"...หากสังเกตในวันที่ 29 ก.ย. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมย่อมทราบดีแล้วว่ามีเงินจ่ายเป็นเงินเดือนศิลปินแห่งชาติได้เพียงเดือนเดียว เนื่องจากกรมบัญชีกลางแจ้งอนุมัติประมาณการรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปี 2567 จำนวน 11,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 ต.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขอเงินเพิ่มอีก 39,220,200 บาท ทิ้งระยะเวลาห่างถึง 1 เดือน จึงขอเงินเพิ่ม..."
เป็นประเด็นร้อนในแวดวงกลุ่มศิลปินแห่งชาติ!
กรณีตัวแทนศิลปินแห่งชาติ ร้องเรียนสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน 25,000 บาท มาแล้ว 2 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบขอปรับวงเงินประมาณรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติมอีกจำนวน 39,220,200 บาท โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ปรับประมาณการรายจ่ายฯ เพิ่มเติม ตามวงเงินดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราอ้างว่า ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วและได้มีการทำหนังสือลงวันที่ 21 พ.ย. 2566 ชี้แจงไปยังศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรมทุกคน เพื่อแจ้งว่า ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินตอบแทนรายเดือนและค่ารักษาพยาบาลเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของความล่าช้า
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ศิลปปินแห่งชาติบางราย ที่ร้องเรียนกับนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยืนยันว่าไม่เคยได้รับแจ้งจากกระทรวงวัฒนธรรมถึงสาเหตุของการไม่จ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แก่ศิลปินแห่งชาติ ที่สำคัญตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา ไม่มีการสนับสนุนดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ศิลปีนแห่งชาติหลายๆท่านเดือดร้อน เพราะไม่มีรายได้อื่นๆ ทำให้ทั้งครอบครัวมีชีวิตที่ลำบากขัดสน
- ไม่เคยรับแจ้งใดๆ! โชว์หนังสือร้องเรียน‘ศิลปินแห่งชาติ’ ปมเงินเดือน ยันขัดสน-เดือดร้อนหนัก
- ไม่ได้รับเงิน 25,000 บาท มา 2 เดือนแล้ว ! 'ศิลปินแห่งชาติ' ร้อง รมว.วัฒนธรรม
- สวธ.แจงปมศิลปินแห่งชาติยังไม่ได้เงินเดือน อ้างกรมบัญชีกลางอนุมัติงบฯต่ำกว่าที่ขอ
เพื่อให้สาธารณชน ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว ปัญหาเรื่องนี้เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่?
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลแผนการดำเนินงานของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับกลุ่มศิลปินแห่งชาติ ตามคำชี้แจงของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
16 ส.ค. 2566 : คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมเห็นชอบและอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ ประจำปี 2567 จำนวน 171,324,000 บาท เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ
23 ส.ค. 2566 : คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เห็นชอบอนุมัติกอรบวงเงินจำนวน 171,324,000 บาท
21 ส.ค. 2566 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือจัดส่งคำของบประมาณรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 171,324,000 บาท ต่อกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาอนุมัติ
31 ส.ค. 2566 : สำนักงบประมาณ มีหนังสือแจ้งหลีกเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน
28 ก.ย. 2566 : สำนักงบประมาณ มีหนังสือเห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2566 ไปพลางก่อน สำหรับกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม วงเงินงบประมาณ 50,720,200 บาท (2 ใน 3 ของงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ 2566)
29 ก.ย. 2566 : กรมบัญชีกลาง มีหนังสือแจ้งกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อนุมัติประมาณการรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปี 2567 จำนวน 11,500,000 บาท และแจ้งว่าสำหรับรายการปรับลดหากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้รับการจัดสรรงบประมาณหรือเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน จากสำนักงบประมาณ พร้อมให้จัดทำประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปี 2567 เพิ่มเติม เสนอต่อคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมพิจารณาอนุมัติและส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติต่อไป
19 ต.ค. 2566 : คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เห็นชอบและอนุมัติประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม ภายในวงเงิน 39,220,200 บาท
