"...แล้วปีหนึ่งเราได้แค่นี้ ผมถามว่าบริษัทผมจะอยู่ได้หรือเปล่า รายได้เท่านี้ งบประมาณเท่านี้ อยู่ได้ไหม แล้วผมจะเป็นมาเฟียได้ยังไง ผมเกือบปิดบริษัทหลายครั้ง มีปีที่โชคดีอย่างบังเอิญที่ได้งานในปี 63 ที่มีการแยกย่อย จึงดูเหมือนว่าเยอะ แต่งบประมาณก็ไม่ได้คุ้มค่าสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ บริษัทผมก็มีหลายโครงการที่ประกวดแล้วไม่ชนะ ซึ่งแต่ละโครงการที่ไม่ได้นั้นก็มีมูลค่าสูงหลายสิบล้านบาท..."
ประเด็นข้อร้องเรียนการจัดประกวดราคาซื้อครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เครื่องมือตรวจอากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กำลังติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอยู่ในขณะนี้
หนึ่งในข้อร้องเรียนสำคัญ ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งข้อมูลมาก่อนหน้านี้ คือ การจัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเอกชน 1 ราย ปรากฎชื่อเป็นผู้ชนะได้รับงานว่าจ้างไปจำนวนหลายสัญญา
เบื้องต้น จากการสืบค้นข้อมูลสำนักข่าวอิศรา พบว่า ในช่วงปี 2559 , 2563 และ 2565 บริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด รายเดียว ได้รับงานไปจำนวน 10 สัญญา รวมวงเงินกว่า 240 ล้านบาท และเมื่อสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเชิงลึกการประกวดราคางานทั้ง 10 โครงการ ดังกล่าว พบว่า ในการประกวดราคางาน 9 โครงการ ที่บริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด ได้รับงานไป มีเอกชนรายเดียว คือ บริษัท เอ็กเซล คอนซัลแตนท์ส จำกัด ปรากฏชื่อเป็นผู้เทียบยื่นซองเสนอราคาแข่งขันงานทุกโครงการ
อย่างไรก็ดี การจัดซื้อจ้างงานสัญญาเหล่านี้ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฎข้อมูลถูกหน่วยงานตรวจสอบสอบพบปัญหาความไม่โปร่งใสแต่อย่างใด
- ร้องสอบ! กรมอุตุฯผูกซื้อเครื่องตรวจอากาศ AWS บ.เจ้าเดียวเพียบ-สัญญาล่าสุด 217ล.เสี่ยงกีดกัน
- คนเก่าทำไว้! 'ประเสริฐ' รมว.ดิจิทัล แจงปมเครื่องตรวจอากาศ 217 ล.ไม่เข้าคกก.จัดหาระบบคอมฯ
- เจาะลึก!จัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศ AWS 10 โครงการ 240 ล. ผู้ชนะแข่งคู่เทียบรายเดียว 9 ส.
- เปิดตัว บ.คู่เทียบ แข่งงานจัดซื้อเครื่องมือตรวจอากาศ AWS 9 โครงการ ไม่เคยชนะ
- ย้อนผลสอบ สตง.ชำแหละปัญหาเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯ พันล.ก่อนอิศราลุยตรวจปมผูกขาดจัดซื้อ?
ล่าสุด ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายยุทธพงศ์ พลอารีย์ กรรมการบริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และการเข้าประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) กับกรมอุตุนิยมวิทยา เป็นทางการ
รายละเอียดคำให้สัมภาษณ์ปรากฏนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
อิศรา : ที่มาที่ไปของ บริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด เป็นอย่างไร?
นายยุทธพงศ์ : "บริษัทไนทฯ เดิมทีผมและสมาชิกของบริษัทบางส่วนเป็นบุคคลากรที่เติบโตมาจากบริษัทยูคอม ซึ่งเป็นบริษัที่ริเริ่มเกี่ยวกับระบบตรวจวัดมาแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่ง ณ ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบดังกล่าว ต่อมาบริษัทยูคอมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริษัท ยุบส่วนงานที่ผมอยู่ ผมและสมาชิกจึงออกจากบริษัทแล้วมาทำต่อด้วยตัวเอง โดยมีทีมงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและผู้ที่มีความรู้ในด้านดังกล่าว จนกลายเป็นบริษัทแนวหน้าของประเทศไทย มีผลงานในการวางระบบให้กับสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การบริหารจัดการเขื่อนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การเตือนภัยของกรมชลประทาน เป็นต้น และมาทำงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา"
"โดยการทำงานกับกรมอุตุนิยมวิทยานั้นเป็นการทำงานในเรื่องเทคโนโลยีเฉพาะด้าน จึงไม่ได้กว้างขวางมากนัก เป็นงานวิชาการด้านเครื่องมือวัด อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีใครใช้งานนอกจากกรมอุตุฯและกรมชลประทาน จึงทำให้ผู้บริหารบางคนหรือสื่อมวลชนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้แต่งานประเภทนี้ ก็เพราะว่าเราทำงานด้านนี้ นอกจากนี้เราก็ยังพยายามทำงานกับหน่วยงานอื่นด้วยเช่นกัน เช่น งานของตำรวจทหาร การสืบสวนทางเทคโนโลยี แต่ก็เป็นโครงการที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก"
"ด้วยความที่มีบุคลากรที่มีชื่อเสียงในด้านนี้จึงได้งานใหญ่ของกรมอุตุฯ ซึ่งกว่าจะได้งานนั้นเราก็เริ่มทำงานในด้าน maintenance (การบำรุงรักษา) ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ อีกทั้งเรามีความเชี่ยวชาญจึงเข้าไปปรับปรุงระบบให้ทันสมัย กรมอุตุฯจึงของบประมาณเพื่อทำให้โครงการเกิดขึ้นทั่วประเทศ"
"ประชาชนบางคนเขาก็พูดว่าทำไมกรมอุตุฯ ไม่แม่นเลย ความเป็นจริงสถานีเหล่านี้ในประเทศไทย ตามมาตรฐานแล้วควรมีสถานีประเภทนี้ประมาณ 7,000 แห่ง ตามหลักวิชาการแต่ปัจจุบันน่าจะมีอยู่ 200-300 แห่ง"
" ต่อมาเขา (กรมอุตุนิยมวิทยา) ก็เอาโครงการใหญ่มูลค่า 200 กว่าล้านเข้า มีบริษัทมหาชนรายใหญ่เข้าประมูลหลายบริษัท ซึ่งผมก็เข้าร่วมด้วยเช่นกัน แต่ด้วยที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญ และบริษัทก็ไม่ได้ใหญ่มากและเรื่องการบริหารจัดการบวกกับซัพพลายเออร์ต่างประเทศก็อยากหาโอกาสนำสินค้าของประเทศเขาเข้ามาในวางในประเทศไทย มีการร่วมมือหลายฝ่าย ทำให้เราชนะงานนั้นมา"
"พอเราชนะงานก็เกิดปัญหาเพราะบริษัทที่แพ้ก็มีการปล่อยข่าวลวง ข่าวเท็จโจมตีบ้าง แต่เราก็ตอบได้ทุกอย่าง อีกทั้งบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้หายาก เพราะศาสตร์ด้านเครื่องมือวัดของอุตุนิยมวิทยาไม่เหมือนวิศวกรรมด้านอื่น ๆ แต่ที่บริษัทของเรามีบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้"
" นอกจากนี้โครงการที่เราทำ ก็จะใช้ระบบที่มีซอฟต์แวร์เฉพาะ ยกตัวอย่างรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าเวลาที่เสียก็ต้องใช้อะไหล่ของโตโยต้าซ่อม ไม่สามารถเอาอะไหล่ยี่ห้อมาใช้ได้ หรือถ้านำมาใช้ก็ใช้ได้ไม่ดี เวลาที่เราได้งานซ่อมบำรุงต่าง ๆ เราจึงต้องเปลี่ยนซอฟต์แวร์ทั้งหมดให้เป็นของเรา ไม่อย่างนั้นจะไปเชื่อมต่อกับของเดิมของเขาไม่ได้ ถามว่าเขากล้าลงทุนหรือไม่ ผมก็ต้องฝ่าฝันตรงนี้มา อาศัยว่ามีซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ และก็ทำอย่างต่อเนื่อง จึงได้งาน อย่างกรณีที่มาร้องเรียนว่าเทคโนโลยีล้าหลังนั้นก็เป็นการเข้าใจผิดเพราะคนที่มาร้องเรียนไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้งและจากข่าวที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอเกี่ยวกับงานที่บริษัทผมได้มานั้น จะเห็นว่างานที่ได้นั้นเป็นคนละปี"
"แล้วปีหนึ่งเราได้แค่นี้ ผมถามว่าบริษัทผมจะอยู่ได้หรือเปล่า รายได้เท่านี้ งบประมาณเท่านี้ อยู่ได้ไหม แล้วผมจะเป็นมาเฟียได้ยังไง ผมเกือบปิดบริษัทหลายครั้ง มีปีที่โชคดีอย่างบังเอิญที่ได้งานในปี 63 ที่มีการแยกย่อย จึงดูเหมือนว่าเยอะ แต่งบประมาณก็ไม่ได้คุ้มค่าสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ บริษัทผมก็มีหลายโครงการที่ประกวดแล้วไม่ชนะ ซึ่งแต่ละโครงการที่ไม่ได้นั้นก็มีมูลค่าสูงหลายสิบล้านบาท"
"นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่กล่าวถึงสินค้าของผมที่ราคาสินค้าแพง ซึ่งคนที่กล่าวหาไปดูราคาในอินเตอร์เน็ต แต่ความจริงแล้วสินค้านั้นอยู่ในต่างประเทศ ยังไม่ได้คำนวณว่าเมื่อนำเข้ามาในประเทศไทยจะต้องมีการเสียภาษี ค่าขนส่ง ค่าติดตั้ง ค่าประกัน จำนวนเท่าใด อีกทั้งเมื่อนำเครื่องมาแล้วก็นำมาตั้งอย่างเดียวไม่ได้ ยังต้องติดตั้งเสา ต้องปรับปรุงสำนักงาน ต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ"
อิศรา : เครื่องตรวจอากาศอัตโนมัติ AWS ไม่สามารถนำมาแค่ตัวเครื่องมาติดตั้งแต่ต้องติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ด้วยใช่หรือไม่ ?
นายยุทธพงศ์ : ใช่
อิศรา : เมื่อติดตั้งเครื่อง AWS แล้วยังไงก็ต้องติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ด้วยถูกต้องหรือไม่ ?
นายยุทธพงศ์ : "ถูกต้อง ไม่งั้นทำงานไม่ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จะคิดว่าทำงานได้ โดยการทำงานของเครื่องตรวจวัดอากาศของบริษัทผมเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกและWMO (องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก) ใช้ ซึ่งรับส่งข้อมูลอากาศทุก 1 วินาที และเป็นมาตรฐานเดียวกับที่กรมอุตุฯใช้เพื่อให้มีระดับความแม่นยำสูง แต่กรณีที่มีการร้องเรียนนั้นเป็นการนำเครื่องตรวจวัดอากาศที่ใช้ในระดับการทำเกษตร ที่ไม่ได้มีความแม่นยำอย่างที่กรมอุตุฯใช้ เข้ามาประกวดราคาจึงกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถปิดงานได้ อีกทั้งการแบ่งระดับการตรวจอากาศ 3 ประเภท 1.ชั้นบน 2.ชั้นผิวพื้น 3.ชั้นล่าง เช่น การตรวจแผ่นดินไหว ตรวจอุทกภัย เป็นต้น โดยผมจะอยู่ในระดับผิวพื้นจนถึงระดับล่าง เนื่องจากเกิดมาจากส่วนนั้น แต่ก็ขยับขึ้นไประดับชั้นบนไม่ได้เนื่องจากเราก็สู้บริษัทอื่นไม่ได้ จึงไปพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เพราะถ้าของเราดีจริง เผื่อวันหนึ่งเขาก็อยากได้ แต่งานที่ได้นั้นก็เพราะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่เปิดบริษัทมาก็มีชื่อทำงานกับหลายที่ เพียงแต่ผมไม่ใช่บริษัทใหญ่"
"นอกจากนี้เราก็ไม่เคยโดนใครฟ้องร้อง แต่มีกรณีที่ถูกกลั่นแกล้งโดยคนร้องเขาไปร้องถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้วสุดท้ายสตง.ออกตรวจ เชิญกรรมการบริษัทไปด้วย ใช้เวลาตรวจ 4-5 วัน ด้วยการสุ่มตรวจโครงการในแต่ละจังหวัด โดยแจ้งล่วงหน้าเพียงไม่นานว่าอีกหนึ่งชั่วโมงให้ไปเจอกันที่ไหน และห้ามไม่ให้เรายุ่งให้เราไปยืนกำกับ หลังจากตรวจไปประมาณ 4-5 วัน สตง.มาถามผมว่า มันไม่มีอะไรผิดปกติ เพียงแต่มีความยุ่งยากว่าทำไมถึงแยกสถานีกับจุดควบคุมออกจากกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยคัดค้านกรมอุตุฯไปแล้ว แต่มีคนประสงค์อยากให้แยกออก พอผมส่งข้อมูลไปก็ไม่ปรากฏอะไร เพราะส่วนที่ปรากฏอยู่อีกสัญญาหนึ่งซึ่งเป็นของบริษัทอื่น"
อิศรา : ก็คือสัญญาแยกกันใช่หรือไม่ สถานีเป็นบริษัทหนึ่ง ส่วนเสาก็เป็นอีกบริษัท ?
นายยุทธพงศ์ : "ใช่ ฉะนั้นสตง.จึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จึงเก็บของกลับ เพราะมีคนเสียผลประโยชน์จากการที่ผมได้งาน"
อิศรา : สรุปแล้วบริษัทได้งานติดตั้งเครื่องตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ (AWS) ตั้งแต่ปีไหน ?
นายยุทธพงศ์ : คือกรมอุตุฯมีระบบ AWS มาแล้ว 20 กว่าปี แต่หลังจากเขาติดตั้งมาแล้ว 10 กว่าปี ประมาณปี 2559 เป็นปีแรกที่ได้งาน จากประสบการณ์ทำงานของผมก็พบว่าเครื่อง AWS คือสถานีรับส่งข้อมูลอัตโนมัติดี ๆ นี่เอง เหมือนกับโครงการที่ทำตั้งแต่เปิดบริษัทมาแต่เซ็นเซอร์เยอะกว่า ระบบการทำงานเหมือนกันทุกอย่าง แต่มีเซ็นเซอร์เยอะกว่าจึงแสดงผลมากกว่า
อิศรา : นอกจากงานติดตั้งเครื่อง AWS ที่ทำกับกรมอุตุแล้วมีโครงการอื่นอีกหรือไม่ ?
นายยุทธพงศ์ : "มี แต่เราไม่ได้งาน ทั้งที่ไปร้องเรียนและพรีเซ็นหลายงาน แต่ไม่ได้งาน ผมก็เก็บหลักฐานพยายามร้องเรียนแต่เรื่องก็เงียบ"
อิศรา : เวลาประมูลโครงการติดตั้งเครื่อง AWS จะต้องติดตั้งเสาสัญญาณ สถานี และทำระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดเลยใช่หรือไม่?
นายยุทธพงศ์ : ใช่ แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันระหว่างมืออาชีพและมือสมัครเล่น เพราะเสาของเรามีมาตรฐานตามที่ WMO กำหนด และตามวิศวกรรมสถาน พอติดตั้งเสาเสร็จก็ต้องไปติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ในอาคารสำนักงานเพื่อรับข้อมูลจากเสาและส่งข้อมูลไปที่ส่วนกลาง
อิศรา : ตอนที่ทำงานติดตั้งเครื่อง AWS เคยเจอปัญหาอะไรบ้าง ?
นายยุทธพงศ์ : เจอเรื่องเครื่องพัง เครื่องเสียเป็นปกติ เพราะประเทศไทยอยู่ในเมืองร้อน ซึ่งร้อนขึ้นทุกปี บางทีก็มีปัญหาระบบไฟฟ้ากับถูกฟ้าผ่า ซึ่งเรื่องระบบไฟฟ้าก็ถูกรถไปชนเสาจนไฟฟ้าลัดวงจรแล้วเสาระเบิด
อิศรา : ในการแก้ปัญหากรมอุตุฯก็เรียกบริษัทไปดำเนินการ ?
นายยุทธพงศ์ : "บางโครงการก็มีการตั้งงบประมาณบำรุงรักษา ที่ผมโดนร้องนั่นแหละ โดนทุกปี ก็เพราะซอฟต์แวร์เป็นของเรา เราเป็นคนวางไว้ ใครจะกล้าเข้ามา แต่ที่จะเข้าก็เข้าได้เพราะเวลาผมเข้าไปทำของที่อื่นผมก็รีเพลสออกซึ่งมันต้องลงทุน แต่บริษัทที่ร้องเพราะเขาไม่อยากลงทุนส่วนนี้ บอกให้เราให้เอาซอฟต์แวร์ของเราไปให้เขาได้ไหม ยกตัวอย่างไฟจราจรที่ถ้าจะไปติดตั้งก็ไปติดตั้งได้แต่ต้องเชื่อมโยงกับของเดิม มีวิธีหลายวิธีที่จะเชื่อมโยง แต่เขาไม่ลงทุน แต่เราลงทุน เราเขียนโปรแกรมใหม่"
อิศรา : สรุปว่าที่ได้งานของกรมอุตุฯ เพราะบริษัท ไนท แอคเซ็ส จำกัด มีประสบการณ์มายาวนานและสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่ ?
นายยุทธพงศ์ : ใช่ ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เป็นของบริษัท A จะให้บริษัท B จะมาทำได้หรือไม่ เขาก็กลัวเพราะไม่รู้ว่าของเดิมทำไว้อย่างไร ต้องเป็นแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะยุบทำใหม่ รื้อใหม่ แต่ก็จะมีมูลค่าที่สูงขึ้นตามปี ก็เป็นแบบนี้ทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่เฉพาะกรมอุตุฯ แต่ถ้าเกิดผมอยากจะเข้าผมก็ต้องไปลงทุนรีเพลสระบบควบคุมให้เป็นของเรา เพราะไม่อย่างนั้นก็ไปเชื่อมของเขาไม่ได้ ใครกล้าลงทุนก็ได้ไป เขาก็เติบโตกันมาแบบนี้ เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมและธรรมดามาก
อิศรา : ประกวดราคาเครื่อง AWS กับกรมอุตุฯ มีกี่สัญญา?
นายยุทธพงศ์ : ตามที่อิศรานำเสนอเลย
อิศรา : ตลอดเวลาที่ดำเนินโครงการ AWS เคยถูกตรวจสอบจากหน่วยงานตรวจสอบหรือไม่ ?
นายยุทธพงศ์ : ไม่มี แต่รู้ว่ามีคนร้อง แต่ไม่รู้ว่าใครทำ โดยเขาจะร้องไปที่กรมอุตุฯ แต่เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของเกมอำนาจ เราไม่เคยโดนเรื่องพวกนี้เพราะในการดำเนินงานพัสดุของกรมจะมีฝ่ายกฎหมายที่ควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพราะถ้าทำไม่ดีไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย นี่คือหลักที่บริษัทเล็กยึดถือ
"ส่วนเรื่องงานครั้งล่าสุดที่ได้ไปเมื่อปี 2565 อยู่ในช่วงรับประกันเป็นเวลา 2 ปี เมื่อหมดระยะประกันแล้วก็ต้องไปดูที่นโยบายของกรมอุตุฯว่าจะซ่อมเองหรือจ้าง maintenance ถ้าจ้าง maintenance ก็เป็นโอกาสที่ได้เปรียบคนอื่นเขาหน่อยเพราะเราเป็นคนทำมา ส่วนคนที่ไม่รู้ก็จะโวยวายว่าถ้ากรมจะให้ทำกรมจะต้องเอาซอฟต์แวร์มาให้เขา แต่ใครจะมาทำเพราะซอฟต์แวร์เป็นลิขสิทธิ์ของเรา หลักการเดียวกับที่เราไม่สามารถดัดแปลง window หรือ ios คือข่าวพวกนี้จงใจทำลายชื่อเสียงของผม "