"...ที่น่าสังเกตคือ หนังสือของ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ที่ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลา หลังจากเหตุการณ์ที่ นายโกวิท ผกามาศ ชี้แจงว่า "สำหรับ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดส่งหนังสือดังกล่าวไปทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังได้แจ้งให้ทราบด้วยวาจาในกิจกรรมการประชุมกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมและมอบกรมธรรม์ให้แก่ศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข่าว กรณีตัวแทนศิลปินแห่งชาติ ร้องเรียนปัญหาไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน 25,000 บาท มาแล้ว 2 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบขอปรับวงเงินประมาณรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติมอีกจำนวน 39,220,200 บาท โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ปรับประมาณการรายจ่ายฯ เพิ่มเติม ตามวงเงินดังกล่าวแล้วนั้น
ขณะที่ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราอ้างว่า ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วและได้มีการทำหนังสือลงวันที่ 21 พ.ย. 2566 ชี้แจงไปยังศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมทุกคน เพื่อแจ้งว่า ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินตอบแทนรายเดือนและค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของความล่าช้า
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ศิลปปินแห่งชาติบางราย ที่ร้องเรียนกับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยืนยันว่าไม่เคยได้รับแจ้งจากกระทรวงวัฒนธรรมถึงสาเหตุของการไม่จ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แก่ศิลปินแห่งชาติ ที่สำคัญตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา ไม่มีการสนับสนุนดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ศิลปีนแห่งชาติหลายๆท่านเดือดร้อน เพราะไม่มีรายได้อื่นๆ ทำให้ทั้งครอบครัวมีชีวิตที่ลำบากขัดสน
- ไม่เคยรับแจ้งใดๆ! โชว์หนังสือร้องเรียน‘ศิลปินแห่งชาติ’ ปมเงินเดือน ยันขัดสน-เดือดร้อนหนัก
- ไม่ได้รับเงิน 25,000 บาท มา 2 เดือนแล้ว ! 'ศิลปินแห่งชาติ' ร้อง รมว.วัฒนธรรม
- สวธ.แจงปมศิลปินแห่งชาติยังไม่ได้เงินเดือน อ้างกรมบัญชีกลางอนุมัติงบฯต่ำกว่าที่ขอ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2567 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ส่งหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติม ระบุว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ขอเรียนยืนยันให้ทราบว่า ได้มีการทำหนังสือด่วนที่สุด ที่วธ 0504.3/ว 6181 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง แจ้งการเบิกจ่ายเงินตอบแทนรายเดือนและค่ารักษาพยาบาลล่าช้า เรียนชี้แจงไปยังศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมทุกคน เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของความล่าช้าโดยเร่งด่วนแล้ว เป็นไปตามที่ได้แจ้งทางสำนักข่าวอิศรา และได้เผยแพร่ไปแล้วดังหัวข้อข่าว : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชี้แจงกับอิศราแล้ว ! ปม ศิลปินแห่งชาติไม่ได้รับค่าตอบแทน 2 เดือน...
เมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม 2567 เวลา 18:20 น. ( www.isranews.org/article/isranews/125535-isranews-1000-1000-279.html ) ซึ่ง สวธ.ได้แจ้งให้ทราบถึงลำดับการดำเนินการประชุมคณะกรรมการฯ 5 ครั้ง และการทำหนังสือหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง 9 ฉบับ (ตามเอกสารแนบ) และทางกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สวธ. ได้ประสานและสอบถามข้อมูลการร้องเรียนกับศิลปินแห่งชาติทั้ง 2 ราย
โดยรายแรก นายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ซึ่งได้รับคำตอบ ว่า ตนทำหนังสือไปจริงแต่มีเจตนาเพียงเป็นตัวแทนศิลปินแห่งชาติที่ได้มาร่วมงานกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นประจำ จึงทำหนังสือซักถามไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเป็นการเร่งรัดเท่านั้น
สำหรับกรณีข่าวที่ยืนยันว่าศิลปินแห่งชาติไม่เคยได้รับแจ้งถึงสาเหตุของความล่าช้าในการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แก่ศิลปินแห่งชาติ นั้น ไม่เป็นความจริง ด้วยตนได้รับหนังสือลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ชี้แจงศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมทุกคนให้ทราบถึงสาเหตุที่ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินตอบแทนรายเดือนและค่ารักษาพยาบาล รวมทั้ง เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้แจ้งด้วยวาจาให้ตนทราบในงานประชุมกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมและงานมอบกรมธรรม์ให้แก่ศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อีกด้วย
สำหรับ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดส่งหนังสือดังกล่าวไปทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังได้แจ้งให้ทราบด้วยวาจาในกิจกรรมการประชุมกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมและมอบกรมธรรม์ให้แก่ศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ กองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สวธ. ยังได้สอบถามไปยังศิลปินแห่งชาติหลายท่าน อาทิ นายวินัย พันธุรักษ์ ประยงค์ ชื่นเย็น นางสุดา ชื่นบาน รอง เค้ามูลคดี รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ฯลฯ ศิลปินแห่งชาติหลายท่านล้วนแต่ได้รับหนังสือแจ้งถึงปัญหาความล้าช้าดังกล่าว ทั้งยังได้รับทราบข้อมูลโดยตรงจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของสวธ.โดยตรง และเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังรู้สึกแปลกใจถึงการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและอาจส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของศิลปินแห่งชาติ อีกต่างหาก
จึงเรียนสำนักข่าวอิศรา เพื่อโปรดดำเนินการเผยแพร่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณะ จักขอบคุณยิ่ง
**********
อนึ่งเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวความเดือนร้อนของ ศิลปินแห่งชาติ จากการไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน 25,000 บาท มาแล้ว 2 เดือน ที่ปรากฏข้อมูลว่า ไม่เคยได้แจ้งเหตุผลใดๆ จากกระทรวงวัฒนธรรมนั้น
สำนักข่าวอิศรา นำมาจากข้อมูลในหนังสือร้องเรียน ของ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ที่แจ้งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ระบุขอความเมตตารัฐมนตรีฯ ด้วยเงินส่งเสริมการทำงานให้ศิลปินแห่งชาติที่ จัดสรรเงินให้เป็นรายเดือน ปรากฎว่า ตั้งแต่เดือนพศจิกายน 2566 เป็นต้นมา ไม่มีสนับสนุน ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ศิลปีนแห่งชาติหลายๆท่านเดือดร้อน เพราะไม่มีรายได้อื่นๆ จึงทำให้ทั้งครอบครัวมีชีวิต ที่ลำบากขัดสน และกระทรวงไม่ได้แจ้งใดๆ กับศิลปินแห่งชาติ จึงทำให้เกิดการเดือดร้อน
ที่น่าสังเกตคือ หนังสือของ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ที่ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลา หลังจากเหตุการณ์ที่ นายโกวิท ผกามาศ ชี้แจงว่า "สำหรับ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดส่งหนังสือดังกล่าวไปทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมยังได้แจ้งให้ทราบด้วยวาจาในกิจกรรมการประชุมกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมและมอบกรมธรรม์ให้แก่ศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566" (ดูหนังสือร้องเรียนประกอบ)
ขณะที่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจากแผนดำเนินงานการของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมชี้แจง พบข้อสังเกตว่า ในวันที่ 29 ก.ย. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมย่อมทราบดีแล้วว่า มีเงินจ่ายเป็นเงินเดือนศิลปินแห่งชาติได้เพียงเดือนเดียว เนื่องจากกรมบัญชีกลางแจ้งอนุมัติประมาณการรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปี 2567 จำนวน 11,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 ต.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขอเงินเพิ่มอีก 39,220,200 บาท ทิ้งระยะเวลาห่างถึง 1 เดือน จึงขอเงินเพิ่ม
ในวันที่ 13 พ.ย. 2566 กรมบัญชีกลางแจ้งให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมไปขอมติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อขอขอมติอนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม ต่อมาวันที่ 1 ธ.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือเสนอไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งทิ้งระยะห่างเกือบ 2 อาทิตย์
ในวันที่ 1 ธ.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือเสนอไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบปรับวงเงินประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหนังสือเรียนรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อขอนัดประชุม ซึ่งทิ้งระยะห่างถึง 26 วัน
ถ้าหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ปัญหาความล่าช้าเกิดขึ้นตรงไหน? ใครควรที่จะรับผิดชอบ? และรับผิดชอบอย่างไร? เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบคือทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของชาติ (อ่านรายละเอียดในรายงานท้ายเรื่อง)