31 ต.ค. 2566 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขออนุมัติประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม จำนวน 39,220,200 บาท
13 พ.ย. 2566 : กรมบัญชีกลาง มีหนังสือขอให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินการขอมติอนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) โดยกำหนดส่งให้กรมบัญชีกลางเพื่อประกอบการพิจารณาโดยด่วน
21 พ.ย. 2566 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือรายงานการเบิกจ่ายเงินกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำเดือนตุลาคม 2566 ต่อกรมบัญชีกลาง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงกรณีการเบิกจ่ายเงินตอบแทนรายเดือนและค่ารักษาพยาบาลล่าช้า ต่อศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม
23 พ.ย. 2566 : คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม รับทราบหนังสือฉบับข้างต้น และมีมติยืนยัน เห็นชอบและอนุมัติประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปี 2567 เพิ่มเติม วงเงิน 39,220,200 บาท เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้ความเห็นชอบและอนุมัติต่อไป
1 ธ.ค. 2566 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือเสนอไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบปรับวงเงินประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติมอีก จำนวน 39,220,200 บาท จากที่กรมบัญชีกลางอนุมัติ จำนวน 11,400,000 บาท เพื่อให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2566 ไปพลางก่อน ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ 50,720,200 บาท
26 ธ.ค. 2566 : แหล่งข่าวสำนักข่าวอิศรา แจ้งว่า ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหนังสือเรียนประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อขอนัดประชุม โดยไม่ได้เสนอผ่าน รมว.วัฒนธรรม ในฐานะ รองประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
12 ม.ค. 2566 : แหล่งข่าวสำนักข่าวอิศรา แจ้งว่า รมว.วัฒนธรรม ได้รับการร้องเรียนจากศิลปินแห่งชาติหลายท่านและโดยหนังสือจากนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง และนายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ว่าไม่ได้รับเงินเดือนมา 2 เดือน และไม่ได้รับแจ้งปัญหาอุปสรรคใด ๆ จาก สวธ. เมื่อ รมว.ทราบปัญหา จึงได้เชิญปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มาสอบถาม ปลัดฯ โทรหาอธิบดี สวธ. อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังไม่ทราบเลยว่า กรมบัญชีกลางให้ผ่านมติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก่อน หลังจากนั้น คณะทำงาน รมว.วัฒนธรรม ได้ติดตามหาหนังสือกรมบัญชีกลาง มายืนยันกับปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้มีการติดตามเรื่องขอนัดประชุมรคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
15 ม.ค. 2567 : ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567
จากแผนดำเนินงานการของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมชี้แจง มีข้อสังเกตดังนี้
@ ระยะเวลาดำเนินการล่าช้า
1.หากสังเกตในวันที่ 29 ก.ย. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมย่อมทราบดีแล้วว่า มีเงินจ่ายเป็นเงินเดือนศิลปินแห่งชาติได้เพียงเดือนเดียว เนื่องจากกรมบัญชีกลางแจ้งอนุมัติประมาณการรายจ่ายกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปี 2567 จำนวน 11,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 ต.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขอเงินเพิ่มอีก 39,220,200 บาท ทิ้งระยะเวลาห่างถึง 1 เดือน จึงขอเงินเพิ่ม
2.ในวันที่ 13 พ.ย. 2566 กรมบัญชีกลางแจ้งให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมไปขอมติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อขอขอมติอนุมัติประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม ต่อมาวันที่ 1 ธ.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือเสนอไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งทิ้งระยะห่างเกือบ 2 อาทิตย์
3.ในวันที่ 1 ธ.ค. 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหนังสือเสนอไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้เรียกประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบปรับวงเงินประมาณการรายจ่ายของกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหนังสือเรียนรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อขอนัดประชุม ซึ่งทิ้งระยะห่างถึง 26 วัน
จากช่วงเวลาหรือไทม์ไลน์ในการดำเนินการต่างๆ ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ปัญหาความล่าช้าเกิดขึ้นตรงไหน ใครควรที่จะรับผิดชอบ และรับผิดชอบอย่างไรเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบคือทรัพยากรอันมีค่าของชาติ
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป