"...การปล่อยให้ผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2560 ซึ่ง สตง.มีหนังสือแจ้งมายังประธาน ธพว. แต่ผู้บริหารดังกล่าวยังคงดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาอีกหลายปี เป็นการละเลยหรือไม่?..."
สังคมตั้งคำถามกรณี นายมงคล ลีลาธรรม อดีตกรรมการผู้จัดการ ธพว. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ลงโทษจำคุก 3 ปี และปรับ 12,000 บาท โดยลดโทษเหลือ จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา
จากกรณีอนุมัติเดินทางโดยทางเครื่องบิน และอนุมัติค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเดินทาง ได้แก่ ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าแท็กซี่ ค่าโรงแรมที่พัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ให้กับกรรมการ ที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้บริหารธนาคาร เพื่อเดินทางไปร่วมงานศพแม่ประธานกรรมการ ธพว.ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 23 - 26 มกราคม 2560 และอนุมัติค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพงานศพดังกล่าวโดยใช้งบประมาณของ ธพว.
- บทสรุปคดีจัดงานศพแม่ปธ.ธพว. คุก 1 ปี 4 ด. 'มงคล ลีลาธรรม' แต่รอลงอาญา
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคดีจัดงานศพแม่ปธ.ธพว.รอลงอาญาคุก 1 ปี 4 ด. 'มงคล ลีลาธรรม'
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2560 หลังจากนายมงคล เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.ได้เพียง 1 ปี โดย สตง.ได้ตรวจพบ และมีหนังสือถึงประธานกรรมการ ธพว. ที่ ตผ 0023/4299 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2560 ให้ธนาคารเรียกเงินคืนจากผู้ที่เบิกเงินไปโดยไม่มีสิทธิรวมเป็นเงิน 184,377 บาท นําส่งคืนธนาคารและให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
หลังจาก สตง.ตรวจสอบพบการกระทำของนายมงคลและแจ้งไปยังบอร์ด ธพว.แล้ว นายมงคลก็ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.ต่อไปอีกเกือบ 3 ปี จนครบวาระในปี 2562
ต่อมาในปี 2565 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดทางอาญานายมงคล และชี้มูลความผิดทางวินัย นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการในขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.) และนายก้านธรรม ไตรบวรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้จัดการ
โดย ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องนายมงคล และส่งเรื่องไปยัง ธพว.เพื่อลงโทษทางวินัยกับผู้บริหารอีก 2 คน สำนักงานอัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องนายมงคลต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ช่วงต้นปี 2566 จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาออกมาเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา
มีข้อสังเกตว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 และ สตง.ได้ตรวจพบและมีหนังสือแจ้งประธานกรรมการ ธพว.ในปีเดียวกันว่า การเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับงานศพแม่ประธานกรรมการ ธพว.เป็นการเบิกค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามคำสั่งของธนาคาร โดยเป็นการนำเอาค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานให้กับธนาคาร มาเบิกจากงบประมาณของธนาคาร และสั่งให้ส่งคืนเงินทั้งหมดแก่ธนาคาร อันถือว่านายมงคลและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกระทำขัดต่อระเบียบคำสั่งของธนาคารที่เป็นความผิดสำเร็จไปแล้ว แม้จะนำเงินมาคืนแต่ก็เป็นการคืนเพราะ สตง.สั่งให้คืน ไม่ใช่มีเจตนาจะนำมาคืนเอง เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างเป็นกรรมการผู้จัดการของนายมงคล และทั้งนายมงคลและนางสาวนารถนารี เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย
แต่นายมงคล ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.อยู่ต่อไปอีกเกือบ 3 ปี จนครบวาระในปี 2562 ส่วนนางสาวนารถนารี นอกจากยังคงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการต่อไปอีกระยะหนึ่งแล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นอีก คือ ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ และต่อมาได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ธพว.ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.
หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ธพว.ได้แก่ คณะกรรมการ ธพว. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องรับรู้เรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ สตง.แจ้งผลการตรวจสอบไปยังประธานกรรมการ ธพว.ซึ่งประธานกรรมการ ธพว.จะต้องนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการ ธพว.เพื่อมีมติการประชุมแจ้งให้ฝ่ายบริหาร ธพว.ไปดำเนินการตามคำสั่งของ สตง.ส่วน ธปท.ซึ่งต้องเข้าตรวจสอบ ธพว.เป็นประจำทุกปี โดยเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งที่ผู้ตรวจสอบ ธปท.จะต้องเรียกดูคือ หนังสือสั่งการหรือความเห็นของ สตง.ต่อการดำเนินกิจการในเรื่องต่าง ๆ ของ ธพว.ซึ่ง ธปท.ก็จะพบเรื่องนี้ และเมื่อ ธปท.ตรวจสอบแล้วเสร็จจะส่งรายงานผลการตรวจสอบไปยังกระทรวงการคลังและคณะกรรมการ ธพว. จึงทำให้ทุกหน่วยงานที่กำกับดูแล ธพว.รู้เรื่องนี้หลังจากที่ สตง.มีหนังสือถึงประธานกรรมการ ธพว.ได้ไม่นาน
สังคมจึงตั้งคำถามไปยังหน่วยงานทั้งสามว่าได้ดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างหลังจากเกิดเหตุการณ์ ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแล ธพว. ซึ่งจะต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และประกาศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกส.4/2559 เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการโดยตำแหน่ง ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ (ผู้บริหาร 3 ลำดับแรก) และที่ปรึกษา ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ในข้อ 4.2.2 ดังนี้
ข้อ 4.2.2 (1.6) “ มี หรือ เคยมี พฤติกรรมที่แสดงถึงการทำงานอันส่อไปในทางไม่สุจริต หรือฉ้อฉล หรือมีส่วนร่วม หรือสนับสนุน ให้เกิดการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการเลือกปฏิบัติ การแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง หรือ เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งของผลประโยชน์ (conflict of interest) ”
ข้อ 4.2.2 (1.7) “ มี หรือ เคยมี พฤติกรรมที่แสดงถึงการละเลยการตรวจสอบดูแล หรือการปฏิบัติงานที่พึงกระทำตามสมควรเยี่ยงกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงิน.....ซึ่งทำให้สถาบันการเงิน.....ฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ คู่มือการปฏิบัติงานภายใน ตลอดจนมติของคณะกรรมการ.....”
และสัญญาจ้างเป็นกรรมการผู้จัดการ ระหว่าง ธพว.(ผู้ว่าจ้าง) กับนายมงคล (ผู้รับจ้าง) ข้อ 5.3 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกจ้างผู้รับจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ในกรณีที่ผู้รับจ้างกระทำการดังต่อไปนี้.....5.3.4 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย.....ในกรณีร้ายแรงผู้ว่าจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน”
ทั้งนี้ ประกาศของ ธปท.ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้บริหาร 3 อันดับแรกของสถาบันการเงินเฉพาะกิจไว้อย่างเข้มงวด โดยแม้การกระทำนั้นไม่ถึงกับเป็นการทุจริต เพียงแต่ส่อไปในทางไม่สุจริต หรือแม้ไม่ใช่เป็นตัวการ เพียงแต่เป็นผู้มีส่วนร่วมหรือผู้สนับสนุน อีกทั้งแม้เพียงละเลยการตรวจสอบทำให้เกิดการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคู่มือการปฏิบัติงาน ก็ถือว่าผู้บริหารคนนั้นมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วถึงจะสรุปว่ามีลักษณะต้องห้าม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้ามบางคนก็พ้นหน้าที่ไปแล้ว บางคนก็ยังคงดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลานานหลายปีนับจากวันที่มีลักษณะต้องห้ามจนถึงปัจจุบัน
@ มงคล ลีลาธรรม
@ นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ธพว.
การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายมงคล จึงทำให้เห็นได้ว่านายมงคล เป็นผู้กระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา ส่วนนางสาวนารถนารี เป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำ ตามการชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงทำให้ทั้งสองคนมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ได้มีการกระทำคือ เดือนมกราคม 2560
การปล่อยให้ผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้าม ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2560 ซึ่ง สตง.มีหนังสือแจ้งมายังประธาน ธพว. แต่ผู้บริหารดังกล่าวยังคงดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาอีกหลายปี
เป็นการละเลยหรือไม่?
หน่วยงานที่กำกับดูแล ธพว.จึงน่าจะมีคำอธิบายในเรื่องนี้