั่งเก้าอี้กุมบังเหียนองค์กรม้าเหล็กแห่งนี้
...ยังเป็นไปได้หรือไม่?
@ไม่ให้การเมืองแทรกการบริหาร
ผู้ว่ารถไฟคนปัจจุบันเริ่มต้นว่า ในการมานั่งบริหาร รฟท. จะให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งคนก่อน โดยจะใช้ระบบคุณธรรมเข้ามาช่วยจัดการ พอพูดแบบนี้ มีแต่คนไม่เชื่อว่า รฟท.สามารถเอาระบบคุณธรรมมาใช้ได้จริงๆเหรอ? แต่ในยุคนี้ขอบอกตรงๆว่า ทำได้ แม้ว่าในช่วงแรกๆของการทำงานจะอยู่ภายใต้การบริหารของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยก็ตาม แต่ได้ยืนยันกับทางรัฐมนตรีศักดิ์สยามไปว่า รฟท.ในยุคนี้จะทำงานแบบนี้ จะมีระบบแต่งตั้งคนกันแบบนี้ พูดตรงๆคือ จะพยายามไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงความเป็นมืออาชีพของ รฟท.
“เวลามีการสรรหาคน จะตรวจเช็กกัน 360 องศาเลย เช็กรายบุคคลด้วย เช่น คนนี้จากระดับ 5 ขึ้งระดับ 6 ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งสูงเลย แต่เราเช็ก แล้วพอเราใส่ระบบนี้เข้าไปมันก็ถูกฝังลงไป และพิสูจน์ว่าทำได้ มันต้องกล้าทำ เพราะเรารู้ว่าแรงบีบมันเยอะ และมีกลอุบายกันเยอะ รวมถึงรถไฟเป็นองค์กรที่มีไซโล หมายถึง แต่ละแผนก แต่ละด้านมีรั้วของแต่ละแผนก พอละลายตรงนี้ลงเอามาคุยกันในห้องทำงานของผม เรื่องที่ค้างๆมา 2 ปี คุยกัน 5 นาที ก็เซ็นออกได้เลย” นายนิรุฒระบุ
@มีใบสั่งการเมือง แต่ไม่ให้ยุ่งมาก
ต่อมา ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งใกล้ครบวาระมีใบสั่งการเมืองในบางประเด็นบ้างหรือไม่ ผู้ว่ารฟท.ตอบว่า มีบ้าง แต่ก็พูดคุยกับคนที่มาบอกว่า การเมืองต้องหลีกทางสัก 70% ให้มันสร้างระบบคุณธรรมในองค์กรให้ได้ ส่วนอีก 30% ถือว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกัน และไม่ได้อยู่ในกระบวนการสำคัญๆขององค์กร ซึ่งเคยพูดออกไปด้วยซ้ำว่า “ถ้าไม่สนใจสิ่งที่ได้บอกกล่าวกันมา ก็พร้อมที่จะลาออกให้”
“ผมเคยพูดกับผู้ใหญ่บางท่านว่า ผมไปทำงานอย่างอื่น ผมได้ผลตอบแทนดีกว่าทำที่นี่เยอะ เพราะที่นี่ทำงานหนักมาก ปัญหามันมีทุกมิติ เหมือนเล่นกายกรรมต้องระวังทุกอย่าง บาลานซ์ไม่ให้มีอะไรตกหล่น ผมมีเป้าหมายในชีวิตของผมที่จะมานั่งที่นี่ ผมไม่อยากเสียเวลาชีวิตมาหายใจทิ้งที่นี่” นายนิรุฒกล่าว
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้ว่าคนนอก ต่อสู้กับแรงเสียดทานในองค์การรฟท.อย่างไรบ้าง นายนิรุฒกล่าวว่า มีแรงเสียดทานน้อยมาก พอเข้ามาก็ถูกพนักงานลองของว่า เมื่อเข้ามาแล้วจะทำงานอย่างไร ก็แค่แสดงตัวตนออกไปว่า เราทำงานอย่างไร และในกลุ่มคนที่ไม่แฮปปี้กับการมาของตนมี 2 แบบ แบบที่ 1 คือ ยังไม่สนิทคุ้นเคย และ 2. ประโยชน์บางอย่างที่เคยได้ จะหายไป ซึ่งกับคนประเภทที่ 2 ก็ต้องบริหารจัดการกันไป เพราะพนักงานที่นี่รู้แล้วว่า ผู้ว่าคนนอก (ชี้มาที่ตัวเอง) เป็นนักกฎหมายมาก่อน คนก็กลัวกัน
บทสนทนาไหลสู่การสอบถามถึงบริการใหม่ๆที่เกิดขึ้นในยุคนี้ นายนิรุฒระบุว่า ขอพูดถึงข้อบกพร่องก่อน สิ่งที่ยังทำไม่ได้คือ การเพิ่มจำนวนรถ อันนี้คือข้อบกพร่องที่สุดที่ทำไม่ได้ เพราะ 1.คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 2. รฟท.ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยเหนือเลย สิ่งที่ทำได้คือ การบริหารสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุดทั้งสถานีหัวลำโพงและกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยปีทีผ่านมา สถานีหัวลำโพง ได้กลายเป็นสถานที่จัดงานอีเว้นท์ต่างๆทั้งคอนเสิร์ต แฟชั่นโชว์ และงานแสดงต่างๆ ซึ่งทำรายได้เข้าองค์กรมากมาย โดยอนาคตหัวลำโพงอาจจะปรับปรุงเป็นสถานที่จัดอีเว้นท์และคอนเสิร์ตไปเลยก็ได้ และยังจัดแสดงหัวรถจักรต่างๆในพื้นที่หัวลำโพงด้วย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนเข้ามาใช้งาน ถ่ายภาพได้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้คนได้มาท่องเที่ยวได้ อีกทั้งเป็นการลดภาระของหัวลำโพง
เมื่อถามต่อว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีอะไรที่ยังทำไม่เสร็จ และอยากทำต่อ นายนิรุฒกล่าวว่า เยอะแยะ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงก็อยากทำให้เสร็จ แต่สิ่งที่ภูมิใจคือ รถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ ถ้าไม่ใช้สกิลของความเป็นนักกฎหมาย เชื่อว่าถ้าเป็นยุคอื่นคงไม่ได้เกิด เพราะช่วงที่ประมูลมีข้อครหาเรื่องราคาเสนอใกล้เคียงกันมาก ก็ถามกลับไปยังผู้ที่ออกมาโจมตี ณ ตอนนั้นว่า แล้วมีอะไรผิด? ส่วนตัวไม่ทราบว่ามีการฮั้วหรือไม่ แต่ราคากลางมันมีอยู่ แล้วกล้าประกาศกับสังคมหรือไม่ว่า ถ้ามันเกินกว่านี้จะรับผิดชอบ ซึ่งเรามองแล้วว่า ตามกฎหมายไม่มีปัญหาอะไรผิด จึงตัดสินใจให้ลงนามเลย ไม่งั้นโครงการไม่เกิด ถ้าบริหารบนความกลัว หลายเรื่องจะไม่เกิด
@ความในใจถึง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน-VO สายสีแดง- ICD ลาดกระบัง’
หลังจากพูดถึงโครงการที่ภูมิใจไปแล้ว ก็มาถึงโครงการที่เจ้าตัวห่วงบ้างนั่นคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งนายนิรุฒยืนยันว่า ไม่อยากให้ล้มเลิก เพราะมันไม่ใช่เรื่องของผู้โดยสารอย่างเดียว เพราะถ้าโครงการนี้ล้มลงไป นโยบายเขตระเบียงเศรษฐพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะล้มลงไปด้วย ที่ว่าจะสานต่ออีสเทิร์นซีบอร์ด หรืออะไรก็จะไม่เกิด ส่วนจะต้องคิดใหม่ ทำใหม่หรือไม่ คิดว่ามันแก้ไขได้ วันนี้ ต้องทำอย่างไรก็ได้ที่รัฐต้องได้เท่าหรือมากกว่าเดิม และให้เอกชนหายใจได้แข็งแรงขึ้น และมาเสริมสิ่งที่รัฐต้องการตามที่ตกลงกันไว้ จะซื้อเวลาไปบ้างก็ยอมกันได้
งานถัดมาที่ยังแก้ไม่ตกคือ ปัญหาคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (Variation Order : VO) รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ - รังสิตและบางซื่อ – ตลิ่งชัน ซึ่งยังมีปัญหาการคำนวณค่างาน VO ต่างๆให้ชัดเจนแน่นอนอยู่ และปัญหาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ได้เรียกเอาเงินที่เอกชนค้างไว้คืนมาได้ 6,000 ล้านบาท แต่ทั้งสองโครงการยังมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่คงไม่ทันในสมัยตนแล้ว
@ทำใจ ถ้าไม่ได้เป็นต่อ
หลังจากที่ได้คำตอบถึงงานที่ยังอยากทำต่อ ผู้สื่อข่าวจึงยิงคำถามว่า แล้วในช่วงใกล้วาระนี้ เห็นสัญญาณของการจะได้ต่อวาระผู้ว่ารฟท.หรือไม่ นายนิรุฒระบุว่า ไม่ได้ปฏิเสธหากจะมีการพิจารณาต่อวาระ แต่ตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆจากรัฐมนตรีทั้งสามท่าน (สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, มนพร เจริญศรี และสุรพงษ์ ปิยะโชติ ในฐานะ 2 รมช.คมนาคม) โดยเฉพาะนายสุรพงษ์ จากที่ได้ทำงานกันตลอดเวลาที่ผ่านมาถือว่าเข้าขากับท่านได้ดี
เมื่อถามว่า แต่ในเชิงข่าวตอนนี้เหมือนว่าทางรัฐมนตรีทั้งสามก็มีตัวจริงในใจแล้ว อาจจะทำให้นายนิรุฒไม่ได้เป็นผู้ว่าต่ออีกสมัยหรือไม่ ผู้ว่ารฟท.คนปัจจุบันตอบว่า เมื่อกติกากำหนดให้อยู่ 4 ปี ในฐานะคนที่ยังอยู่ก็ไม่ควรวิ่ง เพื่อให้อยู่ข้ามวาระที่กติกากำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เสียความเป็นมืออาชีพจากวาระที่ผ่านมา
“ตอนผมเข้ามาเคยได้ยินเขาเม้าท์กันว่าเป็น วุฒิชาติ 2 (วุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่ารฟท.) ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เพราะผมก็มาแบบคนนอกเหมือนท่านวุฒิชาติ ทุกเรื่องต้องพิสูจน์ ซึ่งก็ผ่านมาแล้ว ส่วนหลังจากนี้จะได้เป็นผู้ว่าต่อหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรี”
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.หนองคาย เมื่อเดือน ก.ย. 2566
ที่มาภาพ: Facebook เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin
บทสนทนาจบลงเพียงเท่านี้ สำหรับผู้ว่ารถไฟที่ชื่อ ‘นิรุฒ มณีพันธ์’...
หลังจากนี้ คงต้องลุ้นกันว่า ใครจะเข้ามาคุมองค์กรม้าเหล็กแห่งนี้ เพราะกระแสข่าวตอนนี้ออกมาในทางที่ ‘ไม่เอาคนเก่า’
ส่วนจะเป็นใครมา คงต้องรอคณะกรรมการสรรหาผู้ว่ารฟท. ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นประธาน คัดสรรกันต่อไป
เพราะภารกิจของ รฟท. ยังมีอีกมากมายที่ต้องสะสาง โดยเฉพาะการฟื้นฟูกิจการที่ยังค้างเติ่งมาตั้งแต่สมัย คสช. ไม่รู้ว่าผู้ว่าคนใหม่ที่เข้ามา จะสะสางภารกิจนี้ได้หรือไม่
ต้องติดตาม
อ่านประกอบ
ตั้งกก.สรรหาผู้ว่าฯรถไฟใหม่ พร้อมขยายเวลาสัญญา 3-2 ไทยจีนอีก 431 วัน